“...เอาน้ำมันปาล์มมาใส่รถดีเซลได้กำลังของน้ำมันปาล์มนี้ดีมากได้ผลเพราะว่าเมื่อได้มาใส่รถดีเซลไม่ต้องทำอะไรเลยใส่เข้าไปแล่นไปคนที่แล่นตามบอกว่าหอมดี...”
กว่า 30 ปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับพลังงานทดแทนเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสวนปาล์มน้ำมันของเกษตรกรที่นิคมสร้างตนเองควนกาหลง จ.สตูล เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2518 และไม่เพียงแค่นั้นเพราะอีก 10 ปีต่อมาพระองค์ท่านได้มีพระราชกระแสให้สร้างโรงงานสาธิตที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จ.กระบี่ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือปาล์มน้ำมันและการแปรรูปน้ำมันปาล์มเผยแพร่รวมทั้งจัดตั้งกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก
...และใครจะรู้ว่าบ้านเมืองของเราในทุกวันนี้จะต้องประสบกับปัญหาน้ำมัน(โคตร)แพงที่ทำเอากระเป๋าของผู้ปรารถนาที่จะขับขี่แฟบไปตามๆ กัน หรือบางคนอาจเปลี่ยนใจจอดเจ้ารถคู่ใจทิ้งไว้ที่บ้านแล้วเปลี่ยนมาใช้บริการรถสาธารณะแทน พร้อมๆ กับการตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานทดแทนกันอย่างกว้างขวางในขณะนี้
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภายใต้การนำของ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ได้ริเริ่มโครงการ “ไบโอดีเซลเพื่อสังคมไทยสู่เศรษฐกิจ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา” โดยร่วมมือกับบมจ.บางจาก รับซื้อน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาผลิตไบโอดีเซล และล่าสุดกทม.ได้ขยายผลไปยัง ร.ร.ประชานิเวศน์ (ปน.) ดำเนินโครงการนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาผลิตเป็นไบโอดีเซลนำร่องเป็นแห่งแรก!!
ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ เล่าถึงที่มาที่ไปของเรื่องดีๆ นี้ว่า เพื่อเป็นการน้อมนำกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ทรงมองเห็นคุณค่าของปาล์มน้ำมันว่าเป็นพืชวัตถุดิบที่หาได้ในบ้านเราซึ่งมีศักยภาพที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในขณะที่ทั่วโลกกำลังประสบกับวิกฤตด้านน้ำมัน โดยมีแนวโน้มจะใช้เชื้อเพลิงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและ กทม.ก็กำลังประสบกับภาวะที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นตลอดเวลา
ดังนั้น กทม.จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการหาพลังงานทดแทนและยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้การผลิตไบโอดีเซลอันเป็นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดย กทม.จะขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ต่อไป และจะให้โรงเรียนอีก 435 แห่งมาศึกษาเรียนรู้ที่นี่
“ผมอยากให้นักเรียน แม่ค้า พ่อค้าในโรงเรียน และประชาชนในชุมชนรวบรวมน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาขายที่จุดรับซื้อที่โรงเรียนประชานิเวศน์เพื่อที่จะได้นำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล จากนั้นกองโรงงานช่างกล กทม.จะนำไบโอดีเซลที่ผลิตได้มาผสมกับน้ำมันดีเซลในอัตราส่วน B5, B10, B20, และ B100 มาใช้กับรถยนต์ รถเก็บขยะรถบรรทุก และเครื่องสูบน้ำของกทม.โดยกทม.จะตรวจสอบสมรรถนะเครื่องยนต์ก่อนและหลังการใช้ไบโอดีเซลเพื่อขยายผลในการดำเนินการต่อไป” ผู้ว่าฯกทม.บอกถึงความตั้งใจ
ด้าน พัชรพล ไชยวัฒนพันธุ์ เจ้าหน้าที่โครงการไบโอดีเซล บริษัท อีซี่ไลน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทใจดีมอบเครื่องผลิตไบโอดีเซลขนาด 100 ลิตรให้กับทาง กทม. บอกว่า ทาง กทม.เป็นผู้ติดต่อทางบริษัทมาเพื่อเข้าร่วมกับโครงการนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาผลิตเป็นไบโอดีเซล โดยเครื่องยนต์ที่ใช้นั้นสามารถผลิตไบโอดีเซลได้ครั้งละ 100 ลิตร ปกติจำหน่ายในราคา 380,000 บาทรวมค่าดำเนินการระบบน้ำเสีย น้ำมันที่จะนำมาใช้ผลิตไบโอดีเซลจำนวน 200 ลิตร
และสารเคมีที่ใช้ในขั้นตอนการผลิตอีก 100 ลิตร รวมถึงเครื่องมือต่างๆ การเก็บตัวอย่างน้ำมันไบโอดีเซลที่ได้ไปทดสอบที่ปตท.จำนวน 3 ครั้งๆละ 30,000 กว่าบาท รวมถึงมีวิศวกรอบรมการใช้เครื่องมืออีก 4 ครั้ง ตลอดจนให้การอบรมการจัดตั้งองค์กรเพื่อให้บริหารจัดการทุกอย่างได้มีประสิทธิภาพโดยทั้งหมดนี้เป็นการให้เปล่าไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่โครงการไบโอดีเซล ได้บอกสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ชาว ปน.จะต้องทำต่อไปว่า ทางโรงเรียนจะต้องจัดหาโรงเรียนเพื่อนำอุปกรณ์เข้าติดตั้ง ตลอดจนติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียเมื่อได้โรงเรือนที่ถาวรแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนอบรมการใช้เครื่องมือจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นแนะนำในเรื่องการบริหารจัดการองค์กร นำน้ำมันไปทดสอบคุณภาพว่าได้ตามมาตรฐานกระทรวงพลังงานหรือไม่โดยทดสอบที่ ปตท. ซึ่งหากพบว่ายังไม่ดีจะนำมาปรับปรุง รวมถึงพาไปสัมมนากับกระทรวงพลังงานซึ่งจะมีชุมชนที่ผลิตไบโอดีเซลหลายร้อยชุมชนจากทั่วประเทศมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสัมมนาอีกด้วย
วรลักษณ์ เดชะไกศยะ อาจารย์ประจำวิชาวิทยาศาสตร์ และที่ปรึกษาชมรมไบโอดีเซล บอกว่า เด็กๆปน.ให้การตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งหลังโรงเรียนได้เปิดชมรมไบโอดีเซลขึ้นมามีนักเรียนให้ความสนใจมากสมัครประมาณ 50 คน จากนั้นทางโรงเรียนจะส่งแกนนำนักเรียนชั้น ป.6 จากชมรมไบโอดีเซลจำนวน 5 คนไปอบรมขั้นตอนการผลิตไบโอดีเซลที่ บมจ.บางจากเพื่อนำมาขยายผลให้กับสมาชิกในชมรมต่อจากนั้นขยายผลต่อให้ครอบคลุมทั้งโรงเรียน
ส่วนการรับซื้อน้ำมันพืชที่ใช้แล้วเพื่อนำมาผลิตไบโอดีเซลในโรงเรียนนั้น เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มรับซื้อหลังจากปีใหม่เป็นต้นไป แต่จะกำหนดวันรับซื้อที่แน่นอนอีกครั้ง
ด.ญ.กุลจิรา ตันเจริญรัตน์-น้องมายด์ นักเรียนชั้น ป.6/6 เล่าถึงความรู้สึกว่า เป็นโครงการที่ดีที่ให้นำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาขายเพื่อนำไปผลิตไบโอดีเซลซึ่งจะไปบอกพ่อกับแม่ว่าที่โรงเรียนมีโครงการที่ดีอย่างนี้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้สอนแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว เช่น สอนการทำปุ๋ยชีวภาพซึ่งผลผลิตที่ได้ก็จะนำไปรดน้ำต้นไม้ นอกจากนี้ทางโรงเรียนยังได้นำไปจำหน่ายแล้วนำเงินมาแบ่งให้นักเรียนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ขอเชิญชวนให้ทุกคนนำน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาร่วมกันผลิตไบโอดีเซลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนเพราะจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนต่อครอบครัวและต่อตนเอง
ส่วน น้องไปป์- ด.ญ.สิริพรรณ เจษฎาวิโรจน์ นักเรียนชั้น ป.6/6 บอกถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้พลังงานงานทดแทนจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วว่า
สิ่งแรกก็คือจะช่วยคนขับรถประหยัดเงิน เพราะตอนนี้ข้าวของทุกอย่าง ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคราคาแพงขึ้น ดังนั้น หากเปลี่ยนมาใช้ไบโอดีเซลก็จะทำให้ประหยัดเงิน
ส่วนตัวแล้วแม้จะไม่ได้ใช้ไบโอดีเซลแต่ที่บ้านก็ได้ใช้แก๊สโซฮอล์ 91 เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันเบนซิลซึ่งแก๊สโซฮอล์ 91 มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 10% ซึ่งจะเป็นการช่วยทำให้เราใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดช่วยพัฒนาประเทศชาติได้อีกด้วย สุดท้ายแล้วรู้สึกดีใจที่มีกิจกรรมดีๆอย่างนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนของตนเพราะเคยเห็นแต่ที่อื่นพอมีที่โรงเรียนก็ดีใจ...
ตัวตนของไบโอดีเซล กระบวนการผลิตไบโอดีเซล ขั้นแรกคือกรองน้ำมันให้ปราศจากสิ่งเจือปน จากนั้นทำการระเหยน้ำออกจะได้น้ำมันที่พร้อมทำปฏิกิริยาเพื่อผ่านกระบวนการทรานเอสเทอริฟิเคชั่น (Transesterification) โดยการเติมแอลกอฮอล์ลงไปจะได้ไบโอดีเซล และกลีเซอลีน ซึ่งกลีเซอลีนสามารถนำไปแปรรูปไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ เช่น ในอุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอาง จากนั้นเป็นขั้นตอนการทำไบโอดีเซลให้บริสุทธิ์ด้วยการระเหยน้ำออกก็จะได้ไบโอดีเซลบริสุทธิ์ 100% ที่พร้อมใช้งาน ส่วนไบโอดีเซลที่สถานีบริการน้ำมันต่างๆ จำหน่าย จะต้องนำมาผสมกับน้ำมันดีเซลในอัตราส่วนที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้เป็นมาตรฐานก่อนที่จะนำมาจำหน่ายให้กับประชาชน จากการทดสอบโดย ปตท.พบว่า การเติมไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วและน้ำมันมะพร้าวในอัตราร้อยละ 0.5 ช่วยเพิ่มการหล่อลื่นได้ถึง 2 เท่า และประสิทธิภาพการเผาไหม้ได้ดีขึ้น มลพิษน้อยลงและเครื่องยนต์มีอัตรากำลังไม่แตกต่างจากเดิม นอกจากนี้ ไบโอดีเซลยังมีคุณสมบัติในการหล่อลื่น ลดการสึกหรอและยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติข้อเด่นเมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซล |