xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.สดุดี “พระพี่นาง” ครูผู้มีพระจริยวัตรงดงาม นายกฯ แนะครูยุคใหม่ต้องยอมรับคำวิจารณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศธ.สดุดี “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ” เป็นครูอย่างแท้จริง พระองค์ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์เข้าใจ ด้าน “นายกฯ” แนะครูยุคปัจจุบันแค่สอนอย่างเดียวไม่พอ ต้องใฝ่เรียนรู้ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และครูต้องเป็นนักจิตวิทยาชั้นดี ที่สามารถแก้ปัญหาให้เด็กและเยาวชนได้ ด้านท่านผู้หญิงยศวดี แนะครูค้นคว้าหาความรู้มาสอนนักเรียนอย่างต่อเนื่อง และให้รักเด็กทุกคนเหมือนกัน อย่าอคติ ระบุนักเรียนอย่าท่องจำโดยไม่เข้าใจ ย้ำภาษาอังกฤษไม่ควรให้เรียนตั้งแต่เด็ก ควรให้เรียน ป.5 ขึ้นไป


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 ม.ค. หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดงาน 52 ปีวันครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธ.ค.2550 โดยมี พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารให้การต้อนรับ ซึ่งโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้คารวะผู้อาวุโสประจำปี ได้แก่ ท่านผู้หญิงยศวดี บูรณะสัมฤทธิ อัมพรไพศาล และครูยาหยี สาวนายน ในพิธีบูชาครูบูรพาจารย์ พร้อมมอบรางวัลแด่บุคคลผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อแวดวงการศึกษา

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มงานวันครู รมว.ศธ.ได้ประกาศสดุดีพระเกียรติคุณความเป็นครูของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเป็นแบบฉบับของครูผู้มีจริยวัตรงดงาม ทรงเปี่ยมด้วยวิริยะอุตสาหะในการสอนและถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ มีพระเมตตากรุณาส่งเสริม สนับสนุนให้ศิษย์เรียนรู้จริง สามารถใช้ความรู้เป็นประโยชน์ แก่ชีวิตและแก่ประเทศชาติ ทรงเป็นที่รักของศิษย์ทั้งปวง ทรงพระกรุณาอุปถัมภ์การศึกษาของชาติเป็นอเนกประการ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงใส่พระทัยในการเป็นครูมานับแต่ทรงพระเยาว์ แม้จะทรงศึกษา ปริญญาตรีในคณะวิทยาศาสตร์ แต่ก็ทรงเลือกศึกษาสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยาด้วย หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จนิวัตประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2493 ทรงพระกรุณารับเชิญเป็นพระอาจารย์พิเศษสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง โดยทรงเป็นครูที่ทุ่มเทเอาพระทันใส่ในการสอนเป็นอย่างยิ่ง หากศิษย์ไม่เข้าใจก็ทรงเต็มพระทัยที่จะอธิบายจนกว่าศิษย์จะเข้าใจ ดังนั้นจึงทรงเป็นครูที่ศิษย์ทั้งปวงรักและเทิดทูน นอกจากนี้ในการเสด็จไปทัศนศึกษา จะให้ผู้ตามเสด็จหาความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่าง ๆ ล่วงหน้าและทรงสอนให้เปรียบเทียบข้อมูลเพื่อให้ได้ความรู้ที่ถูกต้อง อันเป็นการสอนให้เรียนรู้ที่มีคุณูปการแท้จริง

เนื่องด้วยพระองค์ทรงศึกษาด้านวิทยาศาสตร์จึงทรงเป็นนักวิชาการที่มีสายพระเนตรยาวไกล ทรงตระหนักว่าวิทยาศาสตร์มีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงทรงสนพระทัยในการพัฒนาเยาวชนเพื่อเป็นกำลังของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ โดยทรงพระกรุณาสนับสนุนโครงการจัดส่งเยาวชนไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติ ตั้งแต่ พ.ศ.2536 ถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังพระราชทานพระดำริให้ก่อตั้งสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนาขึ้น เพื่อสอนดนตรีคลาสสิกแก่เยาวชนไทยเช่นในยุโรป

นอกจากทรงสอนและทรงส่งเสริมการศึกษาโดยตรงแล้ว ยังทรงพระกรุณาเอาพระทัยใส่ห่วงใยเด็กและเยาวชนของชาติ ทั้งเด็กปกติ และเด็กพิการด้อยโอกาส เมื่อทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรในชนบท ได้พระราชทานโอกาสให้ครูและนักเรียนเข้าเฝ้ารับพระราชทานอุปกรณ์การศึกษา พระราชทานของเล่นแก่เด็ก ทรงพระกรุณารับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมไว้ในพระอุปถัมภ์ เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียน พระราชทานคำแนะนำให้มูลนิธิจัดอบรมความรู้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองให้เลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้องเหมาะสม พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการส่งเสริมสุขภาพของเด็กเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างสมบูรณ์ ทรงพระกรุณารับมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลราชานุกูล ซึ่งดูและเด็กปัญญาอ่อนไว้ในพระอุปถัมภ์ และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวนมากเพื่อส่งเสริมกิจการต่างๆ เกี่ยวกับเด็กพิการ และพระกรณียกิจดังกล่าวล้วนก่อเกิดจากน้ำพระทัยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา อันเป็นพระจริยวัตรที่งดงามของความเป็นครู

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงประกอบพระกรณียกิจนานัปการด้วยพระเมตตา ปรารถนาที่จะให้ประชาราษฎร์ทุกชนชั้นมีวิชาความรู้ มีความเป็นอยู่และมีสุขภาพอนามัยดีถ้วนหน้า กล่าวโดยเฉพาะด้านการศึกษาทรงเป็นแบบอย่างของครูที่ดี ทรงใฝ่พระทัยในการเพิ่มพูนความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ทรงอุทิศพระองค์ถ่ายทอดวิชาการโดยเต็มกำลังพระปัญญา ด้วยพระปณิธานมุ่งมั่นที่จะนำความเจริญวัฒนามาสู่ศิษย์เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่ประเทศชาติสืบไป
นายวิจิตร กล่าวว่า พรุ่งนี้ (17 ม.ค. ) จะประชุมร่วมกับผู้บริหารของกระทรวง เพื่อหารือว่า จะทำโครงการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในลักษณะอย่างไร เพราะพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณด้านการศึกษาแก่หลายหน่วยงานและหลายระดับ จึงจำเป็นต้องมาหารือร่วมกันเพื่อทำให้สมพระเกียรติ ซึ่งเรื่องการถวายพระสมัญญาว่า “ เจ้าฟ้าอัครคุรุปูชนียาจารย์ “ หรือ “เจ้าฟ้าคุรุปูชนียาจารย์” นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะใช้ชื่อใด ต้องรอหารือร่วมกันทุกหน่วยงานก่อน คาดว่าพรุ่งนี้จะได้ข้อสรุป

จากนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการจัดงานวันครู ครั้งที่ 52 ประจำปี 2551 ได้กล่าวคำปราศรัยเนื่องในโอกาสวันครูว่า ปัจจุบันแม้สังคมโลกและสังคมไทยของเราจะเปลี่ยนแปลงไป แต่บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของครูก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงหรือลดน้อยลง กลับยิ่งเพิ่มขึ้นตามสภาพสังคมที่มีความซับซ้อน และปัญหาของเด็กและเยาวชนก็มีมากขึ้นตามมาด้วย

พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงของสังคมและของโลกนั้น มีทั้งความเจริญก้าวหน้าและก็มีวิกฤตหรือปัญหาในทางเสื่อมเช่นเดียวกัน ดังนั้น บทบาทของครูในปัจจุบันจึงไม่ใช่แค่การปฏิบัติอย่างที่เคยทำกันมาในอดีต แต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับความเป็นไปของสังคมด้วย ครูจึงจะสามารถเป็นผู้ที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นครูในอุดมคติของคนส่วนใหญ่และเป็นปูชนียบุคคลที่ได้รับความเชื่อถือศรัทธาและมีบทบาทในการนำพาบ้านเมืองไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

“บทบาทของครูในยุคนี้ การสื่อสารทางเดียวในฐานะผู้สอนไม่เพียงพอ แต่ครูต้องยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์อันถือว่าเป็นการสื่อสารสองทาง และครูต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะเป็นผู้ชี้ทางการแก้ปัญหา กระตุ้นให้คนรู้จักแสวงหาความรู้อย่างยั่งยืน นั่นคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต และครูจะต้องเรียนรู้เพื่อให้เป็นผู้รอบรู้ เป็นผู้มีหูตากว้างไกล มีทัศนคติที่กว้างขวาง รวมทั้งเป็นนักจิตวิทยาชั้นดีที่สามารถสั่งสอน แนะนำ และแก้ไขปัญหาให้เด็กและเยาวชนได้ด้วย เพราะครูลักษณะดังกล่าวคือครูที่สังคมคาดหวัง” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวต่อว่า ศธ.จะต้องเร่งส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานของครูให้บรรลุถึงบทบาท หน้าที่ และสิ่งที่สังคมคาดหวัง ทำให้ครูมีพลังในการทำหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ครูมีความสุข ความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และประโยชน์ทั้งหมดก็จะตกอยู่ที่เด็กและเยาวชนไทยของเรา

ด้านท่านผู้หญิงยศวดี บูรณะสัมฤทธิ อัมพรไพศาล อายุ 101 ปี ครูอาวุโส เจ้าของโรงเรียนอัมพรไพศาล กล่าวว่า ครูจะต้องขยัน มั่นศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเรื่อยๆ สำหรับนักเรียนเองก็ต้องซักถามครูในสิ่งที่ต้องการรู้หรืออ่านหนังสือจะได้มีความรู้กว้างขวางนอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน ที่สำคัญ อย่าไปเชื่อกระทรวงศึกษาธิการว่าไม่ให้ท่องจำ อย่างเช่นการท่องสูตรคูณถ้าไม่ท่องจะจำได้อย่างไร ที่โรงเรียนอัมพรไพศาล จะให้เด็กท่องสูตรคูณทุกวัน เพราะควรจะบอกว่าอย่าจำโดยที่ไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วต้องจำ อย่างภาษาอังกฤษก็ต้องท่องถูกไม่ถูกก็ต้องท่องจำ และไม่ควรสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพราะเหตุที่ว่าภาษาไทยเด็กบางคนยังไม่ค่อยจำ ที่โรงเรียนอัมพรไพศาลสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ประถมปีที่ 5 แต่พอถึงประถมปีที่ 6 แล้วเราเก่งกว่านักเรียนที่เรียนตั้งแต่ประถมปีที่ 1 เพราะมีความรู้ความเข้าใจ รู้ว่าอะไรเป็นพหูพจน์ อะไรเป็นเอกพจน์ ต้องใช้ เอ แอล เดอะ เมื่อไหร่ ซึ่งเด็กโตถึงจะจำได้ เด็กเล็กจะจำไม่ได้ และที่โรงเรียนอัมพรไพศาล ทุกคนยอมรับว่าเด็กเก่งภาษาอังกฤษ

“ขอฝากให้ครูทั่วประเทศขยันขันแข็ง ให้รู้จักค้นคว้า และอย่าอยุติธรรม ความอยุติธรรมเด็กจะเกลียดมาก เพราะเลือกที่มากรักที่ชัง แล้วอย่าตามใจ อย่าทำอะไรกับเด็ก เรื่องนี้ขอฝากครู ถ้าเป็นครูที่ดีจะต้องปฏิบัติอย่างนี้”

เมื่อถามว่ารูปแบบการเรียนการสอนปัจจุบัน และในอดีตแตกต่างกันอย่างไร ครูอาวุโส แสดงความเห็นว่า อยู่ที่การสอน เช่นภาษาไทยจะสอน ก ถึง ฮ ไม่ถูก กว่าเด็กจะทำได้ เราต้องสอนอักษรกลาง 9 ตัว และผสม ผันได้เลย และสอนอักษรสูง 11 ตัว แล้วเติมอักษรสูงเข้าไป เมื่อสอนทั้งอักษร กลาง และอักษรสูง แล้วอักษรต่ำแทบจะไม่ต้องสอนเลย ดังนั้น ต้องสอนทีละขั้นทีละตอน พอเด็กอ่านออกเขียนได้ จึงจะนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมในการเรียนการสอนแต่ไม่มากนัก

ทั้งนี้ ถามถึงการเสียสละของครูภาคใต้ ท่านผู้หญิงยศวดี กล่าวว่า เราไม่รู้สถานะที่เป็นจริงอย่างไร อย่างมุสลิมเป็นพวกรุนแรง ที่โรงเรียนก็มีเด็กมุสลิมไปเรียนแต่เขาไม่ได้โพกหัว แต่โรงเรียนก็สอนว่าศาสนาไหนก็เหมือนกัน เรานับถือเหมือนกันไม่ต้องไปแย่งชิงกัน อย่างศาสนาพุทธศาสนาไหนก็มาอยู่ได้











กำลังโหลดความคิดเห็น