กมธ.นิรโทษกรรม ส่งรายงานให้สภาพิจารณาต่อ ตั้งข้อสังเกตให้ ครม. ควรดำเนินการตรากฎหมายโดยเร็ว เสนอ คืนสิทธิทางการเมืองให้ผู้ได้รับนิรโทษด้วย ย้ำ คดี 112 และ 110 ยังอ่อนไหวและมีข้อขัดแย้งอยู่
วันนี้ (1 ส.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แถลงข่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญได้มีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ก่อนเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป โดยสามารถสรุปผลการศึกษา และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการได้ ดังนี้
1. ช่วงเวลาในการนิรโทษกรรม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 ถึงปัจจุบัน
2. ประเด็นคดีที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม (คดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว) เนื่องจากความขัดแย้งครอบคลุมช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้มีข้อมูลสถิติต้องมาพิจารณาจำนวนมาก เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรม คณะกรรมาธิการจึงเห็นว่า ควรจำแนกออกเป็นคดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว
- คดีหลักคือคดีที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรง เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง
- คดีรองคือคดีที่พ่วงมากับคดีหลัก หรือคดีที่มีความผิดลหุโทษ อย่างไรก็ดี การพิจารณาคดีรองต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่
- ส่วนคดีที่มีความอ่อนไหวคือ คดีที่ยังเป็นข้อขัดแย้งถกเถียงในสังคมอยู่
3. รูปแบบ หรือกระบวนการในการนิรโทษกรรม (การนิรโทษกรรมโดยใช้รูปแบบผสมผสาน)
4. การกำหนดนิยามของคำว่า "การกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง”
“การกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง” หมายความว่า “การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง”
5. ควรกำหนดขอบเขตของการนิรโทษกรรม
6. ข้อดี ข้อเสียการนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมในคดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหว
7. ความเห็นของกรรมาธิการเกี่ยวกับคดีที่มีความอ่อนไหว (ความผิดตามมาตรา 110 และ มาตรา 112) คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาในประเด็นการนิรโทษกรรมหรือไม่นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 110 และมาตรา 112 (ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) โดยกรรมาธิการได้มีการแสดงความเห็นออกเป็น 3 แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ 1ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว
แนวทางที่ 2 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไข โดยกรรมาธิการที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ได้เสนอ เงื่อนไขในการนิรโทษกรรมคดีที่มีความ
อ่อนไหว (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) ของกรรมาธิการและที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไขด้วย
แนวทางที่ 3 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยไม่มีเงื่อนไข
8. การอำนวยความยุติธรรมโดยกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน
9. บัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติ (ความผิดตามกฎหมาย 25 ฉบับ โดยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 14 ฐานความผิด จำนวน 58 มาตรา)
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ
1. คณะรัฐมนตรีควรพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อนำไปเป็นแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมโดยเร็ว พร้อมทั้งออกนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และแจ้งผลของการพิจารณาหรือการปฏิบัติตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญมายังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งผลดังกล่าวไปยังคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 35 คณะเพื่อติดตามผลการปฏิบัติตามมติของสภาต่อไป
2. ข้อมูลสถิติคดีจากหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะบางประการของกลุ่มชุมนุม ทำให้สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาได้ว่าคดีใดเป็นคดีที่เป็นการกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง และข้อมูลที่ควรใช้เป็นหลักในการพิจารณาคือ ข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม เนื่องจากเป็นข้อมูลที่มีการรวบรวมสถิติไว้อย่างเป็นระบบ มีความชัดเจนพอสมควรและได้มีการฟ้องร้องเป็นคดีแล้ว อย่างไรก็ตาม ในแต่ละฐานความผิดยังสมควรต้องสืบค้นจำนวนผู้กระทำความผิดมาประกอบการพิจารณาด้วย
3. ฐานความผิดนั้นมีความยึดโยงกับการนิรโทษกรรมอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ฐานความผิดนั้นสามารถเป็นกรอบในการพิจารณาว่าฐานความผิดใดที่มีผลสืบเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรม หรือการดำเนินการอื่นใด และประเด็นฐานความผิดเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 นั้น ยังคงเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวอยู่
4. ถึงแม้โดยหลักการเห็นว่า ไม่ควรนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรา 288 และมาตรา 289
อย่างไรก็ดี มีการแสดงข้อกังวลว่า การจะนิรโทษกรรมคดีใดไม่ควรพิจารณาจากข้อหาเพียงอย่างเดียว เพราะอาจมีคดีที่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ปกติ หรือถูกกลั่นแกล้งว่ากระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว กล่าวคือ ผู้ถูกดำเนินคดีไม่มีเจตนา ไม่ได้กระทำผิด หรือไม่มีผู้เสียชีวิตจริง ในกรณีนี้ควรให้มีการสืบพยานเพื่อให้ทราบว่า
ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่
ถ้าผู้ถูกดำเนินคดีไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดก็ควรให้สิทธิเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการนิรโทษกรรมเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรม
5. สภาผู้แทนราษฎรควรมีข้อสังเกตไปยังคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารว่าในระหว่างที่ยังไม่มีการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สมควรที่คณะรัฐมนตรีจะได้กำหนดนโยบายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมดำเนินการตามกลไกของกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมตามแนวทางที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสนอ
6. การกำหนดให้ผู้ได้รับนิรโทษกรรมได้รับสิทธิที่ต้องสูญเสียไปโดยผลของคำพิพากษากลับคืนมา สามารถกระทำได้โดยต้องกำหนดไว้ในกฎหมายอย่างชัดแจ้งว่าจะคืนสิทธิใดบ้าง และเมื่อการนิรโทษกรรมที่จะเกิดขึ้นนี้มุ่งหมายในการคลี่คลายประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น จึงควรคืนสิทธิทางการเมืองให้กับผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรม