xs
xsm
sm
md
lg

โค้งสุดท้าย “บิ๊กตู่” ลอยตัว กำหนดเกมเบ็ดเสร็จ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - นายอนุทิน ชาญวีรกูล
เมืองไทย 360 องศา


เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญ ออกเอกสารข่าวเผยแพร่ผลการประชุมกรณีที่ประธานรัฐสภา ส่งความเห็นของ ส.ว. จำนวน 77 คน ขอให้ศาลฯ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบ มาตรา 132 ว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่... ) พ.ศ. .... มาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 10 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 มาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 และมาตรา 258 ก.ด้านการเมือง (2) หรือไม่ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่


ทั้งนี้ ศาล รธน. ได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคดีเป็นปัญหาทางข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง จึงกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติใน วันพุธที่ 23 พ.ย.นี้ เวลา 09.30 น.

ความหมายก็คือ ต้องมาลุ้นกันว่า ในวันที่ 23 พ.ย.นี้ ศาลฯ จะวินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากผลออกมาว่าขัด ก็ยุ่งเหมือนกัน ก็ต้องกลับไปใช้ฉบับเดิมไปก่อน

ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายพรรคการเมืองดังกล่าว ถือว่าเป็นหนึ่งในสองร่างกฎหมายที่ส่งไปให้ศาล รธน.วินิจฉัย อีกฉบับหนึ่งคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งมีข้อขัดแย้งสงสัย ในเรื่องสูตรหารร้อย กับหารห้าร้อย ยังไม่จบ ก็ยังรอศาลฯ ว่าจะวินิจฉัยวันใด ล่าสุด กำลังรอคำชี้แจงจาก กกต. ที่ให้ส่งคำชี้แจงภายในกรอบเวลาไม่เกิน 15 วัน ดังนั้น หากให้เดาก็น่าจะมีการวินิจฉัยในเดือนถัดไป คือ เดือนธันวาคม และคงการเป็นวินิจฉัยในข้อกฎหมาย ไม่น่าจะมีการไต่สวน เช่นเดียวกับกรณีของกฎหมายพรรคการเมือง แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ การพิจารณาของศาลฯ ว่าจะเป็นแบบไหน ก็ต้องรอ แต่คงไม่นานนัก

นั่นคือ สองเรื่องหลักที่ต้องจับตามอง เนื่องจากมีผลกระทบต่อการเมือง มีส่วนได้เสียสำหรับพรรคการเมือง และการเลือกตั้งที่จะมาถึง โดยเฉพาะบางพรรคที่กำลังลุ้นในเรื่อง “สูตรหารร้อย” อย่างพรรคเพื่อไทย ที่เวลานี้เริ่มเคลื่อนไหวกดดันบ้างแล้ว เนื่องจากเริ่มหวั่นไหวว่า ทุกอย่าง “เริ่มไม่ชัวร์” เริ่มมีความเสี่ยงว่าอาจต้องกลับไปใช้การใช้บัตรเลือกตั้งแบบ “ใบเดียว” และใช้วิธีนับคะแนนแบบเดิม เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 หากผลการวินิจฉัยออกมาว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว (กม.ว่าด้วยการเลือกตั้ง) ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งนาทีนี้ยังคาดเดาได้ยากว่าจะออกทางไหน

ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องที่เชื่อมโยงกัน ก็คือ วาระของสภา ของรัฐบาล ที่เวลานี้ถือว่าไล่หลังกระชั้นเข้ามาทุกทีแล้ว หากนับจนถึงวันที่ 23 มี.ค. 66 ก็เหลือเวลาประมาณ 4 เดือนเท่านั้น ที่เกี่ยวพันกับเรื่องการ “ย้ายพรรค” ของพวก ส.ส.ที่ว่าด้วยการเป็นสมาชิกพรรค ที่ตามกฎหมายต้องสังกัดพรรคภายใน 90 วัน นับจนถึงวันเลือกตั้งหากสภาอยู่ครบวาระ ซึ่งในกรณีนี้ กูรูทางกฎหมายบอกว่า วันที่สามารถย้ายพรรคได้ต้องไม่เกินวันที่ 7 ก.พ.ปีหน้า เพราะ กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง วันที่ 7 พ.ค. 66 แต่หากมีการยุบสภาก่อน ก็ย้ายพรรคได้สะดวก เนื่องจากมีกำหนดเวลาแค่ไม่เกิน 30 วัน

อย่างไรก็ดี ในช่วงสองสามวันนี้กลับมีการเคลื่อนไหวปล่อยข่าวเรื่องการยุบสภาออกมา โดยออกมาจากฝั่งพรรคเพื่อไทย โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ออกมาระบุว่า อาจจะมีการยุบสภาในวันที่ 24 ธ.ค. โดยอ้างเรื่องเงื่อนไขเวลา 90 วัน แต่เมื่อมีการระบุยืนยันจากนักกฎหมายที่ย้ำว่า การนับช่วงเวลาดังกล่าวต้องนับถึงวันเลือกตั้ง ไม่ใช่ช่วงเวลาสภาครบวาระ

แต่อีกด้านหนึ่ง มีการวิเคราะห์กันว่า สาเหตุที่มีการ “ปล่อยข่าว” เรื่องการยุบสภาในช่วงนี้ เป็นเพราะต้องการกดดันศาล รธน. ให้วินิจฉัยออกมาเป็นคุณกับฝ่ายตัวเองหรือไม่ เนื่องจากหวั่นไหวในเรื่องกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง อาจไม่ใช่สูตรหารร้อย อาจเป็นสูตรหารห้าร้อย รวมไปถึงกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และนับคะแนนแบบเดิม

ขณะเดียวกัน เมื่อกล่าวถึงเรื่องการยุบสภาก็ต้องหันมาพิจารณาท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจในการยุบสภา แต่เมื่อได้เห็นอาการแล้ว กลับไม่มีท่าทีใดๆ ออกมา และเมื่อถูกถามเรื่องนี้เขาก็ตอบเพียงว่า “ไม่ทราบ” และไม่ตอบ


ส่วนอีกคนหนึ่งที่น่าจะมีส่วนในการตัดสินใจ ก็คือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ตอบคำถามสั้นๆ ว่า “ไม่มี” ดังนั้น ความหมายก็คือ ยังไม่มีความคิดในการยุบสภาภายในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ ค่อนข้างแน่ ส่วนหลังจากนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือเป็นวันไหน เดือนไหน ค่อยมาว่ากันอีกที

อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญ อย่างพรรคภูมิใจไทย โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรค ก็ย้ำว่า ไม่ได้รับสัญญาณจากนายกฯ ในเรื่องดังกล่าว และยืนยันว่า รัฐบาลยังทำงานในเวลาที่เหลืออย่างเต็มที่แบบไม่มีแผ่ว หรือใช้คำว่า “สโลว์ดาวน์” แต่อย่างใด ก็แสดงว่า ภายในปีนี้ยังไม่น่าจะมีการยุบสภา

สำหรับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอนนี้ถือว่า “นิ่ง” มาก และเป้าหมายมุ่งโฟกัสไปที่การประชุมเอเปกในวันที่วันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้เป็นหลัก งดตอบเรื่องการเมืองมานานหลายสัปดาห์แล้ว ทางหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่ต้องการให้เกิดการต่อความยาวสาวความยืด เกิดแรงกระเพื่อมโดยไม่จำเป็น ส่วนอีกทางหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวเอง “ถือไพ่เหนือกว่า” ในแบบ “คุมเกมได้เบ็ดเสร็จ” หรือเปล่า เพราะหลังจากที่หยุดการเว้นวรรคกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งทุกอย่างก็เริ่มเข้าทาง

และยิ่งใกล้ครบวาระมากเท่าใดมันก็ยิ่งอยู่ในสภาวะ “ลอยตัว” แรงกดดันกลับไปอยู่ที่พรรคการเมือง และ ส.ส.ที่ต้องมาจดจ่ออยู่กับว่าจะยุบสภาเมื่อไหร่ และจะย้ายพรรคทันกำหนดเวลาหรือไม่ รวมไปถึงต้องมาลุ้นว่า “บิ๊กตู่” จะไปต่อหรือไม่ หรือจะไปสังกัดพรรคไหน อะไรแบบนี้ ขณะที่เจ้าตัวยังอุบไต๋ ไม่ยอมแสดงท่าทีออกมาให้ชัดเจน

อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่า หลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปก พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะแสดงความชัดเจนออกมาแน่นอน แม้ว่าเรื่อง “ไปต่อ” ยังไม่ชัวร์ยังห้าสิบห้าสิบ แต่เรื่องยุบสภาตามรูปการณ์แล้วน่าจะหลังปีใหม่ อย่างช้าต้องไม่เกินต้นกุมภาฯค่อนข้างแน่ เพื่อเปิดทาง ส.ส.ย้ายพรรค รวมไปถึงตัวเองที่ต้องสังกัดพรรคด้วย (หรือเปล่า) !!



กำลังโหลดความคิดเห็น