xs
xsm
sm
md
lg

สมาชิกรัฐสภาอาเซียนฯ ชวนนานาชาติเกาะติดคดียุบก้าวไกล โวยใช้กระบวนยุติธรรมในทางที่ผิด ยุบพรรคอันดับ 1 ของประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน APHR เรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศ ติดตามคดียุบพรรคก้าวไกล ระบุต้องหามาตรการเอาผิดผู้ที่นำกระบวนการยุติธรรมไปใช้ในทางมิชอบ ล้มพรรคการเมืองที่มีเสียงอันดับ 1 ในสภาผู้แทนราษฎรของไทย

วันที่ 13 มิ.ย. 67 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ASEAN Parliamentarians for Human Rights (APHR) เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ ติดตามและมีมาตรการป้องกันการใช้เครื่องมือตุลาการเพื่อยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 และปัจจุบันเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในรัฐสภาไทย

แถลงการณ์ของสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน APHR ระบุว่า การตัดสินคดีที่อาจเกิดขึ้นเร็วที่สุด ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน จะทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การหาเสียงของพรรคก้าวไกลที่ให้คำมั่นว่าจะแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เทียบเท่ากับความพยายามล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่ง APHR เห็นว่า การใช้อำนาจตุลาการมากเกินไป อาจเสี่ยงต่อการก้าวล่วงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและเพิกเฉยต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจอย่างเห็นได้ชัด

Mercy Chriesty Barends ประธาน APHR และ ส.ส.อินโดนีเซีย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการใช้อำนาจศาลในการบ่อนทำลายแนวคิดประชาธิปไตย ที่ป้องกันไม่ให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณากฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เพราะทำให้กฎหมายเฉพาะนั้นอยู่นอกเหนือการแก้ไขใดๆ

APHR ยังเรียกร้องให้กลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและประชาคมระหว่างประเทศสำรวจเครื่องมือต่างๆ ในกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อเอาผิดผู้ที่กระทำการล่วงละเมิดอำนาจศาลในประเทศไทย

Charles Santiago ประธานร่วม APHR และอดีต ส.ส.มาเลเซีย กล่าวย้ำว่า ประชาธิปไตยในไทยกำลังถอยหลัง ไม่เพียงเกิดจากการรัฐประหารเท่านั้น แต่ยังเกิดการตีความกฎหมายที่น่าสงสัย เพื่อให้กำจัดนักการเมืองฝ่ายค้าน หากพรรคก้าวไกลถูกยุบเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ เมื่อปี 2562 ประชาชนหลายล้านคนจะถูกละเมิดสิทธิ และมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบที่อาจบั่นทอนเสถียรภาพของประเทศไทย ซึ่งมิเพียงจะส่งผลต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในไทยเท่านั้น แต่จะยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและทำลายชื่อเสียงของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันด้วย

APHR ยังระบุถึงการขัดขวางไม่ให้พรรคก้าวไกลได้เป็นผู้นำรัฐบาลผสม ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะรัฐประหาร และไม่ใช่เพียงคดีของพรรคก้าวไกล แต่แนวโน้มสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ยังน่าเป็นห่วง ทั้งการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่มีการตั้งข้อหาและจำคุกผู้ที่แสดงความเห็นเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้กลับเพิ่มมากขึ้นในขณะที่ประเทศไทยกำลังรณรงค์เพื่อชิงที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

Mercy Chriesty Barends ประธาน APHR และ ส.ส.อินโดนีเซีย กล่าวย้ำว่า APHR ขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด และดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่เพียงแต่สมาชิกรัฐสภาที่ตกอยู่ในความเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น