xs
xsm
sm
md
lg

คนเล่าเรื่องตัวน้อย แห่ง โป่งมะนาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น้องมายและน้องแคทสองพี่น้องยุวมัคคุเทศก์
เรื่องราวของประวัติศาสตร์และโบราณคดี สำหรับเด็กรุ่นใหม่อาจจะถูกตีความเป็นสิ่งที่เก่าเก็บคร่ำครึ แสนจะน่าเบื่อหน่าย ในบางท้องถิ่นโบราณสถาน โบราณวัตถุ ถูกปล่อยปละละเลยจนสูญหาย เนื่องจากคนในชุมชนมองไม่เห็นคุณค่า

แต่เรื่องเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นที่ "แหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานชุมชน บ้านโป่งมะนาว" ต.ห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี อย่างแน่นอน เพราะที่นี่นอกจากผู้คนในชุมชนจะช่วยกันดูแลเอาใส่ใจเป็นอย่างดีแล้ว ยังศึกษาถึงประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของท้องถิ่นตนเองอีกด้วย และยังได้ปลูกฝังสอนให้ลูกหลานในท้องถิ่นเรียนรู้เรื่องราวการอนุรักษ์ของมีค่าในชุมชน ผ่านการทำหน้าที่เป็น “ยุวมัคคุเทศก์”ตัวน้อยคอยเล่าและตอบคำถามแก่นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาเยือน
โครงกระดูกกับขันขนาดเล็กวางครอบอยู่ที่ขากรรไกร
รู้จักแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว

ก่อนที่ไปทักทายทำความรู้จักกับยุวมัคคุเทศก์ตัวน้อย ก็ควรไปทำความรู้จักกับแหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งมะนาวกันเสียก่อน แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว เผยโฉมครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 ได้มีคนนอกพื้นที่เข้ามาขุดหาโบราณวัตถุ ที่บริเวณวัดโป่งมะนาว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่อยงานราชการและได้พบโบราณวัตถุมากมายหลายประเภท ฝังอยู่ร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์สมัยโบราณ

การขุดหาโบราณวัตถุโดยไม่ได้รับอนุญาตผ่านไปได้ 2 วันก็ยุติลง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ได้เข้าจับกุมผู้ขุดหาโบราณวัตถุ ทางวัดโป่งมะนาวรวมทั้งคณะกรรมการหมู่บ้านและผู้นำองค์กรต่างๆในท้องถิ่นตำบลห้วยขุนรามได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวไว้ จึงรวมตัวกันตั้งชมรมอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีและทรัพยากรธรรมชาติตำบลห้วยขุนรามขึ้นมาและได้ขุดขยายหลุมจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์สมัยโบราณ

ในหลุมจัดแสดงโครงกระดูกนี้ ได้พบโครงกระดูกคนจำนวนมากและมีโครงกระดูกที่พิเศษโครงหนึ่ง มีภาชนะสำริดลักษณะเหมือนกันขนาดเล็ก วางครอบอยู่ที่ขากรรไกรของโครงกระดูก
หนึ่งในโครงกระดูกยุคก่อนประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ชาวบ้านโป่งมะนาวยังได้รวบรวมโบราณวัตถุมาจัดแสดงไว้ที่วัดโป่งมะนาว รวมทั้งได้ขอความร่วมมือจากคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร มาทำการขุดค้นทางวิชาการโบราณคดีและการจัดทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่วัดโป่งมะนาว

หลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านโป่งมะนาวประเภทที่พบมากในการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ได้แก่ โครงกระดูกคนมัยก่อนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ฝังเรียงรายกันในพื้นที่สุสานรวมของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคเหล็ก ซึ่งอาจมีอายุเริ่มต้นราว 2,800-2,900 ปีมาแล้ว และอาจปรากฏอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงราว 1,800 ปี

โครงกระดูกคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ขุดค้นพบนั้น มีทั้งโครงกระดูกของเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งเพศหญิงและชาย ซึ่งถูกฝังไว้ในหลุมตื้นๆโดยจัดวางศพให้อยู่ในท่านอนหงายเหยียดยาวจงใจทุบภาชนะดินเผาหลายใบให้แตก นำเศษจากภาชนะดินเผาที่ทุบแตกมาปูรองบริเวณที่จะฝังศพก่อนวางศพทับลงไป แล้วนำดินมากลบทับศพ
 โครงกระดูกเหล่านี้สะอาดได้เพราะมือเล็กๆของเด็กๆ
โครงกระดูกแต่ละโครงมีสิ่งของเครื่องใช้ถูกฝังอยู่ด้วย เครื่องใช้ประเภทหลักที่ถูกฝังไว้กับทุกศพ ได้แก่ ภาชนะดินเผา สิ่งของอื่นที่พบฝังอยู่กับบางศพ ได้แก่ เครื่องมือหรืออาวุธทำด้วยเหล็ก ในบางศพยังได้พบเครื่องประดับทำจากวัสดุชนิดต่างๆ เช่น แก้ว หิน สำริดและกระดองหน้าอกของเต่า

นอกจากนี้ ในบริเวณย่านที่อยู่อาศัยของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยังได้พบภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ที่มีโครงกระดูกทารกอายุน้อยมากบรรจุอยู่ โดยอาจเป็นศพทารกที่เสียชีวิตตอนคลอดแสดงว่า ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคเหล็กที่บ้านโป่งมะนาวมีประเพณีการทำศพ 2 แบบ

การทำศพแบบแรกใช้กับผู้ที่เคยมีชีวิตอยู่ช่วงหนึ่งแล้วเสียชีวิตลง ทำโดยนำศพไปฝังในสุสานรวมและจัดศพให้อยู่ในท่านอนหงายเหยียดยาว ประเพณีการทำศพแบบที่สอง เป็นแบบพิเศษสำหรับทำศพเด็กทารกที่เสียชีวิตตอนคลอดเท่านั้น ทำโดยนำศพบรรจุลงในภาชนะดินเผาใบใหญ่ แล้วฝังในเขตย่านที่อยู่อาศัย
ยุวมัคคุเทศก์กำลังบรรยายต่างหลุมขุดค้นต่างๆ
มัคคุเทศก์ตัวน้อย

รู้จักประวัติของโป่งมะนาวแล้ว ก็ต้องมาทำความรู้จักกับคนยุคปัจจุบันของโป่งมะนาวกันบ้าง สมส่วน บูรณพงษ์ หัวหน้าสถานีอนามัย ต.ห้วยขุนราม ที่รับตำแหน่งเป็นประธานชมรมอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีและทรัพยากรธรรมชาติ ต.ห้วยขุนราม บอกเล่าถึงที่มาของคนโป่งมะนาวสมัยนี้ให้ฟังว่า หลังจากที่รู้ว่าใต้พื้นดินของชาวโป่งมะนาวมีสิ่งล้ำค่า คือ โครงกระดูกสมัยก่อนประวัติศาสตร์และของใช้ เครื่องประดับต่างๆ เราไม่ต้องการให้สูญหายไปอีก ในฐานะคนรุ่นหลังจึงคิดว่าต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน

“ถ้าคนในชุมชนไม่ช่วยกันทำ รับรองแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวไม่เหลืออะไร แต่ที่เป็นทุกวันนี้ได้เพราะเราช่วยกัน นอกจากนี้เรายังช่วยกันปลูกฝังให้เด็กๆในชุมชนรู้จักบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้นด้วยการชักชวนให้เป็นยุวมัคคุเทศก์อีกด้วย”สมส่วนเล่าถึงความภูมิใจที่ได้ทำต่อชุมชนและเล่าถึงวัถตุประสงค์ที่มาของยุวมัคคุเทศก์
ลูกปัดและเครื่องประดับต่างๆที่ขุดพบ
โครงการ "ยุวมัคคุเทศก์" เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 โดยรับสมัครเด็กและเยาวชน อายุ 10-25 ปี มาเป็นยุวมัคคุเทศก์ประจำพิพิธภัณฑ์บ้านโป่งมะนาว โดยที่ผ่านมาได้อบรมไปแล้ว 220 คน ปัจจุบันยุวมัคคุเทศก์แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว มีอยู่ 15 คน เป็นลูกหลานคนในพื้นที่ทั้งหมด ผู้ที่ฝึกเด็กคือครูในโรงเรียนของเด็กด้วย และมีครูของโรงเรียนท่าหลวงวิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่ช่วยฝึกภาษาอังกฤษให้เด็กโดยใช้เวลาช่วงปิดเทอม ช่วงที่เด็กนำชมคือวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ

เมื่ออบรมแล้ว ก็อยากให้เผยแพร่ความรู้ออกไป ยุวมัคคุเทศก์ของที่นี่มี อายุระหว่าง 8-15 ปี มาฝึกการนำชมแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ให้เด็กสามารถนำชมได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้รายละเอียดแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาเที่ยวชมแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวถึงเดือนละ 2,000-3,000 คน
 เหล่ายุวมัคคุเทศก์ของแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว
“ตอนมาสมัครเป็นยุวมัคคุเทศก์ใหม่ๆหนูกลัวโครงกระดูกเหมือนกัน แต่พอทำนานๆไปก็ไม่กลัวแล้ว ได้เจอเพื่อนๆได้รู้ว่ามนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์กินอยู่กันอย่างไร”เสียงใสๆจากน้องมาย เด็กหญิงเบญจมาศ เกียรติเศรณี อายุ 10 ขวบ หนึ่งในยุวมัคคุเทศก์บอกเล่าด้วยความภูมิใจที่ได้ใกล้ชิดผูกพันกับโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์

น้องมายเล่าให้ฟังถึงหน้าที่อันควรปฏิบัติของยุวมัคคุเทศก์ว่า ส่วนใหญ่เหล่ายุวมัคคุเทศก์จะมาในวันเสาร์และวันอาทิตย์ โดยจะอยู่ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ทุกคนเมื่อมาถึงจะต้องช่วยกันทำความสะอาดหลุมขุดค้น โดยจะใช้แปรงทาสีปัดเศษดินและเก็บเศษใบไม้ออกจากโครงกระดูกมนุษย์โบราณ

เสร็จจากการทำความสะอาดโครงกระดูกแล้ว ก็ไปรวมกันอยู่ที่อาคารพิพิธภัณฑ์ภายในวัดโป่งมะนาว ถ้ายังไม่มีนักท่องเที่ยวมาก็จะฝึกซ้อนผลัดกันสวมบทบาทเป็นนักท่องเที่ยวและมัศคุเทศก์ มีการบรรยายเป็นภาษาไทยและภาษอังกฤษสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งได้รับการฝึกอบรมจากพี่ชายที่แสนดีของน้องๆที่ชื่อคณาวุฒิ คำพุก เจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์นั่นเอง
โครงกระดูกมากมายรอคอยให้นักท่องเที่ยวเข้าไปฟังเรื่องราวของพวกเขา
เมื่อนักท่องเที่ยวมาถึง กลุ่มยุวมัคคุเทศก์จะพานักท่องเที่ยวเดินชมหลุมขุดค้นทางโบราณคดี โดยการจับคู่กัน2-3 คน พานักท่องเที่ยวไปชมหลุมขุดค้นต่างๆนับ10หลุมที่อยู่ในวัดโป่งมะนาว ได้แก่ หลุมจัดแสดง ซึ่งเป็นหลุมขุดค้นที่มีโครงกระดูกมนุษย์เพศหญิงที่เชื่อว่าเป็นผู้มีฐานะ หรืออีกนัยหนึ่งอาจเป็นโครงกระดูกของผู้นำชุมชน

หลุมวิชาการที่ 1-4 และหลุมที่อาศัย เมื่อเดินชมหลุมขุดค้นครบแล้ว จะพาชมห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ และโครงกระดูกอีกส่วนในอาคารพิพิธภัณฑ์ ภายในพิพิธภัณฑ์ ตู้จัดแสดงโบราณวัตถุ สิ่งของเครื่องใช้ ตั้งเรียงรายอยู่หลายตู้ ใกล้กันมีแผ่นป้ายแสดงรายละเอียด โดยเด็กๆจะมีมุมอธิบายประจำของใครของมัน

เมื่อถามถึงว่าเป็นยุวมัคคุเทศศก์มานานแค่ไหนและจะเป็นจนถึงเมื่อไร น้อยมาย กล่าวว่า เป็นยุวมัคคุเทศก์มาได้ปีกว่า ตั้งใจจะเป็นไปจนกว่าจะขึ้น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 เพราะเห็นว่าจนถึงช่วงเวลานั้นคงอิ่มตัวแล้วและคงมีรุ่นน้องใหม่ๆเข้ามาเป็นยุวมัคคุเทศก์ต่อไป

นอกจากน้องมายแล้วยังมียุวมัคคุเทศก์ที่อายุน้อยที่สุดอย่าง น้องแคท เด็กหญิงนพมาศ เกียรติเศรณี อายุเพียง 5 ขวบ ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาเป็นยุวมัคคุเทศก์ได้ไม่นาน น้องแคทเป็นน้องสาวของน้องมาย น้องแคทเล่าว่า ที่ตัดสินใจมาทำหน้าที่เป็นยุวมัคคเทศก์เพราะพี่สาวชักชวน อีกทั้งเวลาอยู่บ้านคนเดียวไม่มีเพื่อนเล่นการมาเป็นยุวมัคคเทศก์ทำให้ได้ใกล้ชิดพี่และมีเพื่อนมากมาย
 กำไลเป็นหนึ่งในของที่ขุดพบ
“เห็นน้องแคทต้องเหงาอยู่บ้านคนเดียว มายก็เลยคิดว่าถ้าชวนน้องมาทำงานด้วยน้องจะได้ไม่เหงา อีกอย่างน้องจะได้มีเงินค่าขนมด้วย”เสียงใสๆของน้องมายเอ่ยถึงที่มีของการเป็นยุวมัคคุเทศก์ของน้องสาว

เมื่อหันมาถามน้องแคทว่าถ้านักท่องเที่ยวถามในสิ่งที่เราไม่รู้จะทำอย่างไร สาวน้อยกล่าวอย่างเอียงอายว่า “หนูจะหันไปถามพี่ๆแต่ถ้าพี่ๆเองก็ไม่รู้หนูก็จะเก็บคำถามไว้ก่อน แล้วก็จะไปถามจากพี่วุฒิเจ้าหน้าพิพิธภัณฑ์เอาคำตอบมาให้นักท่องเที่ยว”

น้องแคทยังบอกอีกด้วยว่าการเป็นมัคคุเทศก์ ทำให้มีเงินเก็บเป็นค่าขนมของตัวเองเดือนละ 2,000 – 3,000บาททำให้ช่วยแบ่งเบาภาระของคุณแม่ได้อีกด้วย ส่วนน้องมายก็บอกถึงข้อดีของการเป็นยุวมัคคุเทศก์ว่า ช่วยทำให้ความจำดีขึ้น โดยเฉพาะ วิชา สังคม กับ ภาษาอังกฤษ แต่เหนืออื่นใด คือ ความภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์กับท้องถิ่น
สาวน้อยยุวมัคคุเทศก์กำลังบรรยายข้อมูลอยู่ในพิพิธภัณฑ์
“ดีใจที่ได้มาเป็นยุวมัคคุเทศก์การทำหน้าที่นี้หนูถือว่าเป็นการทำเพื่อชุมชนให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามารู้จักแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาวมากยิ่งขึ้น อยากให้มาเที่ยวกันเยอะๆเพราะพวกหนูจะคอยต้อนรับอยู่ที่นี่”น้องมายกล่าวเชิญชวนเป็นการทิ้งท้าย

เป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีที่เยาวชนของชาติยังมีจิตสำนึกรักบ้านเกิดกันอยู่ ชุมชนอื่นๆที่มีวัตถุดิบดีๆในชุมชนแบบนี้ถ้าจะเอาเป็นแบบอย่างเขาก็ไม่ได้สงวนลิขสิทธิ์

*    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    *    * 

แหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานชุมชนบ้านโป่งมะนาว ต.ห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เปิดให้เข้าชมได้ทุกวันและมีวิทยากรท้องถิ่นนำชม โดยไม่เก็บค่าเข้าชม ผู้ที่สนใจเข้าชมสามารถติดต่อได้ที่ นายสมส่วน บูรณพงษ์ โทร.08-1294-7790หรือองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขุมราม โทร.0-3645-1009,0-3645-9486
กำลังโหลดความคิดเห็น