“โครงการเงินกู้สู้โควิด” ยังไม่สะเด็ดน้ำ! แม้รัฐบาลชุดก่อนปิดบัญชีไปแล้ว เผย “ครม.น้านิด-มหาดไทย” ไฟเขียว จ.ตรัง ขยายระยะเวลา “โครงการพัฒนาวนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง” ยาวถึงสิ้นเดือน ส.ค.ปีนี้ หลังพบสารพัดปัญหาเบิกจ่าย แม้ขยายไปแล้วถึง 3 รอบ ตั้งแต่ ธ.ค. 66 ถึง เม.ย. 67 ก่อนบอร์ดเงินกู้ไฟเขียวขยายให้ถึง ส.ค. 67
วันนี้ (12 ก.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่อความคืบหน้า
และขอขยายระยะเวลาการสิ้นสุดโครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก พ.ศ. 2565 “เป็นกรณีพิเศษ”
ชื่อโครงการพัฒนาวนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง จ.ตรัง วงเงิน รวม 20,444,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจาก “โควิด 2019” เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
หลังจากเดิมมีการขยายระยะเวลา ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2566 ไปเป็นเดือน เม.ย. 2567 เนื่องจากจังหวัดได้ลงนามผูกพันสัญญาแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ
แม้รัฐบาลชุดที่แล้วจะสรุปปิดบัญชีโครงการเงินกู้ไปแล้ว โครงการดังกล่าว คณะรัฐมตรีชุดเดิม เห็นชอบตามมหาดไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการ ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสุขภาพ
ล่าสุด ครม.ชุดปัจจุบัน เห็นชอบตามคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ให้ขยายระยะเวลาการสิ้นสุดโครงการจาก เดือน เม.ย. 2567 ไปถึง เดือน ส.ค. 2567 นี้ วงเงิน เพิ่มเป็นรวม 20.9 ล้านบาท
หลังจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ ไม่สามารถดำเนินการและเบิกจ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลา
ทั้งนี้ หนังสือที่ จ.ตรัง แจ้ง มหาดไทย ระบุว่า วงเงินตามสัญญาจ้าง 22,444,000 บาท เริ่มวันที่ 1 ก.พ. 2566 สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ. 2567 จำนวน 9 งวดงาน
ดำเนินการแล้วเสร็จ 6 งวดงาน ได้แก่ งวดงานที่ 3, 4, 5, 6, 7, 8 เป็นเงิน 12,266,400 บาท
“สำหรับงวดงานที่เหลือ ไม่สามารถดำเนินการและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด จำวน 3 งวดงาน เป็นเงิน 8,177,600 บาท”
เนื่องจากงวดงานที่เหลือเป็นกิจกรรมการก่อสร้างอาคารแบบอารยสถาปัตย ตามรายละเอียดแบบรูปรายการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมที่มีความละเอียดอ่อน
และใช้ทักษะด้านงานช่างและการโยธาขั้นสูง โดยมีการก่อสร้างอาคาร จำนวน 9 อาคาร งานปรับปรุงภูมิทัศน์และก่อสร้างบ่อแช่ตัวรวม จำนวน 4 บ่อ และงานปรับปรุงภูมิทัศน์
ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่โครงการบางส่วนเป็นป่าพรุ ชั้นดินมีความอ่อนนุ่ม การดำเนินงานต้องใช้เวลามากกว่าพื้นที่ปกติ อีกทั้งในช่วงกลางเดือน ต.ค.- พ.ย. 2566 เป็นช่วงลมมรสุม ฝนตกหนกอย่างต่อเนื่อง
โดยผู้ควบคุมงาน แจ้งให้ผู้รับจ้างปรับแผนการดำเนินงาน ทั้งการเร่งระดมคนงานและเครี่องจักร เข้าดำเนินการเต็มพื้นที่การก่อสร้างอย่างเต็มกำลัง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด
“ปัจจุบันผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ผลงานร้อยละ 90 ซึ่งผู้รับจ้างสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามสัญญา”
มีรายงานจาก จ.ตรัง ระบุว่า เมื่อ เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ชมรมต้านโกงจังหวัดตรัง เปิดเผยถึงโครงการก่อสร้างอาคารบ่อเแช่ตัวรวมมูลค่า 1.2 ล้านบาท
ภายในวนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง ต.บ่อน้ำร้อน อ.กันตัง จ.ตรัง พบว่า มีสภาพทรุดโทรม ชำรุดเสียหาย ทั้งที่โครงการเพิ่งเริ่มเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาเท่านั้น
โดยโครงการก่อสร้างพัฒนาวนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสุขภาพ พื้นที่ของวนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง จุดบริการอาคารบ่อเแช่ตัวรวม พบว่า
“หลังคามีรอยรั่วหลายจุด บางชิ้นจะตกใส่นักท่องเที่ยว น้ำในบ่อไม่ไหลเวียน ขาดการระบายน้ำเข้าออก และทางลงคนพิการไม่มีราวกันตก”
ชมรมฯ ตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องเข้ามาตรวจสอบ แม้จะก่อสร้างเสร็จเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยงบประมาณ 1,201,278.55 บาท เป็นโครงการของจังหวัดตรัง งบประมาณโครงการพัฒนาวนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง ทั้งหมด 20,444,000.00 บาท
สำหรับโครงการนี้เป็นโครงการของจังหวัดตรัง ประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจัดหาแบบจ้างก่อสร้าง ทำสัญญาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 มีสถานะส่งงานครบถ้วนแล้ว.