xs
xsm
sm
md
lg

สว.จัดเสวนามั่นคง ชี้ สงครามโลกครั้งที่ 3 ใกล้กว่าที่คิด “ปณิธาน” ขออย่ารีบปมฐานทัพ “ธนพร” จี้เปลี่ยนนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กมธ.การทหารฯ สว. จัดเสวนา “ความมั่นคงกับอนาคตประเทศ” ชี้ สงครามโลกครั้งที่ 3 ใกล้กว่าที่คิด “ปณิธาน” แนะรัฐปรับสมดุลยุทธศาสตร์ หยุดเร่งตัดสินใจฐานทัพ หวั่นกระทบสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ “ธนพร” ซัดโจทย์ใหญ่เปลี่ยนนายกฯฟื้นศรัทธาถึงแก้มั่นคงได้จริง จี้ ส.ว.เปิดอภิปราย หยุดการเมืองปิดปาก-ถูกล็อบบี้
วันนี้ (16 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา จัดเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “ความมั่นคงกับอนาคตประเทศไทย” โดยมีตัวแทนกองทัพภาคที่ 2 กองบัญชาการกองทัพไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้แทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และตัวแทนเหล่าทัพ เข้าร่วม ส่วนผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ , นายธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์นโยบายและการเมือง, นายวันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

โดย พลเอก สวัสดิ์ ทัศนา ประธานคณะ กมธ.การทหารฯ อภิปรายเปิดการเสวนาตอนหนึ่งว่า สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ กมธ.การทหารฯได้ติดตามสถานการณ์ด้วยความไม่สบายใจมาตลอด ในอารมณ์นี้คิดว่าพี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ คงรู้สึกไม่แตกต่างกัน วุฒิสภาเปิดเวทีนี้เพื่อถกแถลงข้อมูล นำสิ่งที่ได้ในวันนี้ไปสู่การเสนอแนะเชิงนโยบายกับรัฐบาล ด้วยความรู้ความสามารถของวิทยากร และทุกคนที่ร่วมการเสวนาในครั้งนี้

นายวันวิชิต กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาถ้าติดตามโลกโซเชี่ยลฯ จะเห็นว่าคณะกมธ.การทหารฯ ได้รับการชื่นชมจากความกล้าหาญ ในการยื่นตรวจสอบนายกรัฐมนตรีต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการแสดงออกของเสาความมั่นคงในแง่ของการตรวจสอบ เพื่อคลายความหวาดระแวงเรื่องความมั่นคงของประเทศ ขณะนี้บทบาทด้านการป้องกันประเทศ และรักษาอธิปไตยไม่ใช่เฉพาะบทบาทของทหาร แต่พลเรือนมีบทบาทมากขึ้น รวมถึงฝ่ายการเมืองที่ใช้พื้นที่แสดงบทบาทนี้ นี่คือ พัฒนาการของงานความมั่นคงที่ต้องผ่านความเห็น และคำแนะนำจากส่วนอื่นๆนอกเหนือจากกองทัพ ฝ่ายการเมืองต้องมีองค์ความรู้งานด้านความมั่นคงอย่างเพียงพอ ซึ่งความท้าทายของไทยคือความมั่นคงทางชายแดนที่มีปัญหารายล้อม ทุกประเทศในโลกที่มีปัญหามักจะเกิดขึ้นตามพื้นที่ช่องทางธรรมชาติ แต่ไม่เคยทะเลาะกันในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน

นายวันวิชิต กล่าวอีกว่า บทบาทผู้นำทางการเมืองมีความสำคัญมาก ซึ่งผู้นำทางการเมืองต้องมีความรู้ความเข้าใจงานด้านความมั่นคง เพราะหากดูจากสถิติช่วง 5 ปี ของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัวเลขงานด้านความมั่นคงดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ผู้นำทางการเมืองควรมีความรู้สอดประสานกับงานความมั่นคง แต่ปัจจุบันรัฐบาลที่มาจากพลเรือนค่อนข้างให้ความสำคัญเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ เพื่อหวังคะแนนนิยม แตกต่างจากสายงานทหารที่ไม่ได้มองเรื่องความนิยมในอนาคต จึงทำงานด้านความมั่นคงอย่างเต็มที่

นายปณิธาน กล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องความมั่นคงนับจากนี้ไปจะกำหนดอนาคตประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การต่างประเทศ ถือเป็นเรื่องความมั่นคงทั้งนั้น ดังนั้น รัฐบาลต้องตัดสินใจให้ดี ซึ่งขณะนี้ยังตัดสินใจไม่ดีเท่าไหร่ สถานการณ์ขณะนี้ไม่ปกติมากใน 3 เรื่อง คือ 1. เรากำลังเคลื่อนเข้าสู่มหาสงคราม หรือสงครามแบบเบ็ดเสร็จ เราต้องทำให้การเคลื่อนนี้ช้าลง เพราะการกลับมาของสงครามแบบเบ็ดเสร็จครั้งนี้เกิดขึ้นรอบด้านในทุกสมรภูมิ สงครามโลกครั้งที่ 3 ใกล้กว่าที่คิด เราจำเป็นต้องปรามมัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคน 2. สงครามยูเครน-รัสเซีย ไม่ใช่อุบัติเหตุแต่เป็นเรื่องที่มีเหตุผล และสงครามทุกพื้นที่ของทุกมุมโลกจะเกิดความยืดเยื้อซับซ้อนขึ้น และ 3. ภัยคุกคามสมัยใหม่ ทั้งภัยการเมือง ภัยเศรษฐกิจ และภัยสิ่งแวดล้อม ดังนั้น รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี โดยเฉพาะที่ประชิดตัวเรามากที่สุดคือสงครามการค้ากับสหรัฐฯที่เราโดนภาษี 36%

“เราต้องปรับสมดุลทางยุทธศาสตร์ใหม่ ต้องเข้าใจเรื่องความสมดุลที่ซับซ้อน อย่างประเด็นการตั้งฐานทัพ ถ้าจะให้สหรัฐฯ มาตั้งฐานทัพคงทำไม่ได้แน่ เพราะขัดกติกาของเรา และขัดกติกาอาเซียน ถ้าจะให้เช่าทำได้ แต่จะทำอย่างไรให้จีนเข้าใจ จึงอยากเสนอแนะว่าระหว่างนี้ยังไม่ต้องตัดสินใจหลายเรื่องก็ได้ แต่ต้องปรับสมดุลให้ดี” นายปณิธาน กล่าว

นายปณิธาน กล่าวอีกว่า ปัญหาด้านความมั่นคงอย่าทำให้ระบบที่มีอยู่ไม่ทำงาน โดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) วันนี้ระบบทุกอย่างมีอยู่แล้ว และไทยต้องประเมินใหม่หากจะมีการรบกับกัมพูชา ทั้งทางการทูต ทางทหาร และการเมือง ต้องกระทำภายใต้สมช.ทุกอย่าง แต่ยอมรับว่า ภายในสมช.ก็มีปัญหามาก ตนเคยเสนอแก้ไขตั้งแต่ตนอายุ 30 ปี ตอนนี้อายุ 60 ปี ระบบยิ่งแย่กว่าเก่า ดังนั้น สมช.จะต้องมีการประชุมกันก่อนที่จะไปพูดคุยหรือเจรจากับทางกัมพูชา ไม่ใช่มอบหมายให้กองทัพบกแก้ปัญหาหรือพูดคุยเท่านั้น พร้อมเสนอให้ไทยทบทวนเอ็มโอยู 43 เพื่อแก้ไขเป็นเอ็มโอยู 68 บ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และปัญหาในปัจจุบัน

ด้าน นายธนพร กล่าวว่า วันนี้โจทย์ใหญ่ด้านความมั่นคง คือ ต้องเอานายกฯออกจากตำหน่งก่อน ไม่ต้องกลัวการเปลี่ยนม้ากลางศึกแล้วจะแพ้ หากเปลี่ยนนายกฯขอให้มาตามกระบวนการ จะเป็นใครก็ได้ไม่เห็นจะแปลก ทำไมเราต้องคิดว่าเปลี่ยนไม่ได้ โจทย์นี้ต้องฝากวุฒิสภาทุกท่านด้วย กระบวนการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ว่ากันไป แต่กระบวนการยื่นอภิปรายโดยไม่ลงมติของวุฒิสภาเป็นการตรวจสอบทางการเมือง ตนทราบว่ารัฐบาลพยายามล๊อบบี้ไม่ให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น แต่ถามว่า สว. จะยอมหรือไม่ ถามว่าชาวบ้านจะได้เห็นการอภิปรายกี่โมง

อย่างไรก็ตาม ข่าวดีในเรื่องนี้พอมีอยู่บ้าง เพราะเราไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้จบด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตมรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาก็เช่นกันไม่เคยเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นไปตามครรลองรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งวันที่เห็นการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีคำพูดที่ทำให้สังคมไม่สบายใจก็เกิดกระแสตีกลับ เพราะประชาชนไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรที่นอกเหนือจากครรลองตามรัฐธรรมนูญ

“ผมไม่ได้บอกว่าผู้นำต้องมีไอคิว 180 ต้องรู้ทุกเรื่องบนโลกใบนี้ แต่ต้องมีคุณสมบัติความไว้เนื้อเชื่อใจเขาได้ หากเกิดความไว้วางใจจากประชาชนจะทำเรื่องอื่นต่อไปได้ แต่ปัญหาคือเราสูญเสียความไว้วางใจในตัวผู้นำจริงๆ” นายธนพร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น