ปลายปี 2547 คนไทยทั้งประเทศได้เรียนรู้บทเรียนอันน่าเศร้าครั้งสำคัญ เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์ “สึนามิ” สร้างความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ คร่าทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมาย ทำให้สังคมได้ตระหนักถึงมหันตภัยทางธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้า
การระวังภัยล่วงหน้าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง สำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย จึงได้จัด โครงการพัฒนาอาสายุวกาชาดด้านการปฐมพยาบาล ในพื้นที่ 6 จังหวัดประสบภัยสึนามิ ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือสนับสนุนงบประมาณจากสหพันธ์สภากาชาด และสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศระหว่างปี 2548-2550 และจากกาชาดอเมริกันตั้งแต่ปี 2550-2553
มานิดา โชติวนิช รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานยุวกาชาด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการนี้ว่า “สำนักงานยุวกาชาด สภากาชาดไทย ต้องการที่จะรวบรวมทีมอาสายุวกาชาด เพื่อสร้างเครือข่ายทีมอาสาฯ ในการปฐมพยาบาล และเชื่อมสัมพันธภาพในเครือข่ายกาชาด เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งในระดับชุมชน อำเภอ และจังหวัด รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างอาสายุวกาชาดทั้ง 6 จังหวัด เพื่อเป็นการกระจายความรู้ และเตรียมความพร้อมในการที่จะเข้าไปช่วยเหลือชุมชนของตนในยามเกิดภัยพิบัติต่างๆ ให้ได้ทันท่วงที”
รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานยุวกาชาด ให้ข้อมูลต่ออีกว่า นับแต่เริ่มโครงการ First Aid Training ในปี 2004 เป็นต้นมาสำนักงานยุวกาชาดได้สร้างวิทยากรด้านปฐมพยาบาลเป็นแกนนำถ่ายทอดความรู้ในพื้นที่แล้วกว่า 160 คน และพัฒนาอาสายุวกาชาดด้านปฐมพยาบาลให้กับชุมชนแล้วกว่า 3,715 คน วันนี้สำนักงานยุวกาชาดมองไกลถึงการสร้างเครือข่ายของเหล่าอาสาฯ และการพัฒนาองค์ความรู้ด้านปฐมพยาบาลอย่างยั่งยืนเพื่อให้ชุมชนแข็งแรง พึ่งพาตนเองได้
“สำนักงานยุวกาชาดเริ่มออกตัวแผนงานใหม่ภายใต้กลยุทธ์ First Aid Active Team 2009 ด้วยกิจกรรม “การแข่งขันปฐมพยาบาลของอาสายุวกาชาดใน 6 จังหวัด ภาคใต้ที่ประสบภัยสึนามิ” (RCY Volunteers First Aid Competition and Gathering 2008) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ บริเวณฐานทัพเรือพังงา อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา โดยมีตัวแทนจากสภากาชาดไทยและกาชาดอเมริกันให้เกียรติร่วมเป็นคณะกรรมการจัดงาน เพื่อให้ทีมอาสายุวกาชาด ซึ่งเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 18-25 ปี ในพื้นที่ 6 จังหวัดประสบภัยสึนามิ อันได้แก่ จังหวัด ภูเก็ต ตรัง ระนอง พังงา กระบี่ และ สตูล ที่ผ่านการอบรมปฐมพยาบาลตามมาตรฐานหลักสูตรของสภากาชาดไทยจำนวนกว่า 300 คนเข้าร่วมแข่งขัน ทบทวนความรู้ ฝึกทักษะ ซ้อมแผนปฐมพยาบาล รวมถึงแลกเปลี่ยนทัศนคติและประสบการณ์ระหว่างกัน”
มานิดา กล่าวต่อไปว่า การแข่งขันในครั้งนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมรับภัยในด้านต่างๆ อย่างครบครัน อาทิ การทดสอบจิตใจ การเตรียมความพร้อมของทีมปฐมพยาบาล และการสาธิตการเตรียมความพร้อมการในเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อเป็นการทบทวนและสร้างทักษะในการฝึกฝนการปฐมพยาบาลให้กับเหล่าอาสายุวกาชาดให้เกิดความเชี่ยวชาญ ชำนาญ ถูกต้อง รวดเร็ว และปลอดภัย โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 51 ทีม
น.ส.อนงนาฏ ฤทธิฉิม อาสายุวกาชาดจาก อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง ตัวแทนทีมชนะเลิศ สาย 1 กล่าวว่า การเข้าร่วมการโครงการในครั้งนี้ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับตนเอง และเพื่อนๆ ในทีม เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มิอาจจะคาดเดาได้ รวมถึงอุบัติภัยต่างๆ รวมถึงการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในการขอความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนในการเคลื่อนย้ายหรือจัดการกับผู้ป่วยที่ประสบเหตุภัยในกรณีใดๆ ก็ตาม เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้ และเมื่อได้รางวัลนี้แล้วตนเองก็มีความมั่นใจมากขึ้น และต้องการที่จะส่งต่อ ถ่ายทอดความรู้ที่ตนเองมีให้กับคนอื่นๆ เพื่อสร้างทีมอาสายุวกาชาดของตนเองในระดับตำบลต่อไป
พงศ์พันธ์ มาศโอสถ อาสายุวกาชาดจาก อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ตัวแทนทีมชนะเลิศ สาย 2 กล่าวว่ารู้สึกดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการอาสายุวกาชาดในครั้งนี้ ทำให้ได้รับความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการปฐมพยาบาลที่สามารถนำไปใช้ในการช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว และสังคม ทั้งในยามปกติ และในยามเกิดภัยพิบัติ รวมถึงการให้คำแนะนำในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างกาย และจิตใจของผู้ประสบภัยอีกด้วย