พปชร. มองรัฐให้ข้อมูลก๊าซ NGV สุดปลอดภัย หวังแค่กระตุ้นยอดขาย จนหย่อนมาตรฐานความปลอดภัยลง ย้ำ ยกเลิกทัศนศึกษาแค่ปลายเหตุ ควรแก้ระเบียบให้รัดกุม ปลอดภัย
วันนี้ (8 ต.ค.) ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค และ น.ส.บุณณดา สุปิยพันธุ์ ทีมโฆษกพรรคพลังประชารัฐ แถลงข่าวถึงเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต หน้าอนุสรณ์สถาน จ.ปทุมธานี จนทำให้ครูและนักเรียนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ว่า จริงๆ แล้ว การใช้ก๊าซเอ็นจีวีในยานยนต์มีเป็นปกติทั่วโลก แต่คำถามคือทำไมยานยนต์ที่ติดก๊าซ NGV ในประเทศไทยถึงเกิดโศกนาฏกรรมอย่างต่อเนื่อง และทำให้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วเกินกว่า 100 ราย ส่วนกรณีนี้รถบัสเพลาหักเชี่ยวชนขอบทางจนท่อก๊าซของถังที่ 8 หลุด ถ้าเป็นตามมาตรฐานยุโรป ระบบก๊าซตัดการจ่ายก๊าซจากหัวถังทันที ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้ได้
“ผมจึงเกิดข้อสังเกตว่า เหตุใดก๊าซจึงไม่ตัดการจ่าย ดังนั้น เมื่อเกิดประกายไฟจึงเกิดเพลิงลุกไหม้รุนแรงทันทีจากแก๊ซแรงดันสูงที่พุงออกจากถัง เกิดโศกนาฏกรรมครั้งที่คนไทยลืมเลือนได้ยาก” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปี 2547 ภาครัฐต้องการโปรโมตการขาย NGV จึงออกกฎเกณฑ์ที่หย่อนยาน และบิดเบือนเรื่องอันตรายของการใช้ก๊าซชนิดนี้ ทำให้อุบัติเหตุของรถที่ไม่รุนแรงกลับนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง การรณรงค์จากหน่วยงานของรัฐด้านพลังงาน ทำให้คนชะล่าใจเรื่องความปลอดภัย เช่น การรณรงค์ว่า ก๊าซ NGV ไม่ติดไฟง่ายจึงปลอดภัยกว่า น้ำมันเบนซิน ดีเซล และก๊าซหุงต้ม คำโฆษณาของรัฐดังกล่าว เป็นเรื่องทางทฤษฎีในสภาพอุดมคติที่ไม่มีประกายไฟ แต่ในความเป็นจริงเมื่อเกิดอุบัติเหตุย่อมมีประกายไฟเกิดขึ้น หากท่อก๊าซ NGV รั่ว เช่นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จะเกิดไฟไหม้รุนแรงทันทีในอุณหภูมิปกติ
นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ว่า ก๊าซ NGV เบามากเมื่อการรั่วไหล จะกระจายตัวลอยขึ้น สู่อากาศไม่เป็นอันตราบเพราะไม่สะสมบนพื้นจนเกิดไฟลุกไหม้เหมือนเชื้อเพลิงอื่น ซึ่งเป็นจริงทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติตามกฎหมายไทยจะนำไปสู่หายนะ เพราะหน่วยงานรัฐอนุญาตให้ติดตั้งถังใต้ท้องรถรวมถึงในห้องโดยสาร ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติท่อก๊าซรั่ว ก๊าซลอยขึ้นจริง แต่พุ่งขึ้นสู่ห้องโดยสารจนเกิดเพลิงไหม้ทั้งคัน ยากที่จะมีผู้รอดชีวิต หรือการรณรงค์จากองค์กรของรัฐให้ใช้คำว่า ก๊าซ NGV ซึ่งหมายถึงรถใช้ก๊าซธรรมชาติ แทนที่จะใช้คำที่ถูกต้อง คือ CNG ซึ่งหมายถึงก๊าซธรรมชาติอัดแรงดัน ซึ่งต่างประเทศจะให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยมากเป็นพิเศษ เพราะก๊าซแรงดันสูงมาก มาตรฐานความปลอดภัยต้องสูงมากเช่นกัน แต่ไทยกลับตั้งมาตรฐานความปลอดภัยการใช้ก๊าซ NGV ที่ต่ำกว่า
“การรณรงค์ของรัฐเพื่อโปรโมตการขายก๊าซ NGV ทั้ง 3 ประการ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่า NGV ปลอดภัยมากที่สุดนี้ ย่อมทำให้ประชาชนและหน่วยงานที่กำกับดูแลชะล่าใจถึงภัยอันตรายจากการใช้ก๊าซชนิดนี้ และนำไปสู่ความประมาทในที่สุด” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าว
ม.ล.กรกสิวัฒน์ ยังกล่าวถึงกฎระเบียบที่ไม่รัดกุมซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ เช่น การติดตั้งถัง NGV ตามประกาศกรมการขนส่งทางบก 2565 สามารถเลือกได้ถึง 3 มาตรฐาน จะเข้มงวดตามยุโรป หรือหย่อนยานแบบไทยๆ ก็ได้ ปรากฏตามข้อ 3 และสามารถติดตั้งถัง NGV ในห้องโดยสาร ช่องเก็บสัมภาระได้ปรากฏตาม 4 ของประกาศ โดยข้อ 3 ระบุว่าการติดตั้งต้องเป็นไปตามมาตรฐาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1. ข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจของยุโรปแห่งสหประชาชาติ ECE R110 2. มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเช้ือเพลิงในยานยนต์ มาตรฐานเลขที่ มอก.2333
3. มาตรฐานขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน เลขที่ ISO ๑๕๕๐๑
4. การติดต้้งถังหรือเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบให้ปฏิบัติตามวิธีการ โดยถังที่ติดตั้งภายในห้องผู้โดยสาร ห้องผู้ขับรถ ห้องเก็บสัมภาระหรือที่ซึ่งอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ต้องมีเรือนกักก๊าซ (gas tight housing) ที่ติดอยู่ที่ถัง เพื่อป้องกันก๊าซรั่วซึมออกสู่บริเวณห้องที่ติดต้ัง และต้องมีท่อระบายก๊าซ (ventilation hose) สาหรับระบายก๊าซที่รั่วซึมออกนอกตัวรถ
ในส่วนของอุปกรณ์ความปลอดภัยที่แตกต่างกันระหว่าง มาตรฐานยุโรป ECE R110 และ มอก.2333 ซึ่งมาตรฐาน ECE R110 กำหนดว่า อุปกรณ์หัวถังต้องมีทั้ง 4 อย่างดังนี้ 1. ลิ้นเปิด ปิดด้วยมือ 2. ลิ้นเปิดปิดอัตโนมัติ (วาล์วไฟฟ้า) เพื่อตัดการจ่ายก๊าซกรณีก๊าซรั่ว 3. อุปกรณ์จำกัดการไหล และ 4. อุปกรณ์ระบายความดัน
ส่วน มอก.2333 ขัอ 4.1 การออกแบบกำหนดว่า
เรื่องอุปกรณ์หัวถังระบุว่า ต้องมีลิ้นเปิดปิดด้วยมือ หรือ ลิ้นเปิดปิดอัตโนมัติ การใช้คำว่า ”หรือ” นั่นหมายความว่า มาตรฐานไทยไม่ต้องมีวาร์วไฟฟ้าเพื่อตัดการจ่ายก๊าซกรณีก๊าซรั่วก็ได้ ใช่หรือไม่ นอกจากนี้ ในภาคผนวก ก ข้อ ก 3 ระบุว่า การควบคุมการรั่วของก๊าซกรณีท่อแตก ทำได้ 3 แนวทาง คือ 1. ตัดการไหลของก๊าซจากถังแต่ละใบ 2. จำกัดการไหลด้วยอุปกรณ์จำกัดการไหล และ 3. ปล่อยก๊าซออกจากถังอย่างอิสระ
จากระเบียบเช่นนี้ ตัดการไหลของก๊าซจากถังแต่ละใบ เมื่อท่อก๊าซรั่วซึ่งสำคัญต่อชีวิตคน จึงเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญ คือ ปล่อยก๊าซออกจากถังอย่างอิสระนั้นเป็นแนวทางหนึ่งที่กฎหมายกำหนด
“การโยนความผิดให้เอกชนเพียงฝ่ายเดียวแล้วจบเรื่องนี้ไป เป็นเพียงปลายเหตุของปัญหา เพราะต้นเหตุเกิดจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2547 ที่พยายามผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซ NGV จนมีการย่อหย่อนมาตรฐานความปลอดภัยลง เพื่อให้ประชาชนหันไปติดก๊าซชนิดนี้กับยานยนต์มากขึ้น โดยผู้ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้มีเพียงองค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับก๊าซ NGV เท่านั้น” ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน น.ส.บุณณดา กล่าวถึงกรณีที่มีการประกาศยกเลิกทัศนศึกษาว่า พรรคพลังประชารัฐไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกทัศนศึกษา เพราะจะเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้โลกนอกห้องเรียน และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงขอเสนอแนะให้ปรับปรุงระเบียบ ดังนี้
1. กำหนดระดับชั้นและระยะทางให้เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย
2. กำหนดสัดส่วนจำนวนครูผู้ดูแลที่เหมาะสม
3. ก่อนการเดินทาง ต้องซักซ้อมแผนฉุกเฉิน ทดสอบประตูฉุกเฉิน
4. กำหนดมาตรฐานยานพาหนะให้สูง และมีหลักฐานการตรวจสอบจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ
“เด็กเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าที่สุดของประเทศ เราทุกคนมีหน้าที่ต้องหวงแหน ป้องกัน และพัฒนา” น.ส.บุณณดา กล่าว