xs
xsm
sm
md
lg

‘ปริญญา’ เผย ’ก้าวไกล‘ ยังมีโอกาสสู้คดียุบพรรค ลุ้นพรุ่งนี้ศาล รธน.เปิดไต่สวนหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (11 มิ.ย.) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง ข้อต่อสู้ของพรรคก้าวไกลในคดียุบพรรคว่า แบ่งเป็น 9 ข้อ 3 หมวด ได้แก่ 1.การโต้แย้งอำนาจการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำร้องของ กกต. 2.ไม่ได้มีเหตุให้ยุบพรรค 3.หากยุบพรรค จะตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใด และกี่ปี

สำหรับข้อโต้แย้งอำนาจการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ได้กำหนดว่าบุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญล้มล้างระบอบการปกครองมิได้ หากใครทำต้องไปร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ยุติการกระทำ ซึ่งรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับมีเพิ่มมาอีกวรรคหนึ่งระบุว่า หากศาลสั่งให้ยุติการกระทำ อาจสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ตัดท่อนนี้ทิ้ง มีอยู่ในเฉพาะ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ซึ่งจะกลายเป็นอีกคำร้องหนึ่ง และที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญใช้มาตรานี้ในการยุบพรรคการเมืองหลายครั้ง

เรื่องใหญ่อยู่ที่ว่าจะยุบพรรคหรือไม่ ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าพรรคก้าวไกลถูกยุบแน่นอน เมื่อศาลสั่งให้ยุติการกระทำด้วยเหตุที่ว่าใช้สิทธิและเสรีภาพของพรรคการเมืองในการล้มล้างระบอบการปกครอง ซึ่งเข้าข่ายการยุบพรรคตามว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 แต่เมื่อเหตุที่จะขอยุบพรรคจบไปแล้ว เพราะได้ยุติการกระทำไปแล้วตามคำวินิจฉัยแรก เมื่อยุติการกระทำแล้วจะยุบพรรคต่อไปไม่ได้ ซึ่งใช้เป็นข้อต่อสู้ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ (12 มิ.ย. 67) ว่าจะให้พรรคก้าวไกลสู้ได้เต็มที่แค่ไหน

ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายเวลาการส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดียุบพรรค ตามที่พรรคก้าวไกลขอ คิดว่าน่าจะเปิดให้แก้ข้อกล่าวหา โดยการไต่สวนพอสมควร เพียงแต่ว่าจะให้เต็มที่ขนาดไหนต้องรอฟัง การที่จะบอกว่าพรุ่งนี้ยุบพรรคเลยคงยาก ย้ำว่าเมื่อพรรคก้าวไกลยุติการกระทำตามคำสั่งของศาล คำร้องเหตุในการยุบพรรคก็ผ่านไป โอกาสของพรรคก้าวไกลจากเดิมที่คนมองว่ายุบแน่ก็มีโอกาสในการต่อสู้อยู่

ระบบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็นการคุยด้วยข้อกฎหมายจนได้ข้อยุติ แต่เราใช้วิธีการโหวตโดยตุลาการทั้ง 9 คน เป็นเรื่องของเสียงข้างมาก 5 คนขึ้นไป จะยุบหรือไม่ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ ว่าให้โอกาสพรรคก้าวไกลมากน้อยแค่ไหน ให้มากโอกาสก็มาก ให้น้อยโอกาสก็น้อย

ผศ.ดร.ปริญญา ยืนยันว่าการพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล ไม่ใช่เวลาที่เร็วเกินไป เพราะศาลให้เวลาพรรคก้าวไกลในการส่งคำโต้แย้ง ต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะให้โอกาสในการไต่สวน นำพยานบุคคล ผู้เชี่ยวชาญมาหักล้างคำร้องมากแค่ไหน ตอนนี้ยังสรุปไม่ได้ว่าให้เวลามากหรือน้อย ในทางกลับกันพรรคก้าวไกลคงอยากให้เวลายาวที่สุดเพื่อที่จะมีโอกาสมากที่สุด อย่าลืมว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ถูกร้องให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าเรื่องนี้จะใช้เวลาในการวินิจฉัยไม่นาน เทียบเคียงจากคำร้องคดีนายกฯ 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งใช้เวลาเพียง 37 วัน ดังนั้นเรื่องนี้อาจใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 2 เดือนหรือไวกว่านั้น หากศาลยกคำร้องก็แล้วไป หากศาลวินิจฉัยว่านายเศรษฐา มีพฤติกรรมฝ่าฝืนก็ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการเลือกใหม่ ต้องถามว่าตอนนั้นพรรคก้าวไกลจะยังเป็นพรรคการเมืองอยู่หรือไม่

ขณะที่ สว.ชุดปัจจุบันที่แต่งตั้งโดย คสช. แม้จะหมดวาระแล้ว แต่ให้อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฎิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า สว.ชุดใหม่จะเข้ามา ซึ่งปัจจุบัน สว.ชุดใหม่ที่กำลังเลือกก็มีปัญหาเรื่องข้อร้องเรียน และข้อทักท้วงอยู่ไม่ใช่น้อย ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาวินิจฉัย พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 จำนวน 4 มาตรา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ไว้แล้ว หาก สว.ชุดใหม่ไม่สำเร็จ สว.ชุดคสช.จะอยู่ต่อไป หลายเรื่องมันพันกันอยู่ เชื่อว่าทุกพรรคต้องการเวลา และโอกาสเต็มที่ในการสู้

ส่วนการแถลงข้อโต้แย้ง 9 ข้อของพรรคก้าวไกล เป็นการเผยไต๋ให้กับศาลรัฐธรรมนูญได้รู้ และทำให้เกมพลิกหรือไม่ ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสาธารณะ อย่าลืมว่าการตัดสินไม่ใช่ตัดสินด้วยการคุยข้อกฎหมายจนได้ข้อยุติ แต่เป็นการโหวต ซึ่งเป็นอำนาจของตุลาการแต่ละท่าน เสียงข้างมากไปในทิศทางใดก็ถือว่าเป็นผลลัพธ์ของเรื่อง ไม่ใช่ปัญหาแต่พรรคก้าวไกลคงต้องการให้เป็นเรื่องสาธารณะ
กำลังโหลดความคิดเห็น