เมืองไทย 360 องศา
ในที่สุดก็มาจนได้ สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อเป้าหมายลดขอบเขตข้อกำหนดเรื่องมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมือง และการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อลดคุณสมบัติของนักการเมืองในการเข้าสู่ตำแหน่ง ซึ่งความหมายโดยสรุปก็คือ เพื่อเปิดทางให้นักการเมืองที่มีปัญหาด้านจริยธรรมเข้ามามีอำนาจโดยสะดวก และยังเป็นการแก้ปัญหาและผลประโยชน์ของนักการเมืองโดยเฉพาะนั่นเอง
คำกล่าวอ้างของฝ่ายเสนอแก้ไขกฎหมายซึ่งมีทั้งฝ่ายพรรครัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน อ้างว่าเพื่อให้คำจำกัดความเกี่ยวกับด้าน“จริยธรรม” มีความชัดเจน ไม่ให้มีขอบข่ายกว้างไกลไม่สิ้นสุดรวมไปถึงการลดอำนาจขององค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้สามารถตีความทำร้ายนักการเมืองจนเกินเหตุ อีกทั้งการแก้ไข พระราชบัญญัติพรรคการเมืองที่ปิดทางการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติ ยังเป็นการปิดกันโอกาสและความเท่าเทียม
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เผยว่าในการประชุมสส.พรรคเพื่อไทย เมื่อ 17 ก.ย. ได้พูดคุยถึงการยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เป็นรายมาตรา และขณะนี้ได้เปิดให้ สส.ของพรรคร่วมลงชื่อเพื่อเสนอต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในช่วงสัปดาห์หน้า
สำหรับรายละเอียดถึงการยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา โดยแบ่งเป็น 6 ประเด็น ได้แก่
1.แก้ไขมาตรา 98 (7) ว่าด้วยการกำหนดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสส. ซึ่งห้ามบุคคลที่ต้องโทษจำคุกโดยพ้นโทษไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดที่ทำโดยประมาทหรือลหุโทษ ให้รวมถึงความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย
2. แก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็น คือ (4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็น “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” โดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูฉบับแก้ไขบังคับใช้ (5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา และ (7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือ ความผิดฐานหมิ่นประมาท แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทน
3.แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรมที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี คือ มาตรา 201 มาตรา202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และ มาตรา246
4. แก้ไข มาตรา 211 ว่าด้วยมติของศาลรัฐธรรมนูญ ในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ที่กำหนดให้ถือเสียงข้างมาก แก้ไขโดยกำหนดเงื่อนไข กรณีเป็นคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพ สส.-สว. สิ้นสุดลง หรือความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และการวินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนตามมาตรา 144 ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ของตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และแก้ไขเรื่องคำวินิจฉัยที่ผูกพันกับทุกองค์กรนั้นให้เฉพาะคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นหลักโดยตรงของเรื่องที่วินิจฉัยเท่านั้นที่จะผูกพัน
5. แก้ไข มาตรา 235 ว่าด้วยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของสส. ซึ่งต้องส่งให้ศาลฎีกาในประเด็นมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ที่กำหนดให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีกำหนดเวลา และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งอีกไม่เกิน 10 ปี โดยแก้ไขระยะเวลา การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 แต่ไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง
6. แก้ไข มาตรา255 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเติมความเป็นวรรคสอง ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถทำได้ และ แก้ไขมาตรา 256 (8) กำหนดรายละเอียดของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านการออกเสียงประชามติ คือแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ และการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ซึ่งได้ตัดเงื่อนไข ในประเด็นการแก้ไขเกี่ยวกับคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่วกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจนั้นได้ออก
ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึง การเตรียมยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ว่า จะยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวต่อสภา และพิจารณาในรัฐสภา โดยจะมีการแก้ไขในหลายเรื่อง ยกตัวอย่าง เช่น การแก้ไขเรื่องความเป็นเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะเดิมใช้คุณสมบัติของผู้สมัครสส. จึงทำให้หลายคนไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ ตนคิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรจะเปิดกว้างให้กับทุกคน
เมื่อถามว่า การแก้ไขนี้ เพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า “ไม่ได้เกี่ยวกับใคร หรือหมายถึงใคร ผมคิดว่าสิทธิเสรีภาพในการเป็นสมาชิกพรรค ควรจะเปิดกว้าง เป็นสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ไม่ควรมีข้อจำกัดมากมาย ก็ไม่ต้องไปพูดว่าหมายถึงใครยังไงอย่างไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราเคยทำมาแล้วในอดีต เพียงแต่ สว.ในนั้นไม่เห็นด้วย ส่วน สว.ชุดปัจจุบันนี้จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็ว่าในอนาคต”
พิจารณาจากคำพูดและเหตุผลในการเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เป็นผลประโยชน์ของนักการเมืองล้วนๆ และที่สำคัญยังเป็นผลประโยชน์ของพวกนักการเมืองที่มีประวัติ “ด่างพร้อย” เคยมีปัญหาเรื่องการทำผิดกฎหมาย ทุจริต คิดมิชอบทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับชาวบ้าน หรือเรื่องปากท้องของชาวบ้านเลยแม้แต่น้อย กลายเป็นเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” อย่างชัดเจน
ขณะเดียวกันหากโฟกัสไปในแบบปลีกย่อยที่ซ่อนเอาไว้ แน่นอนว่าถูกตั้งคำถามว่ามีเจตนาเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกมองว่าเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทย และเจ้าของรัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในเวลานี้อีกด้วย เป็นการเปิดทางให้สามารถกลับเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้อีกครั้ง หลังจากถูกตัดสิทธิ์ เนื่องจากขาดคุณสมบัติจากการถูกพิพากษาจำคุกมาแล้ว
และในอนาคตยังต้องจับตากันอีกว่า จะมีการเสนอ ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่ต้องการให้ครอบคลุมถึงการนิรโทษความผิด มาตรา 112 อีกด้วย ซึ่งทุกเรื่องก็ไม่ได้ต่างกันคือ เพื่อลบล้างความผิดของผู้ที่กระทำผิดที่ตัวเอง และเครือข่ายกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทย และเจ้าของพรรคประชาชน ที่มีปัญหาตกเป็นจำเลย รวมไปถึงอยู่ในสถานะนักโทษในเวลานี้ เท่านั้น
ดังนั้น เมื่อเป็นอย่างที่เห็นก็อย่าได้แปลกใจที่เวลานี้ “กระแสคัดค้าน” จะเริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ กับการเสนอแก้กฎหมาย “แบบสุดซอย” ของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของนักการเมือง ล้วนๆ ไม่ได้เกี่ยวกับชาวบ้านเลยแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันยังเป็นการวัดใจบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เช่น รวมไทยสร้างชาติ และภูมิใจไทยรวมทั้งชาติไทยพัฒนา จะเอาด้วยหรือไม่ แต่เอาเป็นว่าหากยังดึงดันต่อไป เชื่อว่าอาจได้เห็นหายนะอยู่ไม่ไกลแน่นอน !!