วันนี้ (12 ก.ค.) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในปัจจุบัน ได้มอบเป็นวาระเร่งด่วน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันบูรณาการเพื่อป้องกัน แก้ไข ปราบปรามยาเสพติด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงได้นำประชุมคณะกรรมการติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. และนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องอีกหลายกระทรวง
น.ส.เกณิกา กล่าวอีกว่า รมว.ทวี พูดถึงความห่วงใยของนายกรัฐมนตรีกำชับให้เข้มงวดในช่วง 3 เดือนนี้ โดยเน้นในระดับชุมชน หมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น และการนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัด เพื่อลดอัตราการกระทำผิดซ้ำ ที่ปัจจุบันมีมากถึงร้อยละ 61 และพบว่าผู้ที่อยู่ในเรือนจำติดยาเสพติด จำนวน 229,320 คน ในจำนวนนี้ 77% มีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลให้เรียนฟรี โดยขอให้กระทรวงศึกษาธิการตรวจสอบนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อลดจำนวนแนวโน้มผู้เสพยาเสพติด
และกระทรวงยุติธรรมอยากจะเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ต้องขัง เตรียมเรือนจำปรับเปลี่ยนเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อยกระดับเป็นศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมต่อไป จะช่วยลดการกระทำผิดซ้ำทางสังคมของผู้ต้องขัง โดยกระทรวงยุติธรรม ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานสาธารณสุข ตำรวจ ทหาร ป.ป.ส.
น.ส.เกณิกา ยังกล่าวต่อถึงการสรุปผลการดำเนินงานปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ในพื้นที่ 25 จังหวัดเร่งด่วน โดยด้านการปราบปรามนักค้าและเครือข่ายยาเสพติด ผลการดำเนินการภาพรวมประสบผลสำเร็จมากกว่า 70% ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ดูแลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด สามารถรับผู้เสพเข้ารับการบำบัดได้มากกว่า 90% มีการนำผู้เสพในระบบคุมประพฤติเข้าสู่กระบวนการบำบัด ดำเนินการไปแล้วกว่า 84% และมีการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม จัดตั้งไปแล้วกว่า 2,348 แห่ง รวมถึงได้จัดระเบียบทางสังคมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในสถานบันเทิง สถานบริการ สถานศึกษา ดำเนินการไปแล้วกว่า 90%
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดภาพรวมปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ตัังแต่ 1 มิถุนายน - 31 สิงหาคม 2567 มีจำนวน 5 จังหวัดแรกที่ได้คะแนนตัวชี้วัดภาพรวมมากที่สุด คือ มหาสารคาม ขอนแก่น ชลบุรี สงขลา และสตูล โดยสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากความสำเร็จของการบูรณาการทำงานร่วมกันของภาคีทุกภาคส่วน ที่ขับเคลื่อนนโยบายปราบยาเสพติดของรัฐบาลอย่างจริงจัง และประชาชนเข้ามามีบทบาท ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม