“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2567 ตอน ล้มกระดานเลือก ส.ว.ดาบแรกอยู่ที่ กกต.ดาบต่อไปถึงมือศาล รธน.
แม้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะผ่านไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าบรรดาว่าที่ ส.ว.ทั้ง 200 คน อาจยังไม่ได้เดินเข้าได้ง่ายๆ ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง เริ่มส่งสัญญาณมาว่ากระบวนการรับรอง ส.ว.ต้องเลื่อนออกไปจากกรอบเวลาที่เคยกำหนดไว้ในวันที่ 3 กรกฎาคม เนื่องจากมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก
โดยประเด็นสำคัญที่กกต.เห็นว่าควรต้องพิจารณาละเอียด คือ เรื่องการตรวจคุณสมบัติของว่าที่ ส.ว.ที่หลายคนมีแนวโน้มว่าไม่ตรงปก
นอกเหนือไปจากกระบวนการจัดเลือก ส.ว.ที่ช่องโหว่อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 42 ไม่ได้กำหนดให้กกต.ต้องรับรองผลการเลือกส.ว.ภายใน 5 วัน เพียงแต่บัญญัติให้รอให้พ้น 5 วันไปก่อนนับตั้งแต่กกต.ได้รับผลคะแนน จากนั้นถึงค่อยมาพิจารณารับรองส.ว.เท่านั้น จึงหมายความว่ากกต.มีเวลาไม่จำกัดในการพิจารณาปัญหาทั้งหมด ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งที่กกต.ต้องรับรองไปก่อนภายใน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
คำร้องที่ทำให้เกิดประเด็นที่น่าติดตามมีด้วยกัน 2 สาย ได้แก่ สายที่ 1 มาจากนายจักรพงษ์ คงปัญญา อดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กลุ่ม 12 พร้อมตัวแทนอดีตผู้สมัคร ส.ว.ที่พุ่งเป้าไปที่กระบวนการเลือกกันที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยที่มีความลักลั่นมาตั้งแต่การเลือกระดับอำเภอขึ้นมา ซึ่งนอกจากยื่นกกต.แล้วยังได้ร้องไปยังศาลปกครองเพื่อขอให้ไต่สวนฉุกเฉินและสั่งให้กกต.ชะลอการรับรองผลการเลือกส.ว.ออกไปก่อน
ส่วน สายที่ 2 มาจาก 'กล้านรงค์ จันทิก' ส.ว.ชุดปัจจุบันและประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ที่เสนอให้กกต.พิจารณาทบทวนการเลือกส.ว.เช่นกัน โดยเสนอให้กกต.ใช้อำนาจตามมาตรา 59 เพื่อสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกและสั่งให้ดำเนินการเลือกใหม่ หรือนับคะแนนใหม่
อย่างไรก็ตาม มีหลากแง่มุมทางกฎหมายว่าหากพบคนทำผิดกฎหมาย หรือมีคุณสมบัติไม่ครบเพียงแค่คนเดียว กระบวนการเลือกส.ว.ควรเสียไปและเป็นโมฆะทั้งหมดหรือไม่
ซึ่งในเรื่องนี้ 'เจษฎ์ โทณะวณิก' อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าถ้ามีการฮั้วจริงก็ควรเป็นโมฆะทั้งหมด แต่เป็นเรื่องคุณสมบัติก็ควรพิจารณาเป็นรายกรณี สวนทางกับท่าทีของ 'เสรี สุวรรณภานนท์' ส.ว.ปัจจุบัน ที่มองว่าควรพิจารณาเอาผิดเป็นรายบุคคลเท่านั้น
ทั้งนี้ พอมองไปที่เงื่อนไขของกฎหมายมาตรา 59 ซึ่งเป็นประเด็นที่ ‘กล้านรงค์’ ชงขึ้นไปให้กกต.พิจารณานั้นก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน เนื่องจากกฎหมายได้ให้อำนาจแก่กกต.ถึงขนาดสามารถดำเนินการเลือกส.ว.ใหม่ได้เอาไว้ แต่หากมองตามความเป็นจริงแล้ว มีความเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดขึ้น เพราะการทำเช่นนั้นเท่ากับว่ากกต.ประจานตัวเองกลางสี่แยกนั่นเอง
เมื่อมีแนวโน้มว่ากกต.ไม่เห็นด้วย ทำให้อาจต้องไปชี้ขาดกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ แม้ในอดีตศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เคยวินิจฉัยเรื่องกระบวนการในการได้มาซึ่งส.ว.มาก่อน แต่ต้องไม่ลืมว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้การเลือกตั้งส.ส.เป็นโมฆะมาแล้วถึงสองครั้ง
ย้อนกลับไปดูจากแนวคำวินิจฉัยของศาลในอดีตแล้ว ทำให้เห็นร่องรอยที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะเข้ามาเป็นตัวชี้ขาดปัญหานี้เช่นกัน โดยเฉพาะคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ที่เป็นการแสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญต่อความโปร่งใสของกระบวนการในการมาซึ่งผู้แทนปวงชนชาวไทยพอสมควร
ไม่ว่าจะเป็นกรณีหลายเขตเลือกตั้งมีผู้สมัครเพียงคนเดียว ไม่มีผู้สมัคร หรือ การได้เข้ามาเป็นส.ส.ของบางพรรคการเมืองที่ไม่เคยมีส.ส.มาก่อน ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคามเห็นว่าความผิดปกติดังกล่าว ส่งผลให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยเลือกผู้แทนเข้าไปปกครองประเทศ ไม่อาจเป็นไปดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
พิจารณาถึงสถานการณ์การเลือกส.ว.ในปัจจุบันก็มีความผิดปกติไม่ต่างแตกต่างกัน เช่น การลงคะแนนที่มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน การแลกรับผลประโยชน์ หรือแม้แต่ช่องว่างของการกำหนดคุณสมบัติของส.ว. เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับตีความว่าประเด็นเหล่านี้จะกระทบต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ในทำนองเดียวกัน
เพราะฉะนั้น ถ้าดาบแรกในมือกกต.ไม่ทำงาน ดาบต่อไปอาจต้องถึงมือศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อถึงเวลานั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้ เพียงแต่ตอนนี้แค่รอให้เวลาเท่านั้น
------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android