xs
xsm
sm
md
lg

ปล่อยกู้ 5 พันล้าน ล้างหนี้ครูแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วรากรณ์” หาทางช่วยครูที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ล้างหนี้ โดย สกสค.จับมือสหกรณ์ออมทรัพย์ปล่อยกู้ 5 พันล้านบาท หักเงินเดือนแบบขั้นบันได ครูจะมีเงินติดกระเป๋ากลับบ้านร้อยละ 30 ของเงินเดือน ด้าน “บำเหน็จ” ย้ำ ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ครู ตามโครงการ “ประทังชีวิตครู” วงเงิน 4 พันล้าน ปล่อยกู้รายละ 2 แสน ทางแบงก์ปล่อยสินเชื่อเอง ซึ่งผิดระเบียบ ศธ.จึงหักเงินเดือนครูไม่ได้

วันนี้ (17 ม.ค.) นายวรากรณ์ สามโกเศศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสัวสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อหารือเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูว่า สกสค.ร่วมมือกับชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ แก้ปัญหาหนี้สินให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีหนี้สินหนักหนาสาหัส จนแทบไม่เหลือเงินเดือนกลับบ้าน โดยชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ได้เตรียมเงินไว้จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้ผ่านทางสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ทั้งจะให้ครูกลุ่มนี้นำไปชำระหนี้ทั้งในและนอกระบบทั้งหมด โดยครูจะมีหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์เพียงแห่งเดียว อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ครู ครูจะผ่อนชำระรายเดือนแล้วเหลือเงินกลับบ้าน

ในปัจจุบันมียอดครูที่มีปัญหาหนี้สินกว่า 1 แสนคน เฉลี่ยเป็นหนี้รายละ 1.3 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีครูในหลัก 1 พันคนที่มีหนี้สินหนักหนาสาหัส เป็นหนี้จำนวนมากและเป็นหนี้หลายทาง เท่าที่พบส่วนมากเป็นหนี้นอกระบบ นายวรากรณ์ บอกว่า วิธีแก้ปัญหาหนี้สินของครูที่มีหนี้สินสาหัสต้องรวมหนี้ทั้งหมดไว้ที่เดียว แล้วปรับโครงสร้างหนี้ให้ครูผ่อนชำระหนี้ แต่ครูต้องเหลือเงินเดือนจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุนี้ทาง สกสค.จึงได้ยกร่างระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้สินครูให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ สาระสำคัญของระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ส่วนราชการหักเงินเดือนครูแล้วต้องมีเงินเดือนเหลือหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ภายในเดือนตุลาคม 2555

“ครูมีหนี้สินมาก บางรายหากถ้าให้หักเงินเดือนอาจไม่เหลือเงินกลับบ้านเลยแม้แต่บาทเดียว จึงตกลงกับสหกรณ์ว่า หักเงินเดือนครูแล้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคม 51 ครูต้องมีเงินเหลือ ร้อยละ 10 ในปี 52 ครูต้องมีเงินเหลือ ร้อยละ 15 พอถึงปี 55 ครูต้องมีเงินเหลือร้อยละ 30 โดยเราจะให้หักเงินเดือนครูแต่ให้มีเงินเหลือไว้ใช้จ่ายในลักษณะขั้นบันได คือเพิ่มขึ้นปีละ 5 เปอร์เซ็นต์”

นายวรากรณ์ กล่าวว่า ข้อตกลงนี้ทำให้ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ มั่นใจได้ว่าการปล่อยกู้ให้ครูครั้งนี้จะไม่เป็นหนี้สูญ เพราะส่วนราชการจะต้องควบคุมครูไม่ให้ก่อหนี้เกินความสามารถในการชำระหนี้ ครูที่เหลือเงินเดือนกลับบ้านไม่เกินร้อยละ 30 จะไม่สามารถกู้เงินจากโครงการสวัสดิการต่างๆของ ศธ.ได้ เพราะส่วนราชการจะไม่หักเงินเดือนชำระหนี้ให้ ทั้งนี้ สกสค.จะต้องหารือกับชุมนุมสหกรณ์ เพื่อกำหนดรายละเอียดในการกู้อีกครั้ง เบื้องต้นจะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษ ให้เฉพาะครูที่มีหนี้สาหัสเท่านั้น

ด้าน นายบำเหน็จ ทิพย์อักษร รองเลขาธิการ สกสค.กล่าวกรณีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ปล่อยสินเชื่อให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เดือดร้อนกรณีฉุกเฉินกู้ในโครงการ “ประทังชีวิตครู” จำนวน 4 พันล้านบาท โดยให้ครูกู้รายละ 2 แสนบาทว่า สกสค. ซึ่งดูแลเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูไม่เคยได้รับการประสานงานเรื่องนี้จาก ธกส. จึงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากขัดระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือนฯ ที่ไม่เปิดโอกาสข้าราชการครูฯกู้โดยไม่ผ่านหลักเกณฑ์ของ สกสค. เพราะฉะนั้น ครูที่เข้าร่วมโครงการกับ ธกส.ถือว่ามีความผิดทางวินัย หากระเบียบ ศธ.มีผลบังคับใช้

“ตามระเบียบนั้น ครูที่มีหนี้สินจะต้องรายงานข้อมูลทั้งหมดแก่ สกสค. หากรายงานเท็จจะมีโทษทางวินัย อาจพักใบอนุญาต หรือถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งครูจะไม่สามารถไปประกอบอาชีพครูได้อีก ซึ่งระเบียบนี้ต้องการให้ครูมีวินัยทางการเงิน” นายบำเหน็จ กล่าวว่า ธ.ก.ส.ไม่มีสิทธิหักเงินเดือนครูที่ขอกู้แม้ว่าครูรายนั้นจะเซ็นต์ยินยอม

อย่างไรก็ตาม สกสค.จะหารือเรื่องดังกล่าวกับ ธ.ก.ส.อีกครั้งว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อข้าราชการครูฯ มากน้อยเพียงไร ก่อนจะนำเข้าที่ประชุม สกสค.ครั้งต่อไปเพื่ออนุมัติร่วมโครงการกับ ธ.ก.ส. มองว่าที่ผ่านมา สกสค.ได้ร่วมแก้ปัญหาหนี้สินครูกับธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทยอยู่แล้ว จึงมีแนวโน้มที่โครงการของ ธ.ก.ส.จะไม่ผ่านการอนุมัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น