xs
xsm
sm
md
lg

“หม่อมกร” ชี้ รัฐบาลมุ่งโปรโมตขายก๊าซ NGV จนชะล่าใจ วางมาตรฐานความปลอดภัยไว้ต่ำ โยนผิดให้เอกชนฝ่ายเดียวไม่จบปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หม่อมกร” ชี้ การโปรโมตว่า NGV ปลอดภัย เพื่อส่งเสริมการขาย ตั้งแต่ปี 2547 ทำให้ชะล่าใจเรื่องความปลอดภัย วางมาตรฐานไว้ต่ำ เชื่อรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ เพราะไม่มีระบบตัดก๊าซจากถังเมื่อก๊าซรั่ว เหมือนมาตรฐานยุโรป การโยนความผิดให้เอกชนเพียงฝ่ายเดียวแล้วจบเรื่องนี้ไปเป็นเพียงปลายเหตุของปัญหา

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก คุยกับหม่อมกร ว่า ขอไว้อาลัยน้องๆ เด็กนักเรียน และขอแสดงความเคารพต่อคุณครูผู้กล้าหาญที่เสียชีวิตในโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น

ผมเสียใจมากที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจึงใคร่หาคำตอบให้กับผู้สูญเสีย ผมได้อ่านทบทวนกฎหมายระเบียบของรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับก๊าซ NGV อยู่หลายวัน และได้พบว่า การกระทำของรัฐบกพร่องหลายประการ เป็นสาเหตุสำคัญของรถบัสมรณะในครั้งนี้

โดยมีข้อมูลว่า การใช้ก๊าซเอ็นจีวี ในยานยนต์มีเป็นปกติทั่วโลก ทำไมยานยนต์ติดก๊าซ NGV ไทยจึงเกิดโศกนาฏกรรมอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วเกินกว่า 100 ราย ส่วนใหญ่เป็นรถตู้ติดก๊าซ NGV (ภาพประกอบจากสำนักข่าวต่างๆ)

ส่วนกรณีนี้ รถบัสเพลาหักเฉี่ยวชนขอบทางจนท่อก๊าซ NGV ของถังที่ 8 หลุด หากเป็นตามมาตรฐานยุโรป ระบบก๊าซตัดการจ่ายก๊าซจากหัวถังทันที ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้ได้

จึงมีข้อสังเกตว่า เหตุใดก๊าซจึงไม่ตัดการจ่าย ดังนั้น เมื่อเกิดประกายไฟจึงเกิดเพลิงลุกไหม้รุนแรงทันทีจากก๊าซแรงดันสูงที่พุงออกจากถัง เกิดโศกนาฏกรรมครั้งที่คนไทยลืมเลือนได้ยาก

ปัญหาเกิดขึ้นจากทั้งรัฐและเอกชน

เพราะตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ภาครัฐต้องการโปรโมตการขาย NGV จึงออกกฎเกณฑ์ที่หย่อนยาน และบิดเบือนเรื่องอันตรายของการใช้ก๊าซชนิดนี้ ทำให้อุบัติเหตุของรถที่ไม่รุนแรงกลับนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง

1) การรณรงค์จากหน่วยงานของรัฐด้านพลังงานทำให้คนชะล่าใจเรื่องความปลอดภัย

1.1 การรณรงค์ว่า ก๊าซ NGV ไม่ติดไฟง่ายจึงปลอดภัยกว่า น้ำมันเบนซิน ดีเซลและ ก๊าซหุงต้ม คำโฆษณาของรัฐดังกล่าวเป็นเรื่องทางทฤษฎีในสภาพอุดมคติที่ไม่มีประกายไฟ
แต่ในความเป็นจริงเมื่อเกิดอุบัติเหตุย่อมมีประกายไฟเกิดขึ้น หากท่อก๊าซ NGV รั่ว เช่นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จะเกิดไฟไหม้รุนแรงทันทีในอุณหภูมิปกติ

1.2 การรณรงค์ว่า ก๊าซ NGV เบามากเมื่อการรั่วไหล จะกระจายตัวลอยขึ้น สู่อากาศไม่เป็นอันตรายเพราะไม่สะสมบนพื้นจนเกิดไฟลุกไหม้เหมือนเชื้อเพลิงอื่น ซึ่งเป็นจริงทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติตามกฎหมายไทยจะนำไปสู่หายนะ เพราะหน่วยงานรัฐอนุญาตให้ติดตั้งถังใต้ท้องรถรวมถึงในห้องโดยสาร

ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติท่อก๊าซรั่ว ก๊าซลอยขึ้นจริง แต่พุ่งขึ้นสู่ห้องโดยสารจนเกิดเพลิงไหม้ทั้งคันยากที่จะมีผู้รอดชีวิต

1.3 การรณรงค์จากองค์กรของรัฐให้ใช้คำว่า ก๊าซ NGV ซึ่งหมายถึงรถใช้ก๊าซธรรมชาติ แทนที่จะใช้คำที่ถูกต้อง คือ CNG ซึ่งหมายถึง ก๊าซธรรมชาติอัดแรงดัน ซึ่งต่างประเทศจะให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยมากเป็นพิเศษ เพราะก๊าซแรงดันสูงมาก มาตรฐานความปลอดภัยต้องสูงมากเช่นกัน แต่ไทยกลับตั้งมาตรฐานความปลอดภัยการใช้ก๊าซ NGV ที่ต่ำกว่า

การรณรงค์ของรัฐเพื่อโปรโมทการขายก๊าซ NGV ทั้งสามประการ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่า NGV ปลอดภัยมากที่สุดนี้ ย่อมทำให้ประชาชนและหน่วยงานที่กำกับดูแลชะล่าใจถึงภัยอันตรายจากการใช้ก๊าซชนิดนี้ และนำไปสู่ความประมาทในที่สุด

2) กฎระเบียบที่ไม่รัดกุมอันเป็นสาเหตุสำคัญองโศกนาฏกรรม

2.1 การติดตั้งถัง NGV ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก 2565 สามารถเลือกได้ถึง 3 มาตรฐาน จะเข้มงวดตามยุโรป หรือ หน่อนยานแบบไทยๆ ก็ได้ ปรากฏตามข้อ 3 และสามารถติดตั้งถัง NGV ในห้องโดยสาร ช่องเก็บสัมภาระได้ปรากฏตาม 4 ของประกาศ

ข้อ  การติดตั้งต้องเป็นไปตามมาตรฐาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

(๑) ข้อกาหนดของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจของยุโรปแห่งสหประชาชาติ ECE R110

(๒) มาตรฐานความปลอดภัยที่กาหนดไว้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเช้ือเพลิงในยานยนต์ มาตรฐานเลขที่ มอก. ๒๓๓๓ ดังนี้
(ก) เล่ม ๑ ข้อกาหนดด้านความปลอดภัย
(ข) เล่ม ๒ วิธีทดสอบ

(๓) มาตรฐานขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน เลขที่ ISO ๑๕๕๐๑
ข้อ ๔ การติดต้ังถังหรือเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบให้ปฏิบัติตามวิธีการ ดังต่อไปนี้
……………………….

(7) ถังที่ติดตั้งภายในห้องผู้โดยสาร ห้องผู้ขับรถ ห้องเก็บสัมภาระหรือที่ซึ่งอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ต้องมีเรือนกักก๊าซ (gas tight housing) ที่ติดอยู่ที่ถัง เพื่อป้องกันก๊าซรั่วซึมออกสู่บริเวณห้องที่ติดต้ัง และต้องมีท่อระบายก๊าซ (ventilation hose) สาหรับระบายก๊าซที่รั่วซึมออกนอกตัวรถ

แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นสันนิษฐานว่า ไม่มีเรือนกักก๊าซและท่อระบายก๊าซ

2.2 อุปกรณ์ความปลอดภัยที่แตกต่างกันระหว่าง มาตรฐานยุโรป ECE R110 และ มอก. ๒๓๓๓ หายนะที่ใกล้ตัว

มาตรฐาน ECE R110 กำหนดว่า อุปกรณ์หัวถังต้องมีทั้ง 4 อย่างดังนี้ 1) ลิ้นเปิด ปิดด้วยมือ 2) ลิ้นเปิดปิดอัตโนมัติ (วาร์วไฟฟ้า) เพื่อตัดการจ่ายก๊าซกรณีก๊าซรั่ว 3) อุปกรณ์จำกัดการไหล 4) อุปกรณ์ระบายความดัน

มอก. ๒๓๓๓ ขัอ 4.1 การออกแบบ กำหนดว่า
เรื่องอุปกรณ์หัวถังระบุว่า ต้องมีลิ้นเปิดปิดด้วยมือ หรือ ลิ้นเปิดปิดอัตโนมัติ การใช้คำว่า ”หรือ“ นั่นหมายความว่า มาตรฐานไทยไม่ต้องมีวาล์วไฟฟ้าเพื่อตัดการจ่ายก๊าซกรณีก๊าซรั่วก็ได้ ซึ่งเป็นอุปกรณ์จำเป็นในการรักษาชีวิตคน

นอกจากนี้ ในภาคผนวก ก ข้อ ก 3 ระบุว่า การควบคุมการรั่วของก๊าซกรณีท่อแตก ทำได้ 3 แนวทาง
หนึ่ง ตัดการไหลของก๊าซจากถังแต่ละใบ
สอง จำกัดการไหลด้วยอุปกรณ์จำกัดการไหล
สาม ปล่อยก๊าซออกจากถังอย่างอิสระ

จากระเบียบเช่นนี้ ตัดการไหลของก๊าซจากถังแต่ละใบเมื่อท่อก๊าซรั่วซึ่งจำเป็นต่อชีวิตคน จึงเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญ คือ การปล่อยก๊าซออกจากถังอย่างอิสระนั้นเป็นแนวทางหนึ่งที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้น การโยนความผิดให้เอกชนเพียงฝ่ายเดียวแล้วจบเรื่องนี้ไปเป็นเพียงปลายเหตุของปัญหา เพราะต้นเหตุเกิดจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ผลักดันนโยบายให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซ NGV แม้กระทั่งย่อหย่อนมาตรฐานความปลอดภัยลง เพื่อให้ประชาชนหันไปติดก๊าซชนิดนี้กับยานยนต์มากขึ้น จนเกิดโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

จึงสมควรแก่เวลาแล้วที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะยอมรับความจริง และรีบแก้ไขก่อนจะมีการสูญเสียมากไปกว่านี้

ขอแสดงความเสียอย่างยิ่งกับการจากไปของคนไทยทุกคนและหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มีอำนาจจะสนใจ ใส่ใจกับปัญหานี้อย่างจริงจัง


กำลังโหลดความคิดเห็น