xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ห่วงสุขภาพครู ใช้ปากกาไวท์บอร์ด-ชอล์ก เสี่ยงโรคมะเร็งไขกระดูก กระตุ้นภูมิแพ้‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.ห่วง “ครู” เสี่ยงภัยปัญหาสุขภาพ เผยหากใช้ “ปากกาไวท์บอร์ด” อาจได้รับสารเคมีจากการสูดดม เสี่ยงโรคโลหิตจาง ถึงขั้นมะเร็งไขกระดูก แนะปรับปรุงระบบระบายอากาศให้มีการหมุนเวียน ขณะที่ใช้ “ชอล์ก” อันตรายสูสี ทั้ง นร.-อาจารย์ เจอฝุ่นชอล์ก-หินปูน-แคลเซียม ทำให้หลอดลมอักเสบ แถมกระตุ้นโรคภูมิแพ้

นายกำจัด รามกุล ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า อาชีพครู-อาจารย์ เป็นอาชีพที่ต้องใช้ปากกาไวท์บอร์ดในการสอนหนังสือเป็นประจำ โดยเฉพาะในห้องเรียนที่ระบบระบายอากาศไม่ดี ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก หากสูดดมเป็นเวลานานจะส่งผลต่อการกดสร้างเม็ดเลือดขาวและแดง ทำให้ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง ไขกระดูกไม่ทำงานจนอาจถึงขั้นเป็นมะเร็งไขกระดูก เพราะในปากกาเคมีมีสารอินทรีย์ระเหยที่มีกลิ่นฉุน ชื่อ “ไตรคลอโรเอทธิลีน” ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับตัวทำละลายที่มีกลิ่นและมีภัยต่อสุขภาพ เช่น เบนซิน ทินเนอร์ ฯลฯ

นายกำจัด กล่าวว่า ตามค่ามาตรฐานสากล ระบุว่า ในสถานที่ทำงานห้ามมีสารดังกล่าวเกิน 10 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากการใช้เครื่องมือเท่านั้น หากครูหรือนักเรียน หรือเจ้าของสถานศึกษาสงสัยปริมาณสารดังกล่าวในห้องเรียนว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ สามารถติดต่อให้สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เข้าตรวจสอบได้ ขณะที่วิธีการป้องกันสามารถทำได้โดยการปรับปรุงระบบระบายอากาศให้ดี อากาศสามารถหมุนเวียนได้ หรือหากเป็นห้องปรับอากาศจำเป็นต้องเปิดระบายอากาศทุกๆ 60 นาที โดยเปิดระบายอากาศเป็นเวลานาน 10 นาที

“นักเรียนที่นั่งแถวหน้าใกล้กระดานหากไม่ได้กลิ่นฉุนก็ถือว่าไม่ได้รับสารอินทรีย์ระเหยดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่คุณครูที่เป็นผู้เขียนปากกาจะได้รับสารมากที่สุด แต่ก็ยังไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการว่าครูมีปัญหาสุขภาพมากเพียงใด แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ปากกาดังกล่าวถือว่ามีอันตรายมากกว่าการใช้ชอล์กเขียนกระดาน”นายกำจัด กล่าว

นายกำจัด กล่าวด้วยว่า สำหรับการใช้ชอล์กเขียนกระดานในประเทศไทย ยังไม่มีการศึกษาเรื่องฝุ่นจากผงชอล์กโดยเฉพาะ ดังนั้น จึงไม่ทราบขนาดของฝุ่นดังกล่าวอย่างชัดเจน แต่เชื่อว่า คงมีขนาดใหญ่กว่า 0.5-5 ไมครอน ซึ่งช่วงขนาดดังกล่าวนี้ถือว่า เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยร่างกายไม่สามารถกรองหรือขับออกได้ แม้ว่าผงชอล์กมีขนาดใหญ่กว่าขนาดที่เป็นอันตรายกับสุขภาพ แต่เนื่องจากผงชอล์กมีส่วนประกอบจากแคลเซียมและหินปูน การสูดดมในระยะยาวจะทำให้มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เกิดการระคายเคือง หลอดลมอักเสบ

“วิธีการแก้ไข คือ ต้องพยายามอย่าให้ผงชอล์กฟุ้งกระจาย ทั้งเวลาลบกระดาน หรือการตบแปรงเพื่อทำความสะอาด เพื่อสุขภาพของคุณครู และนักเรียนที่นั่งแถวหน้าๆ อย่างไรก็ตามคุณครูที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคภูมิแพ้ควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะฝุ่นชอล์กอาจทำให้โรครุนแรงขึ้น”นายกำจัด กล่าว

นายกำจัด กล่าวด้วยว่า นอกจากสารอินทรีย์ระเหยที่พบปากกาไวท์บอร์ดแล้ว ยังพบในเครื่องถ่ายเอกสาร น้ำยาทำความสะอาดหนัง น้ำยาลบคำผิด เสื้อผ้าที่ซักแห้ง สเปรย์ปรับอากาศ น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาปรับผ้านุ่ม บุหรี่ และน้ำยาดับกลิ่นตัว ฯลฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น