“ปดิพัทธ์” รับมีชื่อเป็น กก.บห. “ก้าวไกล” เสี่ยงพ้น ส.ส. หากพรรคถูกยุบจริง เชื่อมั่น การสู้คดีมีน้ำหนัก ไม่เสียดายตำแหน่ง ชี้ ทำงานตามที่หาเสียงไว้ทำได้หมดแล้ว เหลือแค่บางเรื่องใหญ่ต้องส่งต่อให้อนาคต
วันนี้ (18 ก.ค.) เมื่อเวลา 12.10 น. ที่อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ว่า ขอให้ความเห็นในสถานะแรก คือ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนตัวในฝ่ายนิติบัญญัติ มองว่า การยุบพรรคการเมือง เป็นการทำลายเจตนารมณ์ของประชาชน และทำให้สถาบันนิติบัญญัติอ่อนแอ โดยเฉพาะประเทศใดก็ตามที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่มีการยุบพรรคฝ่ายค้าน กลไกการตรวจสอบรัฐบาล และการรักษาสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็จะบกพร่องไปด้วย
“ผมเองก็ค่อนข้างกังวลในเรื่องนี้ ว่า ถ้ายุบพรรคก้าวไกลแล้วสภาของเราจะหน้าตาเป็นอย่างไร ฝ่ายค้านจะยังเข้มแข็งหรือไม่ จะมีการตรวจสอบถ่วงดุลกับอีก 2 อำนาจได้อย่างไร เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของสภาไทย แต่เป็นเรื่องของสภานานาชาติด้วย เพราะเราต้องชี้แจงเรื่องนี้ เพื่อน ส.ส. และทูตในหลายประเทศก็กังวล” นายปดิพัทธ์ กล่าว
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่หากนิติบัญญัติถูกฝ่ายอื่นแทรกแซง ห้ามไม่ให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทำแล้วมีโทษ ก็จะแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประเทศของเรายังไม่ได้เป็นประชาธิปไตย
ส่วนหากการยุบพรรค ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ มีผลต่อตำแหน่งรองประธานสภา หรือไม่ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า แน่นอนว่าตนเองเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 และรายชื่อของตนก็ปรากฏชัดเจนอยู่ในคำร้องของ กกต.ดังนั้น ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
สำหรับเรื่องการวินิจฉัยในวันที่ 7 ส.ค.นี้ คิดว่า การแถลงของอดีตเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลมีน้ำหนักมาก โดยเฉพาะเรื่องคำร้องของ กกต. เป็นที่ประจักษ์ เชื่อว่า วิญญูชน สื่อมวลชน นักวิชการ ก็มีผลวินิจฉัยของตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนตัวไม่ได้มีความกังวลอย่างใดทั้งสิ้น
ส่วนหากผลของคดีเป็นลบ ส่วนตัวเสียดายการทำหน้าที่ในตำแหน่งรองประธานสภา หรือไม่ นายปดิพัทธ์ ตอบว่า “เดี๋ยวค่อยมาสัมภาษณ์หลังจากนั้นแล้วกัน แต่ความตั้งใจทำงานตามที่ได้หาเสียงไว้ หากย้อนไปดู ผมทำได้เกือบทุกข้อแล้ว เหลือเพียงเรื่องใหญ่ๆ ที่อาจต้องใช้เวลามากหน่อย”
นายปดิพัทธ์ ยกตัวอย่างการปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานเลขาธิการของทั้งสองสภา หากมีอะไรซ้ำซ้อนระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เราจะรวมกัน และเปิดหน่วยงานใหม่ขึ้นมาในอนาคต เป้นเรื่องที่ส่วนตัวรู้สึกตื่นเต้นกับโครงสร้างใหม่ที่จะเกิดขึ้นมา พร้อมยืนยันว่าได้รับฟังความเห็นจากรอบด้าน ตลอดจนนโยบาย Cloud First Policy ที่กำลังทำสัญญาอยู่
“ถ้าจะเสียดาย ก็เสียดายว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะเกิดหรือไม่เกิด ก็ไม่รู้ ขึ้นอยู่กับผู้นำรุ่นต่อไป แต่ตอนนี้ตนพยายามทำสภาไปสู่ Smart Parliament” นายปดิพัทธ์ กล่าว
ขณะที่หากหลุดจากตำแหน่งรองประธานสภา อาจส่งผลให้พรรคร่วมฝ่ายค้านเสียเก้าอี้นี้ไปเลยหรือไม่ เพราะรัฐบาลจะมีเสียงมากกว่า นายปดิพัทธ์ ระบุว่า แน่นอน เพราะประธานสภา และรองประธาน ต้องเป็น ส.ส. หากตนถูกตัดสิทธิก็เท่ากับว่า ความเป็น ส.ส. ของตนก็จะหลุดไปด้วย แต่ทั้งหมดก็เป็นการตัดสินใจของสภาหลังจากนั้น