xs
xsm
sm
md
lg

"ถ่ายโอน ร.ร.-เงินวิทยฐานะ-เรียนฟรีไม่จริง” - “ปรับหลักสูตรพื้นฐาน-การศึกษาใต้” นโยบายการศึกษาที่ต้องจับตา ปี 51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เริ่มต้นปี 2551 เรื่องราวของการศึกษายังมีหลายต่อหลายเรื่องที่ยังต้องให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา มีทั้งเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และเรื่องที่เป็นปัญหา ซึ่งต้องหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเป้าหมายสำคัญคือ “คุณภาพการศึกษา” ที่จะตกถึงลูกหลานของคนไทยทุกคน

  • “ถ่ายโอนโรงเรียนให้ท้องถิ่น”

    การกระจายอำนาจและการถ่ายโอนสถานศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการถ่ายโอนสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปสู่ อปท.นั้น เริ่มต้นวางกฎเกณฑ์มาตั้งแต่ปี 2545 และดำเนินการถ่ายโอนรอบแรกไปเมื่อปี 2549

    หลังการถ่ายโอนสถานศึกษาบางส่วนไปอยู่กับ อปท.ยังพบปัญหาหลายๆ ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่ ศธ.มีนโยบายให้ไปช่วยราชการ อปท.เป็นเวลา 1 ปีก่อน โดยข้าราชการครูบางส่วนได้ออกมาเปิดเผยว่า เนื่องจากต้นสังกัดของข้าราชการครูยังคงอยู่กับ ศธ.จึงถูก อปท.กดดันเกี่ยวกับสวัสดิการด้านต่างๆ และไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ส่งผลให้ครูหลายคนหมดกำลังใจและพยายามขอย้ายออกนอกพื้นที่ นำมาสู่ข้อเรียกร้องของสหภาพครูแห่งชาติในปีที่ผ่านมา ขอให้ผู้บริหารใน ศธ.กำหนดนโยบายแนวปฏิบัติเรื่องการถ่ายโอนสถานศึกษาและบุคลากรให้ชัดเจน

    นอกจากนี้ การถ่ายโอนสถานศึกษาในบัญชี 2 ที่มีอยู่ 292 โรง ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก ศธ.ได้ขอสงวนโรงเรียนบัญชี 2 ไว้ โดยขอถ่ายโอนให้กับ อปท.เพียง 100 กว่าแห่งเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป เนื่องจากโรงเรียนกลุ่มนี้เข้าข่ายลักษณะพิเศษ เช่น โรงเรียนต้นแบบ โรงเรียนมัธยมศึกษาที่มีเพียงแห่งเดียวในจังหวัด เป็นต้น

    อีกทั้งยังมีประเด็นการขอถ่ายโอนห้องสมุดประชาชนจากสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.)ไปสู่ อปท.ที่ต้องติดตามต่อไปอีกด้วย เพราะ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศธ.คนล่าสุดประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยอมถ่ายโอนห้องสมุดประชาชนให้กับ อปท. หากจะถ่ายโอนห้องสมุดฯ ก็ต้องมีเกณฑ์การประเมินความพร้อมของ อปท.ที่ขอรับโอนเช่นเดียวกับการขอโอนโรงเรียน แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์การประเมินความพร้อมของ อปท.ที่ขอรับโอนห้องสมุด ดังนั้น ในปีหน้าการกระจายอำนาจและการถ่ายโอนสถานศึกษาให้กับท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่ยังคงต้องติดตามกันต่อไป

  • “ปัญหาเงินวิทยฐานะ”

    ปัญหาครูไม่ได้รับเงินวิทยฐานะเป็นปัญหาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เนื่องจาก ศธ.ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ ทำให้เกิดปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่าวิทยฐานะให้ข้าราชการครูในสังกัดจำนวน 360,000 คน ดังนั้น ในปี 2550 ที่ผ่านมา เงินวิทยฐานะที่เบิกจ่ายให้แก่ครูจึงไม่อยู่ในสภาพคล่อง โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2550 เกิดการชะงักขึ้น ศธ.ไม่มีเงินจ่ายเงินวิทยฐานะให้แก่ครู

    ที่สุด ศ.ดร.วิจิตร ได้ร่วมหารือกับสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางที่จะจัดสรรงบประมาณสำหรับเบิกจ่ายให้แก่ครู โดยได้นำแนวทางที่ได้จากการหารือเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังนำเงินคงคลังบัญชี 2 มาจ่ายเงินวิทยฐานะที่ค้างจ่ายในปีงบประมาณ 2550 ประมาณ 4,000 กว่าล้านบาทให้แก่ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยสำนักงบประมาณต้องไปตั้งงบประมาณใช้คืนในปีหน้า ซึ่งวิธีการนี้จะถูกนำมาใช้เฉพาะในกรณีที่ฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น

    แม้ว่าการแก้ไขปัญหาเงินวิทยฐานะในปีงบประมาณ 2550 จะลุล่วงไปได้โดยการนำเงินคงคลังออกมาใช้จ่ายแทน แต่ในปีงบประมาณ 2551 ยังไม่รู้ว่าจะได้เงินมาจากไหน ดังนั้น ในปี 2551 การจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าวิทยฐานะให้แก่ครู กระทรวงศึกษาธิการจะต้องของบฯ เพิ่มเติม ซึ่งหาก ศธ.ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ให้ ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็จะกลับมาเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน

  • นโยบายขายฝันเรียนฟรี”

    การประกาศให้เรียนฟรี 12 ปี ถือเป็นการดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 49 ที่บัญญัติให้บุคคลสามารถเรียนฟรีได้ 12 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามแม้ว่านโยบายให้เรียนฟรี 12 ปี จะถูกประกาศออกมาหลายปีแล้ว แต่ในความเป็นจริงเป็นที่ทราบกันดีว่าไม่ได้ฟรีอย่างที่กล่าวอ้างกันมาตลอด หนำซ้ำอาจต้องจ่ายแพงกว่าสมัยที่ต้องเสียค่าเล่าเรียนด้วยซ้ำ

    ปัญหา “ฟรีไม่จริง” เนื่องจากเงินอุดหนุนรายหัวที่รัฐจัดให้นั้น ไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินการของสถานศึกษา โดยตัวเลขการวิจัยของสำนักนโยบายและแผน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2546 ระบุว่าในค่าใช้จ่ายระดับปฐมวัยต่อหัวอยู่ที่ 1,700 บาท ประถมศึกษา 1,900 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 3,500 บาท และมัธยมศึกษาตอนปลาย 3,800 บาท ทว่ารัฐจัดสรรให้เด็กปฐมวัยเพียง 1,149 บาท ประถมศึกษา 1,499 บาท มัธยมศึกษาตอนต้น 2,649 บาท และมัธยมศึกษาตอนปลาย 3,249 บาท ทำให้สถานศึกษาจำเป็นต้องเรียกเก็บเพิ่มในส่วนที่จัดการศึกษาเพิ่มเติมนอกเหนือจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามประกาศของ ศธ.ปี 2549 เช่น หลักสูตรพิเศษ กิจกรรม หรือบริการอื่น

    สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้เตรียมแนวทางต่างๆ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่สำหรับการให้เรียนฟรี 12 ปีเอาไว้ โดยอาจจะออกประกาศเรื่องการระดมทรัพยากรเพื่อจัดการศึกษาจากผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรต่างๆ และภาคเอกชน ซึ่งอาจจะออกเป็นประกาศของ ศธ.เรื่องการระดมทรัพยากรเพื่อจัดการศึกษาจากผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรต่างๆ และภาคเอกชนหรือให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาโรงเรียนด้อยโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็ก และเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีความพร้อมระดมทรัพยากรได้ตามศักยภาพ เพื่อมาใช้ในการสาธารณูปโภคของโรงเรียน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ขณะเดียวกัน สพฐ.จะประสานงานให้โรงเรียนได้รับการลดหย่อนในการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าด้วย

    ที่สำคัญรัฐบาลชุดใหม่ก็จะต้องยอมรับด้วยว่า หากจะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ฟรี 12 ปี รัฐบาลก็จะต้องจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้เพิ่มตามสภาวะเศรษฐกิจด้วย

  • “ปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน”

    การปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผลมาจากหลักสูตรเดิมเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2544 ถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 6 ปีแล้ว ที่สำคัญจากการวิจัยของ สพฐ.ใน 5 ภูมิภาคทำให้ทราบว่า หลักสูตรเดิมมีปัญหาเรื่องตัวชี้วัด หรือคุณลักษณะความรู้ความสามารถของเด็กภายหลังจากเรียนจบ แต่ละช่วงนั้นขาดความชัดเจน ทำให้ครูไม่สามารถออกแบบแผนการสอนที่สามารถพัฒนาเด็กให้ตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้

    นอกจากนั้นยังพบว่า ครูจำนวนมากออกแบบการเรียนรู้ในแต่ละชั้นปีไม่เป็น แทนที่ครูจะจัดเนื้อหาให้เด็กเรียนจากง่ายไปหายาก แต่ครูกลับสอนข้ามไปข้ามมา ปัญหาที่เกิดขึ้นทาง สพฐ.จึงปรับหลักสูตรใหม่ จากที่เป็นหลักสูตรช่วงชั้นมาเป็นหลักสูตรแบบชั้นเดียว ซึ่งหลักสูตรใหม่นั้นคาดว่าจะเริ่มมีการประชาพิจารณ์ในต้นปีหน้า และดำเนินการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่องต่อจากปีที่ผ่านมา

    นอกจากนี้ ศ.ดร.วิจิตร ยังมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนระบบให้การศึกษาในขั้นพื้นฐาน หันมาใช้ “ระบบหน่วยกิต” เช่นเดียวกับระดับมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งหากเด็กคนใดสามารถเก็บหน่วยกิตได้ครบตามที่กำหนดก็สามารถที่จะขอจบการศึกษาได้เลย จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นและต้องจับตาดูต่อไป

    ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องแอดมิชชัน ก็คงเป็นอีกเรื่องที่ยังคงต้องให้ความสำคัญอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตามแนวทางเดิมที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) วางเอาไว้นั้น ในปีการศึกษา 2552 ระบบแอดมิชชันจะต้องนิ่ง แต่ที่ผ่านมาระบบดังกล่าวยังไม่ได้รับความเชื่อมั่น และมีปัญหาให้ต้องตามแก้ไขมาโดยตลอด จึงเป็นอีกเรื่องที่พลาดไม่ได้เช่นกัน

  • “การศึกษาใต้ปัญหาที่แก้ไม่ตก”

    ปัญหาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนในภาคใต้ เป็นเรื่องที่มีผลมาจากความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาครูและบุคลากรทางการศึกษาถูกลอบทำร้ายเสียชีวิตและบาดเจ็บไปจำนวนมาก ทำให้ขวัญกำลังใจของครู ผู้ปกครอง และนักเรียนถดถอยลง ขณะเดียวกันการประกาศปิดโรงเรียนก็เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กในพื้นที่ดังกล่าวต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด

    ในปีที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้เพิ่มเขตพื้นที่การศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ขึ้นอีกจังหวัดละหนึ่งเขต เพื่อให้การบริหารจัดการทั่วถึงมากขึ้น และได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาการจัดการศึกษาภาคใต้ขึ้นมาโดยเฉพาะ รวมทั้งได้ประสานความร่วมมือไปยังประเทศมาเลเซียในการพัฒนาการศึกษาทุกระดับอีกด้วย โดยยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาภาคใต้นั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญอย่างมากและเดินทางเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองในพื้นที่ชายแดนใต้

    อย่างไรก็ตาม ความพยายามของภาครัฐที่ดำเนินการอยู่นั้น ดูเหมือนจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร ปัญหาความรุนแรงและปัญหาด้านการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าวยังคงมีอยู่ตลอด จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่านโยบายการแก้ปัญหาการศึกษาในภาคใต้ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดที่ต้องจับตาแบบไม่กะพริบในปี 2551

  • กำลังโหลดความคิดเห็น