xs
xsm
sm
md
lg

จัดระเบียบสำมะโนประชากรใหม่ อัปเดตข้อมูลสุขภาพ คนไทยอายุขัยเฉลี่ย 70.3 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ พัฒนาข้อมูลสุขภาพ การเจ็บป่วยของประชาชนทั่วประเทศให้ทันสมัย นำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน แก้ไขปัญหา เผยขณะนี้คนไทยมีเด็กเพิ่มปีละ 8 แสนคน ตายปีละกว่า 4 แสนคน ในปี 2547 อายุเฉลี่ย 70.3 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยอายุประชากรโลกคือ 67.3 ปี

วันนี้ (23 ม.ค.) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการในการจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมมือกับพันธมิตร 7 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด การจัดทำสำมะโนประชากรครั้งนี้นับเป็นการปฏิรูปและพัฒนาระบบการทำสำมะโนประชากรและเคหะสมัยใหม่ สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้ตรงกับวัตถุประสงค์ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์มาก เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลกลางที่มีความแม่นยำให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่จะทำให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อจะนำไปใช้ในการวิเคราะห์ วางแผน การแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยในส่วนข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขจะใช้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด ที่ต้องเป็นข้อมูลที่ชัดเจนที่สุด โดยเด็กไทยเกิดปีละ 8 แสนคน เสียชีวิตปีละกว่า 4 แสนคน รวมทั้งข้อมูลด้านการเจ็บป่วยของประชาชนที่ถือว่าสำคัญมาก เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขต้องปรับข้อมูลการเจ็บป่วยแต่ละสถานพยาบาลทั่วประเทศให้เป็นปัจจุบัน ตลอดจนข้อมูลผู้สูงอายุ การเสียชีวิต โดยในปี 2547 คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 70.3 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยอายุของประชากรโลกซึ่งอยู่ที่ 67.3 ปี

นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้ว ตั้งแต่ระดับในหมู่บ้าน โดยใช้เจ้าหน้าที่ในสถานีอนามัย และ อสม.เป็นผู้เก็บข้อมูล แต่ข้อมูลที่ต้องเก็บเพิ่มเติมเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ คือ ข้อมูลแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพซึ่งมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ซึ่งอาจมีผลกระทบเกี่ยวกับปัญหาโรคติดต่อ หรือปัญหาสาธารณสุขด้านอื่นๆ ตามมา
กำลังโหลดความคิดเห็น