xs
xsm
sm
md
lg

วงเสวนาสรรหาคุณสมบัติ ป.ป.ช.ชงแก้ รธน.ลดสเปก ชี้ สมัครน้อยเหตุงานหนัก เงินน้อย เสี่ยงอิทธิพล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วงเสวนาสรรหาและคุณสมบัติ ป.ป.ช. ชงแก้ รธน. ลดสเปกตัวกรรมการ-คนสรรหา ชี้ กำหนดสูงทำคนสมัครน้อย เหตุงานหนัก เงินน้อย เสี่ยงอิทธิพล ได้ไม่คุ้มเสีย


วันนี้ (2 ก.ค.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดเสวนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการสรรหาและคุณสมบัติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มีนายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการ กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา และอดีต ป.ป.ช. นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ นายมานิตย์ จุมปา และ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ร่วมแลกเปลี่ยน เสนอความเห็นเกี่ยวกับ คุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหา และ กรรมการ ป.ป.ช. โดยมีการนำรัฐธรรมนูญปี 2540 2550 และ 2560 มาเทียบเคียง ให้เห็นถึงปัญหา

นายกล้านรงค์ กรรมการ ป.ป.ช. มีจำนวนมาก แต่คนไม่อยากมาเป็น เพราะงานหนัก ค่าตอบแทนน้อย แต่ทำงาน อีกทั้งคนที่ทำงานในองค์กรอิสระจะต้องถูกตรวจสอบประวัติอย่างเข้มข้น จึงต้องคิดว่าทำอย่างไรให้มีคนสนใจเข้ามาสมัคร แต่หากลดมาตรฐานตำแหน่งลงไปจะมีปัญหา เพราะ ป.ป.ช. ดำเนินการเสร็จไปอัยการสูงสุด และไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ดังนั้นคุณสมบัติกรรมการ ป.ป.ช. นอกจากสุจริตเที่ยงธรรม ต้องมีความกล้าหาญ ส่วนเกณฑ์ต้องเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่ามาไม่น้อยกว่า 5 ปี มองว่า ค่อนข้างเป็นปัญหา ควรปรับให้มีความเหมาะสมมากกว่านี้

นายสมคิด กล่าวว่า มีการกำหนด คุณสมบัติ ของผู้ที่จะมาเป็น ป.ป.ช. ต้องจบการศึกษาอะไร แต่อาจไม่มีความเชี่ยวชาญ ส่วนคุณสมบัติเฉพาะที่กำหนดไว้ ในมาตรา 232 เช่นต้องเป็นผู้พิพากษาอัยการระดับอธิบดี 5 ปี และกำหนดอายุระหว่าง 45-70 ปีทำให้คนมาสมัคร ป.ป.ช.น้อยเพราะผู้พิพากษาก็ทำงานถึง 70 ปีอยู่แล้ว ไม่ได้ถูกใครฟ้องด้วย และได้รับความปลอดภัยในเรื่องต่างๆ แต่ ป.ป.ช.อายุ 70 ก็ต้องพ้นแล้ว เมื่อเทียบกับศาลรัฐธรรมนูญที่ขยายเกณฑ์อายุออกไปเป็น 75 ปี เพราะหากไม่ขยาย ทางศาลรัฐธรรมนูญรู้ดีว่า จะไม่มีใครมาสมัคร จึงมองว่า หาก ป.ป.ช. ขยายเกณฑ์อายุ อาจมีคนอยากมาสมัครมากขึ้น ซึ่งช่วงหลังมาพบว่า ผู้ที่เป็น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็เป็นคนของ ป.ป.ช. เอง ส่วนตัวมองว่า ไม่ได้ดีมาก เพราะไม่มีความหลากหลาย ทั้งยังเห็นว่าคุณสมบัติแบบนี้ จะได้คนมาให้เราเลือกน้อย เพราะงานหนัก เงินน้อยและต้องต่อสู้กับอิทธิพลต่างๆ พร้อมกับถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีทางเลือกน้อยลง และอยากให้กระบวนการสรรหาบุคคลเป็น ป.ป.ช. ต้องเอาคนดีมาเลือกคนดี มาทำหน้าที่

นายสมคิด กล่าวว่า ป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบนักการเมือง ส.ส. ส.ว. หากคนเหล่านี้ตั้งมาจะกล้าไปตรวจสอบหรือไม่ และหากใครมีเสียงข้างมากในสภาคนนั้นก็สามารถตั้งองค์กรอิสระได้หรือไม่ พร้อมระบุปัจจุบันศาลยุติธรรมได้รับการยอมรับ มากที่สุดในบรรดา 3 ศาล คือ ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญที่2ศาลหลังได้รับการยอมรับน้อยมากทั้งที่มีจุดยึดโยงกับจากประชาชน เนื่องจากได้รับการรับรองจาก ส.ว.

อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับการใช้ระบบการเมืองแท้ๆ กับองค์กรอิสระ เพราะเมื่อใดที่วางให้องค์กรอิสระมาจากการเมือง เชื่อว่า องค์กรอิสระจะถูกครอบงำไม่สามารถทำงานได้เต็มที่

“ในโลกนี้ประเทศส่วนใหญ่มีสภาเดียว เราถกเถียงจะมีกี่สภา ส่วนตัวขอถามว่าวุฒิสภา มีประโยชน์อะไร ไม่มีการกำหนดคุณสมบัติการศึกษา ส.ว. แต่มี ส.ว. เพื่อถ่วงรั้ง ส.ส. ถ้ามี ส.ว. อย่างน้อยเหนี่ยวรั้ง ส.ส. ไว้ และไม่ให้ประเทศสวิงไปตามการเมือง ผมโชคดีไม่ต้องไปร่างรัฐธรรมนูญอีก ทุกครั้งเถียงกันเรื่องจะมี ส.ว. หรือไม่ฝากให้คนที่ต้องไปแก้ไขทำยังไงให้ป.ป.ช. ดีที่สุดให้การทุจริตน้อยที่สุด”

นายมานิตย์ มองว่า การกำหนดคุณสมบัติต้องมีอายุงาน 5 ปี เพราะต้องการได้คนมีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ แต่คนที่ครบหลักเกณฑ์นี้ มีน้อย จึงควรขยายวงของผู้ที่จะเข้าข่ายมีคุณสมบัติ ให้กว้างขึ้น ปรับคุณสมบัติการต้องดำรงตำแหน่งระดับอธิบดีหรือเทียบเท่ามาไม่น้อยกว่า 5 ปี เหลือ 3 หรือ 2 ปีซึ่งจะเป็น การแก้อย่างง่ายในระยะสั้น ขณะที่สมบัติของกรรมการสรรหาที่กฎหมายกำหนดไว้สูง จนมีสถิติว่าไม่สามารถหาตัวแทนขององค์กรอิสระไปทำหน้าที่กรรมการสรรหาได้คิดว่าอาจกลับไปใช้ระบบเดิม เช่น ให้ที่ประชุมอธิการบดี เลือกกันเองแล้ว ส่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการสรรหา และมองว่า การควานหาคนมีคุณสมบัติครบถ้วน เป็นข้อจำกัดที่สำคัญ ดังนั้นถ้าปลดล็อคเกณฑ์คุณสมบัติ ก็จะทำให้มีผู้สมัครมากขึ้น แต่ที่อยากให้เปิดกว้างคือให้มีผู้มีประสบการณ์ในเชิงธุรกิจ รู้ช่องทางการทุจริต เข้ามาทำหน้าที่ ป.ป.ช. เพื่อหามาตรการป้องกันปราบปรามการทุจริต

“องค์กรอิสระยังมีความจำเป็นต่อประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญคือการรักษาให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอิสระ องค์กร ป.ป.ช.เป็นที่หมายปองนัมเบอร์วัน เพราะถ้าต้องการหลุดรอดการตรวจสอบ ต้องเข้ามายึดองค์กรนี้ แต่จะยึด ป.ป.ช.ได้ ต้องยึดสว. ให้ได้เสียก่อนและวางกระบวนการสรรหาใหม่หากให้จบที่ ส.ว. และ ส.ว.ไม่มีหลักประกันอิสระ ก็ทำให้ท้าทายว่า ป.ป.ช.ก็จะไม่อิสระ บางคนบอกว่าถ้าคิดไม่ออกบอกไม่ถูกให้เลือกตั้ง ป.ป.ช.ไปเสียเลย แต่เมืองไทยก็มีปัญหา เพราะไม่ได้เลือกคนดีเป็นการเลือกผู้แทน ทางทฤษฎีเป็นเรื่องที่ดีการเลือกตั้งยึดโยงประชาชน จุดเชื่อมโยงมาสู่ ส.ว. ไม่ได้รับความเชื่อถือ ส.ว. ที่จะกำลังจะเข้ารับตำแหน่งมีหลักประกันที่มั่นคงว่าเป็นอิสระ กระบวนการสรรหา ป.ป.ช.ก็จะอิสระ หรือวันข้างหน้า หากเราตัดสินใจจะไม่มี ส.ว.จะมีเพียง ส.ส. จะมีหลักประกันอะไรที่จะทำให้ ป.ป.ช.มีอิสระ”

นายพริษฐ์ กล่าวว่า ประสิทธิภาพและความไว้วางใจที่ ป.ป.ช. มีต่อประชาชนส่งผลต่อการพิจารณาคดีสำคัญ มองว่า เป็นจังหวะที่ดีในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง และระดมความเห็นจากภาพส่วนต่างๆ นำมาสู่การแก้ไข ทั้งนี้เห็นว่าจากเรื่องคุณสมบัติไปถึงการเสนอชื่อการสรรหาและการรับรอง มีอยู่ 3 หลัก ที่อยากเห็น ป.ป.ช.กว้างขึ้น ให้มีการแข่งขัน ให้คนมาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญ หลากหลาย รวมถึงอยากเห็น ป.ป.ช. มีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น และอยากให้ ป.ป.ช.เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมากขึ้น

นายพริษฐ์ ชี้ช่องว่า มีหลักสูตรต่างๆ ที่ทำให้มีโอกาส เข้าถึงตัวกรรมการสรรหาได้ จึงต้องสร้างกลไกป้องกันระบบอุปถัมภ์ ขณะที่มองว่า ส.ว.ชุดใหม่ห่างเหินจากการเลือกตั้ง เพราะให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเองจาก 20 กลุ่มอาชีพ และการที่ไม่ได้รับรองจากองค์กรที่มาจากการเลือกตั้งจะขาดความยึดโยงจากประชาชน พร้อมเสนอแนวคิดที่พบจากประเทศญี่ปุ่น ให้ประชาชน รับรอง ผู้ได้รับการสรรหา เข้ามาเป็น ป.ป.ช.โดย กำหนดเกณฑ์ว่าจำนวนเท่าใดถึงจะผ่านเกณฑ์

นายพริษฐ์ เสนอแนวคิดการแก้ไขกำหนดคุณสมบัติ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องแตกต่างองค์กรอิสระอื่นๆ และตั้งคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นเฉพาะทาง หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ ทั้งนี้เห็นว่า ต้องออกแบบระบบเลือกตั้ง ส.ว.ให้แตกต่างจาก ส.ส. เพราะเห็นว่าการเลือกตั้ง ส.ว. จะเป็นการเชื่อมโยงจากประชาชนตรงที่สุด และสิ่งสำคัญคือจำเป็นต้องมีวุฒิสภาหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นการออกแบบที่ไม่ง่ายต้องคู่ขนานกับสถาบันการเมืองอื่นๆด้วย

“เราต้องการให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบทุจริตเข้มข้นที่สุดในสังคม แต่มีมุมมองเรื่อง มาตรฐานทาง จริยธรรม ต่างกัน การให้องค์กรใดมาผูกขาดคำนิยามเรื่องจริยธรรมและมีผลทางกฎหมายอาจเป็นความท้าทาย พยายามแก้ไขและสร้างวัฒนธรรมให้ผู้มีอำนาจแสดงความรับผิดชอบทางกลไกทางการเมืองน่าจะยั่งยืนและมีช่องโหว่น้อยกว่าที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างกันและกัน มันเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่ากระบวนการแต่งตั้งรับรองจะไปจบที่ไหน ถ้าเราจะแก้กระบวนการสรรหาหรือที่มาขององค์กรอิสระแยกจากการออกแบบสถาบันทางการเมืองทั้งหมด”

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เห็นด้วยในหลายประเด็น จากประสบการณ์ที่ทำงานมา 8 ปีกว่า เห็นว่า การกำหนดคุณสมบัตินั้นทำไว้ดีแล้ว ที่จะต้องมีคุณสมบัติที่ชัดเจน อย่างการบริหารราชการแผ่นดิน การบัญชี เศรษฐศาสตร์ ซึ่งปัจจุบัน ผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช จะต้องเกี่ยวกับเรื่องคดีที่มีความต่อเนื่องถึง 9 ปี ปัจจุบันเราไม่มีสัดส่วนของอัยการ มีตุลาการเพียง 4 ท่าน และตำรวจก็กำลังหมดวาระลง และคาดว่า จะไม่มีเข้ามาอีก เพราะ 5 ปี เป็นเรื่องที่ยากมากจะมีตำแหน่งอธิบดีเข้ามา ทั้งนี้ตนเห็นด้วยในเรื่องคณะกรรมการสรรหาที่จะลดระดับลงมา เพราะการนำตัวแทนขององค์กรอิสระ ไปเป็นกรรมการสรรหาในองค์กรอิสระ จะมีปัญหามากกว่าจะให้คนในองค์กรอิสระนั้นเข้าไป ตามที่วงเสวนาได้เสนอ เพราะกระบวนการสรรหาวันนี้มีผู้ที่สมัครเข้ามาเป็นคณะกรรมการป.ป.ช. ไม่น้อยในแต่ละรอบ และหากลดคุณสมบัติลงมา ก็จะมีผู้สมัครมากขึ้น และจะช่วยหากมีการแบ่งแยกสายที่ชัดเจน ดังนั้น จึงขอให้ดูที่มาตรา 13 วรรค 3 ที่ระบุว่า “วิธีการอื่นใดที่เหมาะสม” เช่น การ “ให้คะเเนน” ยกตัวอย่างมีผู้สมัคร 100 ท่าน มีตำแหน่งว่างแค่ 1-5 ตำแหน่ง จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ผู้สมัครที่เหลือสูญเปล่า ดังนั้น จึงเสนอเเนะให้มีการให้คะเเนนจากประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถจากคุณวุฒิ เพื่อคัดเลือกตามสัดส่วนของกรรมการที่ว่างลง และให้กรรมการสรรหาเป็นผู้สรรหา เพื่อไม่ให้สูญเปล่า ซึ่งคนที่ผ่านเข้ามาทุกคนควรที่จะมีคะแนนอยู่ เมื่อกลั่นกรองมาในระดับหนึ่งแล้ว คนที่ได้อันดับ 1 คือ ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ และผู้ที่ได้คะแนนรองลงมาเป็นตัวสำรอง เพื่อลดขั้นตอน หากผู้ที่ได้คะแนนอันดับ 1 ไม่ผ่านการคัดเลือก ก็นำผู้ที่ได้คะเเนนรองลงมาคัดเลือก เเต่ปัจจุบันหากผู้ที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งไม่ผ่าน ก็จะสูญเปล่าทั้ง 100 คน ถือว่า “เป็นการสูญเปล่าในการบริหารงานบุคคล” เห็นด้วยในแก้ไขกระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการสรรหา เพื่อออกเป็นอนุบัญญัติให้ชัดเจนโปร่งใส


กำลังโหลดความคิดเห็น