xs
xsm
sm
md
lg

ไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ทางเลือกพลังงานยุคน้ำมันแพง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างน้ำมันไบโอดีเซลที่ใช้กับเครื่องยนต์แต่ละชนิด
ดูเหมือนว่าพลังงานทดแทนจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันเชื้อเพลิง จะถูกพูดถึงมากขึ้นในยุคที่น้ำมันขยันทำลายสถิติราคากันอยู่ทุกวันนี้ และไบโอดีเซลก็เป็นอีกแหล่งพลังงานหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันดีเซลจากปิโตเลียม และสามารถผลิตจากแหล่งพลังงานหมุดเวียน เช่น น้ำมันพืช ไขมันสัตว์ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทย หลายส่วนได้เริ่มผลิต และใช้ไบโอดีเซล ที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันพืชที่ใช้จากการปรุงอาหารแล้วแพร่หลายยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อการพัฒนาการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้มีประสิทธิภาพ และเป็นผลดีต่อประเทศในอนาคต มีผู้คิดค้นสูตรไบโอดีเซลออกมาใช้หลายสูตรเพื่อให้เหมาะสมกับชนิดของเครื่องยนต์ แต่การศึกษาผลของการใช้ไบโอดีเซลยังมีไม่มาก ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติ อัตราการสิ้นเปลือง และผลต่อสภาพแวดล้อมเป็นต้น ด้วยเหตุนี้ เอง ภุญชัย รสเครือ และอนุเทพ แสงใส นักศึกษา สาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) จึงได้ร่วมกันศึกษา เพื่อวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำมันไบโอดีเซล ในแต่ละสูตร(B15,B30,B50) โดยได้ทำการทดลองตามสภาพการใช้งานจริง
ทำการทดสอบ
ภุญชัย หนึ่งในเจ้าของผลงานเล่าว่า “เดิมทีผมเป็นพนักงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนภูมิพล และที่เขื่อนภูมิพลได้ทำการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว และนำไปใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล รถบรรทุกขนาดเล็ก ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน แต่ยังไม่มีการศึกษาถึงผลของการใช้น้ำมันไบโอดีเซล จากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วผสมน้ำมันดีเซล ว่าผลลัพธ์ที่เกิดต่ออัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง คุณสมบัติของน้ำมันหล่อลื่นของรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ชนิดห้องเผาใหม่ล่วงหน้าของรถบรรทุกเล็ก และผลลัพธ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม จากการใช้ใบโอดีเซล จากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว (ตามครัวเรือน ตามร้านอาหาร)

ดังนั้น เขากับเพื่อนจึงร่วมกันศึกษาและวิเคราะห์และสรุปผลการใช้ไบโอดีเซลดังกล่าว เพื่อประโยชน์ และเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจจะใช้น้ำมันดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วต่อไป ซึ่งโดยปกติที่เขื่อนภูมิพลผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว 3 สูตรคือ B15,B30,B50 และน้ำมันที่ใช้แล้วก็ได้จากร้านอาหาร ในครัวเรือนของเจ้าหน้าที่ในเขื่อน และจากประชาชนรอบนอกที่นำน้ำมันที่ใช้แล้วมาขายให้กับทางเขื่อน”

โดยใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลยี่ห้อ TOYOTA HILUX รุ่น LN85 จำนวน 6 คัน ใช้น้ำมันไบโอดีเซล B15,B30,B50 อัตราส่วนการผสมโดยปริมาตร ระหว่างน้ำมันพืชที่ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตเป็นไบโอดีเซลผสมดีเซล 15:85, 30:70 และ 50:50 โดยปริมาตรกับน้ำมันดีเซล ระยะทางไม่น้อยกว่า 2,500 กิโลเมตร และวิเคราะห์ ตรวจสอบเมื่อใช้งานจริงเป็นระยะทางทุกๆ 500, 1,000, 1,500, 2,000 และ 2,500 กิโลเมตร

ผลจากการทดสอบด้านคุณสมบัติน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้วทั้ง 3 สูตร พบว่า B15 มีค่าคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซล และผลต่อไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงในระยะยาว มีการจับเป็นไข บริเวณไส้กรองเชื้อเพลิง น้อยกว่า B30 และ B50, คุณสมบัติน้ำมันหล่อลื่น จากการวิเคราะห์ ค่า IR Analysis ไม่พบปริมาณการปนเปื้อนของน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำ และปริมาณเขม่า Oxidation, Nitration และ Sulfat ที่สูงเกินเกณฑ์การเตือนภัยขั้นจุดวิกฤต แต่ที่ระยะทาง 1000 กิโลเมตร ถึง 1500 กิโลเมตร ค่า Soot มีผลการทดสอบอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ B50 มีการเพิ่มของค่า Soot เร็วกว่า B15 และ B30

ส่วนผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม พบว่า การใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว มีค่าต่ำกว่า การใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง คิดเป็น B15=27.08%, B30=33.33% และB50=40.62% (จากการใช้งานปกติ) และอัตราการสิ้นเปลือง พบว่า มีการสิ้นเปลืองสูงกว่าการใช้น้ำมันดีเซล คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ความต่าง B15=2.32%, B30=3.15% และ B50”

เจ้าของผลงานยังกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการวิจัยดังกล่าวได้ร่วมมือจาก สาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องกล คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้คำปรึกษาและแนะแนวทางการทำวิจัย ตลอดโครงการ

นับว่าเป็นการนำสิ่งที่ใช้แล้วกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งลดค่าใช้จ่าย และยังลดปัญหาด้านสภาพแวดล้อมลงอีกด้วย น่าชื่นชม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตส่วนภูมิพลที่เล็งเห็นความสำคัญ และผลักดันให้เกิดประสิทธิผล เป็นการพึ่งพาทรัพยากรที่มีอยู่มาสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นผลดีต่อประเทศชาติในอนาคต และสำหรับท่านใดที่สนใจ การผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว หรือต้องการศึกษาการดำเนินงานก็สามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่ ภุญชัย รสเครือ หมายเลขโทรศัพท์ 08-1886-2780 หรือ 0-5555-9093 ต่อ 2246

กำลังโหลดความคิดเห็น