xs
xsm
sm
md
lg

มาแล้วกม.นิรโทษ ฟอกนักโทษเทวดา-ม.112 !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทักษิณ ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

ในที่สุดก็มาจนได้ หลังจากก่อนหน้านี้พยายามกระมิดกระเมี้ยน ซื้อเวลาออกไปให้นานที่สุด แต่จนแล้วจนรอดก็ต้องออกมาในแนวที่มีเจตนาลบล้างความผิด มาตรา 112 และเป้าหมายให้ครอบคลุมไปถึงความผิดของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่เวลานี้เป็นจำเลยถูกฟ้องในคดีความผิดตามมาตราดังกล่าวในศาลอาญา

ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม มีรายงานจากรัฐสภาว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ที่มี นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธาน จะส่งเอกสารรายงานผลการศึกษาและข้อสรุปของคณะกรรมาธิการฯต่อประธานสภาภายในสัปดาห์นี้ หลังจากเลื่อนมาเมื่อวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม เพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาต่อไป หลังจากคณะกรรมาธิการซึ่งตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมสภา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ใช้เวลา 19 สัปดาห์ ในการศึกษาการ ตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ

สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจมากที่สุด คือ คณะกรรมาธิการที่มีตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงบุคคลภายนอก เช่น นักวิชาการ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการให้มีการนิรโทษกรรมคดี 112

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการหารือว่า ควรจะมีข้อเสนอ หรือความเห็นของ กรรมาธิการต่อการนิรโทษกรรมคดี 112 อย่างไร แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปเป็นมติของ กมธ.ได้ เพราะมีความเห็นแตกต่างกัน แม้แต่กรรมาธิการที่มาจากพรรคเดียวกันก็ยังเห็นต่างกัน ทำให้ต้องมีการให้กรรมาธิการแต่ละคนแสดงความเห็นแบบรายบุคคล แล้วให้บันทึกไว้ว่าแต่ละคนเห็นอย่างไร ที่ความเห็นดังกล่าวได้ถูกบันทึกไว้ในรายงานผลการศึกษาดังกล่าวที่จะเสนอต่อสภา โดยแบ่งความเห็นออกเป็นสามฝ่าย คือ เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรม เห็นควรมีการนิรโทษกรรม และ ควรมีการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข

ที่น่าสนใจคือ ผลการประชุม กมธ.นัดสุดท้าย เมื่อ วันที่ 25 กรกฎาคม คณะกรรมาธิการจำนวนที่มี 36 คน ไม่รวม นายชูศักดิ์ ในฐานะประธาน และคณะกรรมาธิการถอนตัวไปหนึ่งคน (นางอังคณา นีละไพจิตร ลาออกไปเป็นสว.) ทำให้เหลือ จำนวน 34 คน

ผลการออกความเห็น แต่ไม่มีการโหวตได้ผลดังนี้ ไม่นิรโทษ ม. 112 จำนวน 13 เสียง นิรโทษ ม. 112 จำนวน 3 เสียง และนิรโทษ ม.112 แบบมีเงื่อนไข เช่น ห้ามกระทำผิดซ้ำ จำนวน 12 เสียง ซึ่งหากดูจากเสียงดังกล่าว เท่ากับว่า แม้จะไม่มีการโหวต แต่เสียงส่วนใหญ่คือ 13 เสียง ไม่เห็นด้วยกับการให้นิรโทษกรรมคดี 112 และ คดี 110 แต่ถ้านำความเห็นที่ว่าให้ นิรโทษ 112 จำนวน 3 คน บวกกับ ให้นิรโทษแบบมีเงื่อนไข 12 คน ก็จะเท่ากับว่า มี กมธ.เห็นด้วยให้นิรโทษคดี 112 จะเท่ากับ 15 เสียง

ด้าน นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เปิดเผยว่า ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้งสามคนมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ ที่จะไม่เห็นชอบให้มีการรวมนิรโทษกรรมคดี ม.112 และ ม.110 ได้แก่ นายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร นายเจือ ราชสีห์ และตนเอง

นายพงศ์พลเผยว่า ความเห็นคณะกมธ.นิรโทษกรรม แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง โดยเป็นการบันทึกความเห็นอย่างมีอิสระ ไม่มีการโหวต ผลความเห็นล่าสุด เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 67 ไม่นิรโทษ112 จำนวน 13 เสียง นิรโทษ112 จำนวน 3 เสียง- นิรโทษ112 โดยห้ามกระทำผิดซ้ำ จำนวน 12 เสียง

“โดยผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ เตรียมยื่นให้ประธานสภาในสัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณาบรรจุเข้าในวาระการประชุมสภา ในลำดับต่อไป ฝากถึงพี่น้องคนไทยที่รักสถาบัน และเชื่อมั่นในความถูกต้อง ติดตามเรื่องนี้ไปด้วยกันอย่างใกล้ชิด”นายพงศ์พล กล่าว

อนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 ที่ กรรมาธิการเห็นว่าเป็นคดีละเอียดอ่อน เช่นเดียวกับคดี 112 มีบทบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท หรือต่อร่างกายหรือเสรีภาพของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี”

ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี”

แน่นอนว่าการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมในครั้งนี้ หากมองแบบไม่ซับซ้อน นอกเหนือจากเรื่องต้องการสร้างความปรองดองของคนในชาติ มีเป้าหมายหลักเพื่อให้เกิดการนิรโทษกรรมกับประชาชนที่กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการการชุมนุมทางการเมือง มีความเห็นต่างจนเกิดความขัดแย้ง ตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อปี 2549 เป็นต้นมา หลายคนต้องติดคุกตะราง มีปัญหาหนี้สิน หมดเนื้อหมดตัว ส่วนใหญ่ก็เป็นระดับชาวบ้านธรรมดา อาจมีบ้างที่เป็นระดับแกนนำ ซึ่งหากเป็นแบบนี้ทุกคนก็ย่อมเห็นด้วย

หากรวบรวมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มการเมืองในชื่อหลากหลาย เช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่ม นปช.หรือที่เรียกกันว่า “คนเสื้อเหลือง- เสื้อแดง” กลุ่ม กปปส.เป็นต้น การกระทำผิดของพวกเขา มีสาเหตุจากเรื่องความขัดแย้ง ซึ่งเป้าหมายสำหรับการนิรโทษกรรมสำหรับพวกเขาเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นชอบ อีกทั้งที่ผ่านมาพวกเขาส่วนใหญ่เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต่อสู้คดีมาเป็นเวลานานดังกล่าว

แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นทุกครั้ง เมื่อมีความพยายาม “สอดไส้” เพื่อช่วยเหลือพวกเดียวกัน หรือ “เจ้านาย” ของตัวเอง เหมือนกับเวลานี้ ที่พยายามให้การนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึงผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคง และที่สำคัญคนพวกนี้มีเจตนากระทำผิด มีการกระทำซ้ำๆ กันหลายครั้งต่อเนื่อง โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และยังย่ำยีความรู้สึกส่วนใหญ่ของคนในชาติ เคลื่อนไหวในสิ่งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการ แต่เมื่อเวลาผ่านไปคดีความต่างๆเริ่มงวดเข้ามา ต้องติดคุก และยังมีคดีที่รออยู่เป็นหางว่าว ทำให้หลายคนที่กลัวติดคุกต้องหลบหนี

ขณะเดียวกันเมื่อย้อนกลับไปพิจารณาต้นตอการกระทำความผิดของคนพวกนี้ แทบทั้งหมดไม่ใช่มาจากเรื่องแรงจูงใจทางการเมืองแต่อย่างใด แต่มาจากการได้รับการป้อนข้อมูล รับความเชื่อมาจากบางกลุ่มที่มีทัศนคติทางลบต่อสถาบันฯที่ยุคก่อนตัวเองกระทำการไม่สำเร็จ จึงใช้วิธีปลุกเร้าให้กับบรรดาเด็กๆรุ่นใหม่ออกหน้าแทน โดยลักษณะการกระทำความผิดก็จะเป็นลักษณะของการ “ดูหมิ่น” กันแบบจงใจและเปิดเผย ไม่ใช่ลักษณะของการวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการแต่อย่างใด

อีกทั้งการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ ที่ถูกจับตามองในระยะหลังว่ามีเป้าหมายเพื่อการนี้โดยเฉพาะนั่นคือ ต้องการให้ลบล้างความผิดครอบคลุมไปถึงบางคน ในที่นี้ก็ย่อมหมายถึง นายทักษิณ ชินวัตร ที่เวลานี้เป็นจำเลยในคดีความผิด มาตรา 112 แม้ว่าที่ผ่านมา กรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย จะพยายามสงวนท่าที ไม่แสดงความคิดเห็นชัดเจน แต่หลังจากที่ นายทักษิณ ตกเป็นจำเลย ก็มีความชัดเจนว่า ต้องครอบคลุมไปถึง 112 ด้วย โดยอ้างความปรองดอง สมานฉันท์ในบ้านเมือง และยังแถมด้วยเหตุผล “ปีมหามงคล” เข้าไปอีก

แน่นอนว่า พวกเขาใช้วิธีแยบยลนั่นคือการเสนอให้นิรโทษแบบมีเงื่อนไข คือ “ห้ามทำผิดซ้ำ” ซึ่งสำหรับ นายทักษิณ ชินวัตร ย่อมเข้าเงื่อนไขนี้ได้ไม่ยากอยู่แล้ว ขอให้ลบล้างความผิดในคดีที่ตกเป็นจำเลยก็เพียงพอแล้ว

อย่างไรก็ดีหากพิจารณากันถึงความเป็นไปได้ที่สภาจะผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ครอบคลุมไปถึงความผิด มาตรา 112 ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง หากพรรคเพื่อไทยจับมือประสานเสียงกับพรรคก้าวไกล แต่ขณะเดียวกันอาจจะสร้างความบาดหมาง ความขัดแย้งรอบใหม่ เนื่องจากมีคนจำนวนมากเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านจนอาจลุกลามบานปลายไปอีก โดยอาจซ้ำรอยนิรโทษ “สุดซอย” ในอดีต ที่เริ่มต้นดี แต่ลงท้ายโดน “ลักหลับ” และไม่ต่างจากครั้งนี้ที่เป้าหมายเพื่อช่วย “นักโทษเทวดา” อีกครั้ง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น