xs
xsm
sm
md
lg

เบรค! "มท." ตั้งศูนย์ฟื้นฟูคนติดยา ปี67 ทั่วประเทศกว่า 3,261 แห่ง หลังพบซ้ำซ้อน พรึ๊บ! แนะตรวจสอบเชิงลึก ก่อนรับงบกลางพันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เบรค! "มหาดไทย" ตั้งศูนย์ฟื้นฟู "คนติดยา" ปี67 ทั่วประเทศ ที่ลงทะเบียนกว่า 3,261 แห่ง ที่จ่อรับงบกลางกว่าพันล้าน ตามนโยบายเอ็กซเรย์สภาพทางสังคมในระดับจังหวัด หลังพบ รายชื่อ/สถานที่ตั้ง/การลงทะเบียนศูนย์ฯ ซ้ำซ้อน พรึ๊บ! กม.มท. แนะตั้งคณะตรวจสอบรายชื่อ จากสารพัดหน่วยงาน หากนโยบายเร่งด่วน เห็นควรจัดตั้งระดับหน่วยงานรัฐ ก่อนภาคเอกชนแต่ไม่ตัดสิทธิ์ หากมีการตรวจสอบแล้ว

วันนี้ (19 ก.ค.2567) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจพิจารณา ร่างคำสั่ง เพื่อจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในจังหวัด
และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมอื่นของกระทรวงมหาดไทย ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ตามนโยบายรัฐบาล

ซึ่ง ศูนย์อำนวยการป้องกันและ ปราบปรามยาเสพติดกระทรวงมหาดไทย (ศอ.ปส.มท.) ได้เสนอร่างคำสั่งฉบับนี้ ต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว

ศอ.ปส.มท. แจ้งว่า แนวทางการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในจังหวัด และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมอื่น ของกระทรวงมหาดไทย ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดและอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง

ได้ให้จังหวัดดำเนินการตามแนวทาง และรายงานผลการแต่งตั้งคณะทำงานอำนวยการศูนย์ฯ ในจังหวัด และการจัดตั้งและขับเคลื่อนการดำเนินงาน มาเป็นระยะ

ล่าสุด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ได้จัดส่งรายชื่อ "ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม" ที่ได้ขึ้นทะเบียน ผ่านเว็บไซต์ของสป.สธ.

"พบว่า มีความซํ้าซ้อนของชื่อศูนย์ ฯ เลขทะเบียน และเลขที่ตั้งฯ ซึ่งประสานให้แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง รวมทั้งสิ้น 3,261 แห่ง"

ทั้งนี้ ได้แยกประเภท เป็นศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในจังหวัด 76 แห่ง ศูนย์ฟื้นฟูฯ สาขาอำเภอ 660 แห่ง ศูนย์ฟื้นฟูฯ สาขาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 2,461 แห่ง

ศูนย์ฟื้นฟูฯ สาขาหน่วยงานภาครัฐอื่น 28 แห่ง และศูนย์ฟื้นฟูฯสังคมอื่น 36 แห่ง โดยเตรียมประกาศ ในราชกิจจาบุเบกษา

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย ต่อคำสั่งฯ ฉบับนี้ ระบุว่า แม้เป็นการออกตามประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การจัดตั้งและรับรองคุณภาพศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม พ.ศ. 2565 ของ คณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด

"แต่รายชื่อศูนย์ฯ 3,261 แห่ง ซึ่งมิได้มีการพิจารณาตรวจสอบแต่ละสถานที่ ว่า เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดตั้งหรือไม่"

จึงเห็นควรให้มีการตรวจสอบ รายชื่อหน่วยงานที่มีความพร้อมในการจัดตั้งเป็นศูนย์ฟื้นฟูฯ เมื่อตรวจสอบแล้ว จึงนำรายชื่อดังกล่าว จัดตั้งเป็นศูนย์ฟื้นฟูฯ ตามคำสั่งต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อ รมว.มหาดไทย ยืนยันว่า รายชื่อศูนย์ฟื้นฟูฯ ที่มีทั้งหน่วยงานของรัฐ (จังหวัด อำเภอ และ อปท.) และหน่วยงานอื่น ๆ 3,261 แห่งนี้ เป็นศูนย์ฟื้นฟูฯ ตาม ประกาศคณะกรรมการบำบัดรักษาฯ แล้ว

ซึ่ง รมว.มหาดไทย จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ ในเบื้องต้นเห็นว่า ในการออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ ในครั้งแรกนี้ ควรจัดตั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐก่อน

เนื่องจากสามารถติดตามตรวจสอบได้ว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ ส่วนสถานที่ของหน่วยงานอื่น หรือของเอกชนนั้นให้สงวนไว้ก่อน

เนื่องจากยังไม่มีการตรวจสอบถึง ศักยภาพ ความเหมาะสม และความพร้อมในการจัดตั้งเป็นศูนย์ฟื้นฟูฯ แต่ไม่ตัดสิทธิ์ที่จะเข้ามาร่วมเป็นศูนย์ฟื้นฟูฯ

โดยสามารถแก้ไข หรือออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ ดังกล่าวเพิ่มเติมในภายหลังหากสถานที่นั้นได้มีการตรวจสอบแล้ว

นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้มีการกำหนดจำนวนศูนย์ฟื้นฟูฯให้ชัดเจน ไว้ในร่างคำสั่ง โดยระบุจำนวนรวม พร้อมทั้งจำแนกจำนวน ศูนย์ฟื้นฟูฯ ระดับจังหวัด อำเภอ หรือ อปท.ด้วย

"จะต้องมีความชัดเจนว่า จะจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ จำนวนกี่แห่ง เนื่องจากเป็นสาระสำคัญ สำหรับรายละเอียดสามารถกำหนดไว้ในบัญชีท้ายคำสั่งได้"

คณะกรรมการฯ ยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ในประเด็นการตรวจสอบ เพื่อให้ได้ผลการรับรองคุณภาพของศูนย์ฟื้นฟูฯ สภาพทางสังคม ทั้งหมดนี้ด้วย

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รัฐบาล สมัยนั้น อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

สำหรับค่าใช้จ่ายของ "ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมในจังหวัด" ตามโครงการช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2566

ได้รับการจัดสรร วงเงิน 826.68 ล้านบาท ให้กับกรมการปกครอง ดำเนินการใช้เวลาอบรมเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่ ต.ค. 2565-ก.ย.2566.


กำลังโหลดความคิดเห็น