xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตซ้อมอพยพผู้ป่วยจากสึนามิถล่มทางอากาศครั้งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ตซ้อมแผนอพยพผู้ป่วยในภาวะวิกฤตจากเหตุการณ์สึนามิถล่ม ทางอากาศครั้งแรกเพื่อร่วมรำลึกครบรอบ 4 ปีสึนามิถล่ม

วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่บริเวณอาคารเอนกประสงค์ ท่าอากาศยานภูเก็ต นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมแผนอพยพผู้ป่วยในภาวะวิกฤติทางอากาศยาน จากเหตุธรณีพิบัติภัยสึนามิ จังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2551 ซึ่งเป็นการซ้อมแผนอพยพผู้ประภัยทางอากาศครั้งแรก และเป็นกิจกรรมที่จังหวัดภูเก็ตจัดขึ้นในวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติในวาระครบรอบ 4 ปีเหตุการณ์สึนามิถล่ม คณะกรรมการฝึกซ้อมแผนอพยพผู้ป่วยในภาวะวิกฤติทางอากาศยานจากเหตุธรณีพิบัติภัยสึนามิ จังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมฝึกซ้อมและสังเกตการณ์เป็นจำนวนมาก

นพ.วิวัฒน์ คีตมโนชญ์ นายแพทย์ 9 ด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ในนามคณะกรรมการฝึกซ้อมแผนอพยพผู้ป่วยในภาวะวิกฤติทางอากาศยานจากเหตุธรณีพิบัติภัยสึนามิ จังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2551 กล่าวว่า การฝึกซ้อมแผนอพยพผู้ป่วยในภาวะวิกฤติทางอากาศยานเป็นกิจกรรมหนึ่งเนื่องในวันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติในวาระครบรอบ 4 ปี เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ ซึ่งตรงกับวันที่ 26 ธันวาคมของทุกปี และปีนี้เป็นปีแรกที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้จังหวัดภูเก็ตจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการและการฝึกซ้อมแผน

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการควบคุม สั่งการ การบัญชาเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุ ให้บุคลากรด้านการแพทย์ หน่วยกู้ชีพกู้ภัยของหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคม มูลนิธิ มีความรู้ทักษะความชำนาญในการอพยพผู้ป่วยในภาวะวิกฤติทางอากาศยาน รวมทั้งเพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยและลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากสาธารณภัยขนาดใหญ่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และจะต้องกระจายส่งต่อผู้ป่วยให้ทำการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ไม่เกิดภัยและมีความพร้อมด้านแพทย์สูง รวมทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อยืนยันความพร้อมและศักยภาพในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากตุการณ์ต่างๆ

โดยการซ้อมแผนอพยพผู้ประสบภัยในครั้งนี้ใช้เครื่องบินของทัพเรือภาค 3 และโรงพยาบาลกรุงเทพในการซ้อมค้นหาผู้ป่วยตามสถานที่ต่างๆก่อนที่จะนำผู้ป่วยมาส่งที่ท่าอากาศยานภูเก็ตเพื่อลำเลียงไปรักษาต่อที่อื่นด้วยเครื่องบิน C 130


อย่างไรก็ตาม สำหรับการซ้อมแผนอพยพหนีภัยสึนามิในครั้งนี้ ได้มีการสมมุติสถานการณ์ว่า ได้เกิดแผ่นดินไหว เมื่อเวลา 07.30 น. แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้บางพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต สถานีวัดความสั่นสะเทือน จ.เชียงใหม่ แจ้งให้ทราบว่าเกิดแรงสั่นสะเทือนขนาด 6.8 ริกเตอร์ ที่แลตติจูด 6.7 องศาเหนือ ลองติจูด 92.60 องศาตะวันออก บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์/นตค.ก.เมียง รายงานให้ทัพเรือภาค 3 ทราบ

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) รับทราบข้อมูล ยืนยันเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหวบริเวณเดียวกันกับสถานีวัดความสั่นสะเทือนเพิ่มเป็น 8.6 ริกเตอร์ และมีโอกาสสูงที่จะเกิดคลื่นสึนามิบริเวณทะเลอันดามัน อาจมีผลกระทบต่อประเทศไทย ศภช.รับทราบข้อมูลยืนยันการเกิดสึนามิจากทุ่นตรวจวัดสึนามิ (DART II) ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล และประเมินผลตามขั้นตอนการปฏิบัติ วิเคราะห์เวลาที่คลื่นเข้ากระทบฝั่ง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต รับทราบ รายงานให้ผู้ว่าฯทราบแจ้งให้อำเภอ เทศบาล และอบต.ทุกแห่งเฝ้าระวัง และผู้ว่าฯสั่งให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินจังหวัดภูเก็ต และสั่งการให้ทุกพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ ณ ที่ตั้งปกติ เพื่ออพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง

ต่อมาเวลา 07.45 น.ได้มีการเปิดสัญญาณเตือนภัย จำนวน 79 หอ ในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน สั่งการให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ไปยังศูนย์อพยพประจำชุมชน ตรวจสอบจำนวนประชาชนในพื้นที่พบผู้สูญหายและบาดเจ็บ เวลา 08.15 น. คลื่นสึนามิลูกที่ 1-2 ได้เคลื่อนเข้าสู่พื้นที่หาดกมลา กะตะกะรน ป่าตองและราไวย์ สร้างความเสียหายอย่างมาก มีการรายงานสถานการณ์ความเสียหายเบื้องต้น และร้องขอความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ที่ไม่สามารถดำเนินการเองได้หรือเกินขีดความสามารถของหน่วย และมีรายงานสรุปยอดผู้เสียหายจำนวน 50 คน ผู้บาดเจ็บ 33 คน เสียชีวิต 8 คน

มีการร้องขอการสนับสนุนเรือ/อากาศยานจากทัพเรือภาค 3 เพื่อค้นหาและช่วยเหลือประชาชนที่สูญหายและบาดเจ็บในทะเล โดยมีรายงานนักท่องเที่ยวติดอยู่ที่เกาะราชาใหญ่จำนวน 532 คน เกาะเฮ 80 คน ในจำนวนนี้มีผู้บาดเจ็บ จำนวน 434 คน เวลา 09.15 น.ทางผู้อำนวยการสาธารณสุข ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลต่างๆ ว่ามีผู้ป่วยจำนวนมาก และขณะนี้ไม่สามารถรับผู้บาดเจ็บได้เพียงพอ

หลังจากประเมินสถานการณ์จึงได้มีการขอจัดตั้งศูนย์อำนวยการอพยพผู้ป่วยทางไกล ณ อาคารเอนกประสงค์ท่าอากาศยานภูเก็ต ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ในการประสานทีมแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่จากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ถลาง ป่าตอง กรุงเทพภูเก็ต สิริโรจน์ และมิชชั่นภูเก็ต จำนวน 8 ทีม ประจำ ณ โรงพยาบาลสนาม (SCU) และเครื่องบิน C -130 กองทัพอากาศ

มีรายงานเพิ่มเติมมีผู้บาดเจ็บสาหัสในเรือยอช์ทบริเวณหน้าหาดกะรน จำนวน 4 ราย จึงประสานกับทัพเรือภาคที่ 3 และ รพ.กรุงเทพภูเก็ต ขอเฮลิคอปเตอร์ของทั้ง 2 หน่วย ค้นหาและเข้าทำการช่วยเหลือนำส่งผู้บาดเจ็บที่ ศูนย์อำนวยการอพยพ ณ สนามบินภูเก็ต และได้นำส่งผู้บาดเจ็บจำนวน 4 ราย ไปยัง โรงพยาบาลที่กรุงเทพมหานครโดยเครื่องบิน C-130 จบสถานการณ์เวลา 12.00 น.


กำลังโหลดความคิดเห็น