เมืองไทย 360 องศา
บรรยากาศการเมืองยามนี้ ต้องบอกว่าเหมือนไม่มีอะไรคืบหน้า แต่ก็ไม่ถึงกับหยุดนิ่งกับที่ มันเหมือนกับว่ารอความชัดเจนอะไรบางอย่าง ทำให้แต่ละฝ่ายยังไม่ขยับ หรือออกตัวแรง
ที่ต้องติดตาม ก็คือ ท่าทีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ล่าสุด ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมาสำหรับอนาคตทางการเมืองของเขา ว่าจะเอาอย่างไร จะไปต่อหรือไม่ไปต่อ โดยยังอุบเงียบไม่ตอบคำถามตรงๆ
ภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 วันที่ 26 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ประเด็นทางการเมือง โดยผู้สื่อข่าวถามว่า จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือไม่ และคิดอย่างไรกับแนวคิดนายกฯ คนละครึ่ง กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรค พปชร. โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “การเมืองผมไม่พูด” พร้อมกับเดินขึ้นไปนั่งในรถ
เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามถามอีกว่า นายกฯ จะมีความชัดเจนได้เมื่อไหร่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น” พร้อมกับโบกมือส่งสัญญาณให้คนขับรถเคลื่อนรถออก เมื่อถามย้ำอีกว่า คิดว่า มีความจำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบคำถาม ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แสดงว่า จะสมัครเป็นสมาชิกพรรค ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ หันมากล่าวว่า “ไม่รู้” ก่อนที่ขบวนรถจะเคลื่อนออกไปยังตึกไทยคู่ฟ้า
ก็เป็นอันว่า ท่าทีทุกอย่างของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นแบบเดิม นั่นคือ ไม่ตอบคำถามเรื่องการเมือง ซึ่งดำเนินมาแบบนี้นานราวสองสัปดาห์แล้ว และเชื่อว่า จะเป็นแบบนี้ต่อไปจนถึงเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปก ในกลางเดือนหน้า
ทางหนึ่งก็เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมโดยไม่จำเป็นระหว่างวาระสำคัญนี้ เพราะหากพิจารณาหลายอย่างย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เช่น การแสดงท่าทีไม่ปรับคณะรัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐ โดยจะเป็นการปรับเฉพาะโควตาของพรรคประชาธิปัตย์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามที่มีการร้องขอมาเท่านั้น หรือหากเพิ่มเติมเข้ามารวมทั้งหมดก็ไม่น่าเกินสองตำแหน่ง โดยอาจจะเป็นโควตาของนายกฯ ตามที่คาดกันว่า จะเป็น นายทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตประธานที่ปรึกษานายกฯ ด้านเศรษฐกิจ และอดีตเลขาฯสภาพัฒน์
การปรับคณะรัฐมนตรีในลักษณะแบบนี้ ก็เพื่อป้องกันแรงกระเพื่อมทางการเมือง ที่อาจทำให้บานปลายจนยากควบคุม โดยเฉพาะในช่วงท้ายรัฐบาลที่อาจมีความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อม อย่างไรก็ดี หากมองกันแบบพินิจพิเคราะห์ มันก็อาจมีคำตอบในตัวเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะหากต้องการวิเคราะห์ให้เห็นถึงอนาคตทางการเมืองของ “บิ๊กตู่” คนนี้ ว่ามีแนวโน้มจะ “ไปต่อ” มากกว่าไม่ไปต่อ
เพราะมองจากท่าทีการปรับคณะรัฐมนตรีที่เป็นลักษณะ “ปรับเล็ก” เน้นตามความจำเป็น ป้องกันเสถียรภาพของรัฐบาล ป้องกันแรงกระเพื่อมจากความขัดแย้งแย่งเก้าอี้ภายในพรรคการเมือง ซึ่งเสี่ยงต่อการทำลายภาพลักษณ์ทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล
เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการรักษาบรรยากาศแบบนี้ไปจนถึงการประชุมเอเปก ต่อเนื่องไปจนครบอายุรัฐบาลที่ยังเหลืออีกแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น
ขณะเดียวกัน เมื่อต้องพิจารณาถึงแนวโน้มอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะเอาอย่างไร กับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ยังเหลืออีก 2 ปี จนถึงปี 2568 จะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้เขาต้องตัดสินใจ “ไปต่อ” หรือไม่ ซึ่งหากมองท่าทีและความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ ก็น่าจะออกมาแบบนั้น
อย่างไรก็ดี ก็ต้องมาวิเคราะห์กันถึงเหตุผลสนับสนุนว่ามีเรื่องใดบ้างที่ทำให้ต้องไปต่อ และที่สำคัญ นั่นคือ “จะไปต่ออย่างไร” และแบบไหน เพราะอย่างที่รู้กัน ก็คือ ยังมีวาระเหลือแค่ 2 ปี มองอีกมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็นข้อจำกัด และต้องมีวิธีการหาเสียงในลักษณะเฉพาะด้วยเหมือนกัน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ถูกนำเสนอขึ้นมา ก็คือ “นายกฯ คนละครึ่ง” โดยอีกครึ่งที่เหลือเท่าที่มองเห็นในเวลานี้ก็คือ แบ่งกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
ดังนั้น เมื่อสรุปกันในเบื้องต้นว่า แนวทางน่าจะออกมาแบบนี้ นั่นคือ “คนละครึ่ง” แต่วิธีการหลังจากนี้ต้องมาว่ากันในรายละเอียด เช่น การเสนอชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรคพลังประชารัฐ น่าจะต้องมีสองคน หาก “บิ๊กตู่” ต้องการไปต่อ เขาก็ต้องมีชื่อเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนอันดับสองก็ต้องเป็น “บิ๊กป้อม” ซึ่งสูตรนี้บางคนอาจมองเป็นเรื่องตลก หรือหาเสียงยาก แต่ภายใต้เงื่อนไขอันจำกัดแบบนี้ มันก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจ อย่างน้อยหากพิจารณาจากบรรดา “กองเชียร์” ที่ยังต้องการให้ “บิ๊กตู่” ได้อยู่ต่ออีกสักพัก ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา เขากับ “บิ๊กป้อม” ทำงานรับลูกกันดี มีความสัมพันธ์กันมานาน โดยเฉพาะในช่วงที่ “เว้นวรรค” ราวเดือนเศษ ก็ทำหน้าที่รักษาราชการนายกฯ ได้ดี แม้ว่าอาจมองว่ามีจุดอ่อนเรื่องสภาพร่างกาย แต่ในภาวะเวลาที่เหลือรับไม้ต่อแค่ 2 ปี หรืออาจสั้นกว่านั้นก็น่าจะโอเค เป็นการฝากฝีมือก่อนลาโรง
ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนกลับมาที่ “บิ๊กตู่” อีกที หากต้องไปต่อ เชื่อว่า เขาต้องปลดเงื่อนไขเรื่องการ “สืบทอดอำนาจ” หรือเงื่อนไขความไม่เป็นประชาธิปไตยให้น้อยลง นั่นคือ ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ในที่นี้น่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ แล้วเป็นหัวหน้าพรรค หรือประธานพรรคก็ได้ แล้วเป็น “แคนดิเดตเบอร์หนึ่ง” ซึ่งแนวทางแบบนี้น่าจะเป็นไปได้มากทีเดียว เพราะล่าสุด ที่บอกว่า “เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น” เมื่อถูกถามถึงเรื่องความชัดเจน และตอบ “ไม่รู้” เมื่อถูกถามเรื่องจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคเมื่อไหร่ ในความหมายคือ “ไม่ปฏิเสธ” แบบเด็ดขาด
ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์ ก็ยังมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะไปต่อ แต่จะประกาศท่าทีชัดเจนหลังการประชุมเอเปกในกลางเดือนหน้าผ่านไปแล้ว จากนั้นก็จะเข้าสู่โหมดการเมือง การเลือกตั้งเต็มตัว เพียงแต่ตอนนี้ยัง “นิ่ง” เพื่อไม่ให้ทุกฝ่ายเคลื่อนไหวเท่านั้นเอง !!