xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนอดีต ส.ว. 'สภาทาส' ต้นตอสู่การปฏิวัติ 2549 บทพิสูจน์ 'มงคล สีน้ำเงิน'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนอดีตส.ว. 'สภาทาส' ต้นตอสู่การปฏิวัติ 2549 บทพิสูจน์ 'มงคล สีน้ำเงิน'แม้โครงสร้างของวุฒิสภาในปัจจุบัน จะแตกต่างจากสภาทาสในอดีตอยู่ไม่น้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือ การครอบงำทางการเมือง



การเปลี่ยนผ่านของวุฒิสภาก็เสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ภายหลังได้ประธานวุฒิสภาคนใหม ซึ่งเป็นไปตามโผ คือ นายมงคล สุระสัจจะ ส.ว. กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 159 คะแนน ต่อด้วย พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 จำนวน 150 คะแนน และ นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 จำนวน 167 คะแนน มองในภาพรวมต้องบอกว่าทุกอย่างมาตามนัดของการสถาปนาส.ว.สายสีน้ำเงิน

แต่ก็ถูกมองว่าวุฒิสภาชุดนี้ขาดความเป็นอิสระ

เส้นทางของวุฒิสภาต่อจากนี้ในเบื้องต้นจะมีเรื่องใหญ่สำคัญ 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2.การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2568 และ 3.ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณพ.ศ.2567 ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์แรกในการแสดงฝีมือตรวจสอบฝ่ายบริหาร

ในระยะยาวบทพิสูจน์สำคัญที่วุฒิสภาภายใต้การนำของ 'มงคล สุระสัจจะ' คือ การทำงานอย่างเป็นอิสระและปราศจากการแทรกแซงของจากฝ่ายการเมือง ปมแรกที่เป็นปัญหาสำคัญอยู่ที่การยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากสังคม

เนื่องจากภูมิหลังของส.ว.หลายคนล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกับค่ายการเมืองทุกสี ทั้งสีแดง สีส้ม และ สีน้ำเงิน จึงไม่แปลกที่เริ่มจะมีการประหวั่นวิตกว่าวุฒิสภาชุดนี้จะซ้ำรอยกับวุฒิสภาที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อนการรัฐประหาร 2549 ที่ได้รับการขึ้นชื่อว่าเป็นสภาทาสหรือไม่

วุฒิสภาในชุดนั้นรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 กำหนดให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง 100% ประกอบกับมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ การลงมติถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมือง และ การคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอำนาจหน้าที่อย่างหลังนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วุฒิสภาถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองอย่างรุนแรง

กล่าวคือ รัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 กำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจเลือกได้เลยว่าจะให้ใครจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ เป็นกรรมการองค์กรอิสระ แตกต่างจากปัจจุบันที่วุฒิสภาจะมีหน้าที่เพียงลงมติว่าจะเห็นชอบกับบุคคลตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมาให้หรือไม่เท่านั้น

เมื่อส.ว.ชุดนั้นมาจากการเลือกตั้งที่ต้องแอบอิงคะแนนเสียงจากฝ่ายการเมือง พอเข้ามาทำงานในสภาก็ต้องอยู่ภายใต้อำนาจการเมืองโดยปริยยาย ส่งผลให้การเลือกองค์กรในห้วงเวลานั้นเต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส จากนั้นองค์กรอิสระที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกเช่นนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในต้นเหตุของวิกฤตการเมืองเสียเอง

จนนำมาสู่การเกิดการรัฐประหารในปี 2549 และเกิดการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขเปลียนแปลงที่มาของวุฒิสภาหลายรอบก่อนจะมาเป็นอย่างที่ปรากฎให้เห็นในรัฐธรรมนูญ 2560

ถ้าใครมองวุฒิสภาแบบไม่โกหกตัวเองมากจนเกินไป ต้องยอมรับว่าเริ่มมีกลิ่นไม่ดีโชยมาพอสมควร เนื่องจากมีฝ่ายการเมืองคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่กฎหมายปัจจุบันจะจับให้ได้ไล่ให้ทัน อย่างมากที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ทำได้เพียงการไล่สอยส.ว.เป็นรายคนที่มีความสุ่มเสี่ยงว่าเป็นส.ว.ไม่ตรงปก ส่วนที่เหลือก็ไม่ต่างอะไรกับการปล่อยเสือเข้าป่าเท่านั้น

แม้ว่าโครงสร้างของวุฒิสภาในปัจจุบันจะแตกต่างจากสภาทาสในอดีตอยู่ไม่น้อย แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย คือ การครอบงำของการเมือง

ถ้าวุฒิสภาชุดนี้ไม่อยากถูกจารึกในประวัติศาสตร์ในฐานะสภาทาสอีกครั้ง คงต้องพิสูจน์ด้วยการทำงานให้ประชาชนได้เห็นผลงาน แทนการใช้ปากพร่ำบอกแค่รักชาติเท่านั้น

----------------------------------------------
Sondhi App เปิดให้ Download ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น