รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ชำแหละจดหมายทรัมป์ ชี้ขาดดุลเป็น "ภัยคุกคามความมั่นคง" ของสหรัฐฯ และทรัมป์ต้องการ "การต่างตอบแทน" จากไทย พร้อมแนะไทยเร่งปรับแนวทางการต่อรอง เตรียม 3 ทีมสู้ ทีมเศรษฐกิจ ทีมความมั่นคง และทีมช่วยเหลือเยียวยา เน้นย้ำให้เข้าถึงบุคคลสำคัญ 3 คนในรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อ "ลัดคิว" เจรจา โดยเฉพาะข้อเสนอด้านความมั่นคงที่มีต่อสหรัฐฯ
จากกรณีจดหมายแจ้งภาษีทรัมป์ถึงไทยถูกแชร์ไปทั่วอินเทอร์เน็ตหลังผู้นำสหรัฐฯ โพสต์ลงแพลตฟอร์ม Truth Social เรียกเสียงฮือฮาไปทั่ว เนื้อหาลักษณะเชิงคุกคามอ้างขาดดุลกับไทยมานานแต่ยังคงต้องการมีความสัมพันธ์การค้าต่อไป ยืนกรานตั้งป้อมเก็บภาษีอัตรา 36% จากสินค้าไทยเริ่มตั้งแต่ 1 ส.ค แต่ย้ำจะบวกเพิ่มหากไทยเดินหน้าตอบโต้ บลูมเบิร์กเปิดเผย ทีมไทยแลนด์อ้างมั่นใจสามารถต่อรองลดอัตราภาษีได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนถ้าพลาดเตรียมเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในครึ่งหลังของปี
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศได้ออกมาโพสต์ข้อความชำแหละคำต่อคำจดหมายของทรัมป์ว่าต้องการอะไรจากไทย โดยเจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า
"อ่านจดหมายทรัมป์แล้วมองไปข้างหน้า
1. จดหมายของประธานาธิบดีทรัมป์ (อ่านทั้งแบบคำต่อคำและตีความระหว่างบรรทัดที่ไม่ได้เขียน) แบ่งออกเป็น 3 เรื่องสำคัญ คือ:
1.1 เรื่องความมั่นคงของสหรัฐฯ - การขาดดุลการค้าเป็นเรื่องภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกัน (ดูประโยคหัวใจของจดหมายในหน้าแรกย่อหน้าสุดท้ายที่เขียนว่า "This Dificit is a major threat to our Economy, and, indeed our National Security!" และยังมีเครื่องหมาย "!" ลงท้ายกำกับไว้ด้วย)
ปธน.ทรัมป์เคยพูดหลายครั้งเรื่องการขาดดุลระหว่างหาเสียง เราจึงรู้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขส่งออกและนำเข้าที่ต่างกันมากเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความเสียเปรียบของสหรัฐฯ ด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และความเชื่อมโยงต่างๆ ซึ่งในที่สุดแล้วก็กลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของประเทศ ซึ่งคนอเมริกันส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยและเทคะแนนให้ทรัมป์ไปแก้ปัญหา
1.2 เรื่องของสหรัฐฯ กับไทย - ปธน.ทรัมป์ระบุในจดหมายถึงไทยชัดเจนว่าต้องการแก้ปัญหาให้ "สมดุล" และ "ยุติธรรม" โดยจะไม่ซ้ำรอยเดิมที่ "ยืดเยื้อ" "ยาวนาน" และ "ไม่ต่างตอบแทน" (ดู keywords เหล่านี้ในจดหมายหน้าแรก ซึ่งหลายคำยังเน้นสะกดด้วยตัวอักษรใหญ่ให้เห็นว่าสำคัญมาก)
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องความสมดุลแบบง่ายๆ หรือเท่าๆ กัน เพราะเป็นไปไม่ได้ด้วยพื้นฐานที่ต่างกันมากอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่น่าจะเป็นเรื่อง "การต่างตอบแทน" บางเรื่องที่สหรัฐฯ ต้องการเป็นพิเศษจากไทย ซึ่งจะเป็นสมดุลแบบซับซ้อนหรือ "Complex Equalibrium" ที่ไทยเคยทำได้ในอดีต
ในกรณีประเทศอื่นก็เช่นกัน มีเรื่องความมั่นคง การทหาร เทคโนโลยี หรือการต่างประเทศ และที่สำคัญคือ เรื่องของจีน เข้าไปรวมอยู่ด้วยอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น เวียดนาม บราซิล สิงคโปร์ อิสราเอล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น
1.3 เรื่องข้อเสนอและคำขู่ของ ปธน.ทรัมป์ต่อไทย (และต่อหลายประเทศ) - ไทยต้องไม่ประมาท อย่าสำคัญตนผิด และอย่าประเมินคำขู่ของ ปธน.ทรัมป์ต่ำไปเป็นอันขาด (หลายคนบอกว่าอย่าไปเจรจากับคนเสียสติเช่นนี้ หรือมีศาสตราจารย์ระดับโลกคนหนึ่งบอกว่าทรัมป์เป็นคนที่ทั้ง "แปลก" และ "บ้า" ในคนเดียวกัน เป็นต้น) แต่ดูหลายประเทศเป็นตัวอย่างได้ว่าถ้าประเมินผิดแล้วผลเป็นอย่างไร เช่น จีน บราซิล แคนาดา ออสเตรเลีย South Africa เป็นต้น
ปธน.ทรัมป์ขู่ไทยว่าถ้าปรับภาษีขึ้นเท่าไร สหรัฐฯ ก็จะบวกเข้าไปเพิ่มจาก 36% ที่ตั้งไว้ เป็นต้น และถ้าเกิดขึ้นจริง ก็น่าจะมี "ของแถม" มาเล่นงานไทยอีกหลายอย่างด้วย แต่ทรัมป์ก็เป็นนักต่อรองตัวยง จึงเสนอด้วยตัวเองในจดหมาย (ครับ ทางการทูตเขาไม่ค่อยทำกันแบบนี้ครับ) ว่าถ้าไทยปรับเปลี่ยนนโยบายต่างๆ เช่น ลดอัตราภาษี ลดการกีดกัน ควบคุมการสวมสิทธิในการส่งออก ฯลฯ หรือลงทุนสร้างโรงงานที่สหรัฐฯ ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกอย่างรวดเร็ว และจะปรับลดอัตราภาษีลงมาด้วย
ทั้งหมดนี้ ก็ทั้งขู่ทั้งปลอบนั่นเอง แต่บางประเทศก็ชี้ว่าเท่ากับเป็นการปล้นด้วยซ้ำ ซึ่งสำหรับไทย ทรัมป์ย้ำว่าจะเป็นไปในทางไหนก็ขึ้นอยู่กับ "ความสัมพันธ์" (อันดีในภาพรวม) ของทั้งสองประเทศ ไทยจึงต้องชั่งน้ำหนักในเรื่องนี้ให้ดี (การค้ากับสหรัฐฯ ประมาณ 10% ของรายได้เราครับ ผลกระทบต่อคนไทยและเศรษฐกิจไทยจะเท่าไรก็มีตัวเลขคาดการณ์กันให้เห็นแล้ว)
แต่ที่น่าสนใจที่สุด คือ ปธน.ทรัมป์ได้ส่งจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการดังกล่าวไปที่ประมุขของประเทศ หัวหน้าฝ่ายบริหาร และประชาชนของแต่ละประเทศผ่านสื่อสมัยใหม่ไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าถึงมือผู้ที่มีอำนาจจริง ถึงผู้ที่ต้องบริหารนโยบาย รวมทั้งถึงประชาชนที่จะได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้ เพื่อความเข้าใจตรงกันในเรื่องที่สำคัญที่สุดของเขา แม้ว่าจะเถื่อนๆ ดิบๆ และไม่ได้เป็นไปตามระเบียบพิธีการทางการทูตที่ดีสักเท่าไร แต่ก็เป็นไปตามลักษณะนิสัยของ ปธน.ทรัมป์อย่างที่ทราบกัน
2. สิ่งที่ไทยควรจะต้องทำเพิ่มเติมก็คือ: 1) ปรับแนวทางการต่อรองให้มีข้อเสนอด้านความมั่นคงให้ดีขึ้น; 2) ปรับและประกอบทีมขึ้นมาใหม่ให้ครบ 3 ทีม คือ ทีมเศรษฐกิจ ทีมความมั่นคง และทีมช่วยเหลือเยียวยา; และ 3) เข้าให้ถึงคนที่สำคัญที่สุด 3 คนในรัฐบาลอเมริกัน คือ ปธน.ทรัมป์ นาย Pete Hegseth รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนาย Marco Rubio รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อ "ลัดคิว" หรือช่วยสั่งการให้พิจารณากรณีของไทยเป็นพิเศษ เหตุเพราะไทยมีข้อเสนอทางความมั่นคงและการต่างประเทศที่สำคัญต่อสหรัฐฯ (ความสัมพันธ์ส่วนตัวถ้ามี จะนำมาใช้ประโยชน์ตรงนี้ก็ได้ครับและไทยก็เคยทำมาแล้วในอดีต)
ในส่วนของ 3 ทีมนั้น:
2.1 ทีมเศรษฐกิจ ซึ่งมีอยู่แล้วและทำได้ระดับหนึ่งในสภาวะที่จำกัด แม้ว่าช้าไปบ้าง แต่ก็ทำให้เห็นอัตราภาษีที่เป็นจริงของประเทศต่างๆ ก่อนล่วงหน้า แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือ ข้อเสนอไม่น่าดึงดูดใจหรือเร้าใจสำหรับ ปธน.ทรัมป์เท่าที่ควร เพราะไม่มีเรื่องความมั่นคงหรือการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญต่อ ปธน.ทรัมป์ตั้งแต่แรกเหมือนบางประเทศ จึงทำให้อัตรา 36% ที่ออกมานั้นสูงเกินไป ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้ไทยหลายด้าน
แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะรีบเร่งเจรจาอีกรอบก่อนที่จะหมดเวลาในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยไทยได้ส่งข้อเสนอใหม่ที่แทบจะชนเพดานหรือทุบหม้อข้าวไปแล้ว แต่ปัญหาก็คืออาจจะไม่ทันเวลาหรือหลังชนฝาและต่อรองอะไรได้ไม่มากหากไม่มีสายด่วนสายตรงจากคนสามคนสำคัญที่สุดในรัฐบาลอเมริกันดังกล่าวในโค้งสุดท้ายรอบนี้
2.2 ทีมความมั่นคง - หลายคนคงไม่ทราบว่าไทยได้ช่วยเหลือและยังร่วมมือกับสหรัฐฯ ในเรื่องความมั่นคงทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยหลายๆ เรื่องตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เช่น เรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย การส่งผู้ร้ายข้ามแดนหลายกรณี การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การซ่อมบำรุง การซ้อมรบ ช่วยรบ หรือการปฏิบัติการด้านการทหารต่างๆ ในภูมิภาค รวมทั้งด้านไซเบอร์ หรือการต่อต้านยาเสพติด ฯลฯ ทั้งนี้ไม่นับความร่วมมือที่ดีในอดีต เช่น เรื่องสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม สงครามในลาวและกัมพูชา สงครามในตะวันออกกลาง เป็นต้น
ที่สำคัญ ข้อเสนอทางด้านความมั่นคงหลายอย่างนั้นไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่ม หรือถ้าเพิ่มก็ไม่มาก หรือบางเรื่อง เช่นเรื่องอาวุธที่ซื้อกันอยู่แล้ว ก็อาจจะใช้เงินกู้ FMS ของอเมริกันที่ปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำนั่นแหละมาใช้ หรือจะใช้สถานะพันธมิตรพิเศษ Major Non-NATO Ally (MNNA) มาใช้ประโยชน์อย่างจริงจังก็ได้
อีกทั้งบางเรื่องไทยก็ทำให้อยู่แล้ว เช่น การอำนวยความสะดวกด้านความมั่นคงต่างๆ การดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับสหรัฐฯ ในไทย หรือการให้ใช้ฐานทัพแบบจำกัด ก็เคยทำมาแล้ว (หรือจะให้เช่าก็ยังได้) ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะลดลงเพื่อกดดันอเมริกันก็ยังได้ ดังนั้น หากประกอบทีมด้านมั่นคงขึ้นมาได้จริงและให้เข้ามาช่วยเติมความได้เปรียบกับทีมเศรษฐกิจ ก็จะช่วยในการเจรจาได้ดีขึ้นอย่างที่หลายคนอาจจะไม่ได้นึกมาก่อน
แต่ทีมความมั่นคงของไทยคงมีปัญหาในการทำงานกับนาย Marco Rubio รมต.ต่างประเทศของสหรัฐฯ บ้างจากกรณีการส่งชาวอุยกูร์กลับจีน ซึ่งบางคนก็คงอยู่ในบัญชีรายชื่อห้ามเข้าประเทศอเมริกาด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายคนมองว่าตัวเลขสุดท้ายที่จะต่ำกว่าเวียดนามนั้นเป็นไปได้ยากมากแล้ว แต่ที่คาดหวังว่าจะเท่าๆ หรือไม่สูงกว่าเวียดนามหรือคู่แข่งทางการค้าอื่นๆ ของเรามากนัก ก็ยังคงจะพอเป็นได้
2.3 ทีมช่วยเหลือเยียวยา สุดท้ายแล้ว ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ ต้องการเห็นการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ อย่างจริงจัง รวดเร็ว และเป็นระบบ เพราะแน่ชัดแล้วว่าใครจะได้รับผลกระทบอย่างไรและเมื่อไร ดังนั้น ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะชักช้าในการเยียวยาอีกต่อไป หลายประเทศ แม้แต่สิงคโปร์ ก็เริ่มเยียวยากันแล้ว แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะที่ดีกว่าไทย
ในด้านการต่างประเทศ ทีมเยียวยาก็ยังสามารถทำงานร่วมกับสหรัฐฯ หรือพันธมิตรของไทยอีกหลายชาติ ที่จะขอสนับสนุนการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทยในบางเรื่อง โดยยึดหลักที่ว่าหากไทยอ่อนแอลง ก็จะกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติเหล่านั้นอยู่ดี และเรื่องเช่นนี้ ไทยก็เคยทำมาแล้วในอดีตด้วยซ้ำ
3. สรุป การเข้าใจสถานการณ์อย่างแท้จริง การอ่านให้ขาดว่าสหรัฐฯ อยู่ในสภาวะอะไร ปธน.ทรัมป์ต้องการอะไรจากไทยแบบต่างตอบแทน กำลังทำอะไรอยู่ และจะทำอะไรต่อไปนั้น จะนำไปสู่การประกอบทีมไทยแลนด์ที่แท้จริงและมีความหมาย ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นต่อประเทศว่าได้ทำดีที่สุดแล้ว แม้ว่าผลที่ออกมาจะไม่ได้ดีที่สุดเสมอไป"