สภา กทม.ตั้งคณะกรรมการวิสามัญแก้ไขข้อบัญญัติการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย หลังระเบียบเก่าตั้งแต่ปี 2536 ให้จ่ายเงินแก่ผู้ประสบภัย 3,000 บาทต่อเดือน และจ่ายไม่เกิน 1 ปี ซึ่งทาง ส.ก.เห็นควรปรับให้เท่ากับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ เสนอให้ กทม.สนับสนุนงบประมาณให้แก่เด็กนักเรียนที่มีร่างกายพิการ เพื่อให้เสมอภาคและเท่าเทียมกับเด็กนักเรียนปรกติ
ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 (ครั้งที่ 4) ประจำปี 2551 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย (ฉบับที่..) พ.ศ. ... โดยกล่าวว่า เนื่องจากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2536 ได้มีการใช้มาเป็นระยะเวลานานแล้วไม่เหมาะสมแก่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย และมีความแตกต่างในด้านการสงเคราะห์ระหว่างกทม.กับหน่วยงานอื่น ตลอดจนไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันจึงสมควรปรับปรุงแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัยให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ด้านนายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา ส.ก.เขตบางรัก กล่าวว่า ควรปรับปรุงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ อย่างค่าครองชีพ จากเดิม 3,000 บาทต่อเดือนจ่ายไม่เกิน 1 ปี ก็ควรมีการปรับให้เท่ากับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ส่วนการเบิกจ่ายต้องมีความรวดเร็ว เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยเบื้องต้น และควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ในญัตติดังกล่าว บรรดา ส.ก.ได้มีการเสนอความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง จนในที่สุดได้ข้อสรุปให้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย (ฉบับที่...) พ.ศ. ... จำนวน 17 คน แบ่งเป็นฝ่ายบริหาร 8 คน และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 9 คน โดยจะมีการแปรญัตติดังกล่าวภายใน 7 วัน
จากนั้นนายพิรกร วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครปรับปรุงหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการดำเนินการตามโครงการเรียนฟรี เรียนดีอย่างมีคุณภาพของโรงเรียนใน กทม. เนื่องจาก กทม.ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนด้านสวัสดิการนักเรียน ด้านอุปกรณ์ ด้านการส่งเสริมการเรียน รวม 20 รายการ ซึ่งในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ราคาสินค้า และค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น จึงเห็นควรให้ กทม.ปรับปรุงหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพและคุณชีวิตที่ดี
ด้านนายวิรัช คงคาเขต ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ควรสนับสนุนงบประมาณ จัดสรรให้แก่เด็กนักเรียนที่มีร่างกายพิการ เพื่อจะเป็นการอำนวยความสะดวกและดูแลให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกับเด็กนักเรียนปรกติ อีกทั้งควรเข้าไปควบคุมดูแลอาหารกลางวันให้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สะอาดถูกหลักอนามัยให้ครบ 5 หมู่ และควรเพิ่มงบประมาณสนับสนุนในส่วนของเครื่องแบบนักเรียนให้มีมาตรฐาน เหมาะแก่การสวมใส่ให้มีคุณภาพ
ทั้งนี้ นายอภิรักษ์ กล่าวชี้แจงว่า กทม.เล็งเห็นและให้ความสำคัญในด้านการศึกษาของเด็กนักเรียนในสังกัดกทม. โดยมีนโยบายในการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองในสภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ในเรื่องค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเด็กนักเรียนในสังกัดกทม. รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพของบุคลากรครูและนักเรียนให้มีคุณภาพ ตามหลักเกณฑ์ ของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการกำหนด รวมทั้งได้กำหนดรูปแบบของโภชนาการอาหารให้ถูกหลักอนามัย ซึ่งในปัจจุบัน กทม.ได้จัดโครงการนำร่องเกษตรแบบพอเพียงในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมสนับสนุนในการทำเกษตรกรรม ปลูกพืช เลี้ยงปลา ฯลฯ ในสถานศึกษา ซึ่งจะสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียนอีกด้วย
ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบญัตติดังกล่าว โดยจะมอบหมายให้เลขานุการสภาฯรวบรวมรายละเอียดเพื่อนำเสนอผู้บริหารเพื่อพิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นต่อไป