เมืองไทย 360 องศา
หลังจากเริ่มมีกระแสคัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ที่เน้นเป้าหมายไปที่การลดระดับเกี่ยวกับจริยธรรมของนักการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนทำให้เสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตการเมืองรอบใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสถานะของรัฐบาล โดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่อาจมีปัญหาในเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน”
ขณะเดียวกัน การวิพากษ์วิจารณ์ที่เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ามัวแต่หมกมุ่นแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ที่เป็นนักการเมือง แทนที่จะสนใจเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านที่เป็นเรื่องเร่งด่วนจากปัญหามากมายในเวลานี้ ทั้งปัญหาน้ำท่วม ปัญหาปากท้อง ทำให้เสียงด่าทอดังระงมไปทั่ว
จะด้วยเห็นสัญญาณในทางลบแบบนี้หรือเปล่าทำให้ฝ่ายรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยได้ส่งสัญญาณถอยออกมาก่อน เหมือนกับ “ชักฟืนออกจากกองไฟ” ก่อนจะไหม้ลุกลามจนควบคุมไม่ได้
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แกนนำพรรคเพื่อไทยแสดงท่าทีล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กันยายน ถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาล 2 พรรค ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เกี่ยวกับจริยธรรมนักการเมือง ว่า ขณะนี้ตนกำลังพยายามนัดพูดคุยให้ได้ทั้งหมด มีทั้งที่เป็นวาระปกติ ที่จะได้พูดคุยกันระหว่างหัวหน้าพรรคการเมือง จะได้ทราบประเด็นว่า เห็นด้วยเหมือนกันก็ไปด้วยกัน ถ้าไม่เห็นด้วยเหมือนกันก็ไม่ต้องไป
นายภูมิธรรม กล่าวว่า เท่าที่ฟังดูเกือบทุกพรรคที่คุยกับตน แต่ก็เป็นการคุย ถ้าจะให้เป็นทางการก็ต้องคุยกันในนามพรรคการเมือง ส่วนมั่นใจหรือไม่ ถ้าได้คุยกับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว จะเดินต่อได้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรม ย้ำว่า ต้องรอให้หัวหน้าพรรคร่วมพูดคุยกันก่อน เพราะยังมีประเด็นเรื่องสถานการณ์ ที่เห็นว่าเหมาะ มีทั้งสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตนว่าไม่มีปัญหา เพียงแต่เราคุยกันให้ชัดเจนว่ามันอยู่ในสถานการณ์ที่เราเกี่ยวข้องมากแค่ไหน และสถานการณ์เป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน ถ้ามีความเห็นแตกต่างกัน ก็จะต้องมีการนัดประชุม โดยตนพยายามจะนัดประชุมให้เร็วที่สุด
ส่วนที่ชาวบ้านมองว่า ทำไมไม่เร่งแก้ปัญหาปากท้อง ก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้มอง และรัฐบาลก็พยายามแก้เรื่องปัญหาปากท้องอยู่แล้ว การบริหารราชการแผ่นดินประเด็นมีเต็มไปหมด หลายอย่างไม่จำเป็นต้องรอก็สามารถทำได้ วันนี้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องแต่ละเรื่อง ก็ทำหน้าที่ของตน ถ้าจะไปสรุปว่าชาวบ้าน มองอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ตรงข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงคือ วันนี้ทุกฝ่ายกำลังทำหน้าที่ ทุกด้าน อย่างฝ่ายเศรษฐกิจก็กำลังดูแก้ปัญหากระตุ้นเศรษฐกิจ ฝ่ายที่รับผิดชอบเรื่องน้ำท่วม ก็ดำเนินการอยู่ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างหยุดหมดแล้วมาทำเรื่องรัฐธรรมนูญ ต้องเข้าใจให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้น จะทำให้ยิ่งสื่อความไม่เข้าใจ และก็ต้องมาอธิบายอีก
นายภูมิธรรม ยืนยันว่า ฟังมาจากพรรคร่วมต่างๆ ตนเป็นคนประสานงาน พยายามจะทำหน้าที่หาข้อสรุป ซึ่งการที่พรรคเพื่อไทยเป็นคนเรียก และบอกว่าเป็นการกดดันพรรคร่วมเพื่อทำเรื่องของตัวเองมันไม่ใช่ และเรามีหลายเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน หากคุยกันเห็นไม่ตรงกันในช่วงต้นจะถอยก็ได้ เพราะนี่คือการร่วมมือกันของพรรคร่วมที่ใช้เหตุและผล
ส่วนเรื่องนิรโทษกรรมจะเดินหน้าต่อในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องแล้วแต่สภา ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ พร้อมระบุว่า ในเมื่อสื่อถามว่าควรจะทำเรื่องอื่นก่อน ก็ควรจะถามเรื่องอื่นก่อนไม่ควรถามเรื่องนี้
ขณะที่ก่อนหน้านั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึง กรณีท่าทีของพรรคภูมิใจไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขมาตรฐานจริยธรรม หลังจากที่ นายภราดร ปริศนานันทกุล รองสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ออกมาแถลงไม่เห็นด้วยว่า คนการเมืองเป็นคนสาธารณะ ถ้าไม่อยากให้ตรวจสอบ ก็เล่นการเมืองไม่ได้ การเข้ามาการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรี แค่เป็นที่ปรึกษาเป็นเลขานุการ หรือรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง กรรมการรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องแจ้งทรัพย์สินแล้ว นั่นคือบทแรกของการตรวจสอบ
“ผมคิดว่า คนที่มาทำงานสาธารณรับใช้บ้านเมือง ใช้อำนาจรัฐในการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ต้องรับการตรวจสอบ เป็นการเช็ค and Balance ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบ นักร้องมีอยู่ทั่วไป เขาก็ร้องได้ ในสิ่งที่เราทำผิด ถ้าเราไม่ได้ทำผิด พิสูจน์อย่างไรก็ไม่ผิด เขาก็มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี หรือถูกฟ้องร้อง ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราเองมากกว่า”
ส่วนจะเป็นจุดยืนของพรรคหรือไม่นายอนุทิน กล่าวว่า มันไม่ใช่จุดยืน แต่มันเป็นวิถีชีวิต ( Day of Life) เช่น “ถ้าไม่อยากตรวจสอบ ก็ให้ทำธุรกิจอยู่ที่บ้าน เสียภาษีตามที่จะต้องเสีย ก็ไม่มีใครสามารถมาบอกให้แสดงทรัพย์สินบริษัทได้ยกเว้นทำผิด”
ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลในการหารือ ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วหรือไม่ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการนัดหมาย พร้อมยืนยันว่า การแถลงของนายภราดร ถือเป็นการแถลงของพรรค
ถามถึงจุดยืนในเรื่องของเรื่องการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในเรื่อง มาตรา 112 นายอนุทิน กล่าว พูดมาตั้งนานแล้วไม่เห็นด้วย ไม่อยากพูดซ้ำๆ
ดังนั้น นอกเหนือจากท่าที ที่ไม่เอาด้วยจากพรรคภูมิใจไทยแล้ว ยังมีพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแนวโน้มจะไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกัน มีเพียงพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ยังไม่ชัดเจน มีเพียงแค่ประเด็นการคัดค้าน ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่ครอบคลุมถึงความผิดตาม มาตรา 112 เท่านั้น ที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย
สำหรับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่เน้นลดมาตรฐานจริยธรรม นอกจากมีพรรคเพื่อไทย ยังมีพรรคประชาชนที่ได้ยื่นเสนอไปก่อนแล้ว โดยเป็นความพยายามจะลดบทบาทขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เป็นต้น
นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังต้องการเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกฎหมายพรรคการเมืองโดยมีเจตนาเปิดทางให้บุคคลที่เคยขาดคุณสมบัติ สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ โดยอ้างความเสมอภาค ซึ่งมองกันว่ามีเจตนาเปิดทางให้ นายทักษิณ ชินวัตร ที่เคยเป็นนักโทษ และเคยต้องโทษจำคุก สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้อีกครั้ง
แน่นอนว่า เมื่อพิจารณาจากกระแสต้านแล้วถือว่า“แรงมาก” และ “แรงเร็ว” แบบไฟลามทุ่งกันเลยทีเดียว อาจเป็นเพราะเสนอเข้ามาแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ ชาวบ้านกำลังเดือดร้อนจากภัยพิบัติ หรือปัญหาปากท้อง แต่พวกนักการเมืองดันเสนอแก้กฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ทำให้ถูกมองว่า “วันๆ ไม่คิดทำอะไร หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องของตัวเอง” เพื่อทำเพื่อ “นายใหญ่” เท่านั้น
กรณีของการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราดังกล่าว และการเสนอแก้ไขร่างกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมือง ที่ต้องการให้คนที่เคยขาดคุณสมบัติ กลับเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคได้นั้น มันก็สามารถมองแบบนั้นได้จริงๆ ขณะเดียวกันยังเกิดขึ้นในท่ามกลางบรรยากาศที่สายตามองพรรคการเมือง และนักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ในแง่ลบจากกรณีเหตุการณ์น้ำท่วมในเวลานี้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ได้เห็นการส่งสัญญาณถอยอย่างชัดเจน เพราะหากดึงดันเดินหน้า ก็อาจพังเร็วก็เป็นไปได้สูงมาก !!