เชียงใหม่ - ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ ชี้แจงกรณีหนุ่มวัย 16 ปีตกบ่อน้ำพุร้อนฝางในอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก หลังผู้ปกครองเรียกร้องอ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม ระบุเบื้องต้นได้มอบเงินช่วยเหลือและดูแลเป็นอย่างดีแล้ว แต่ไม่สามารถจ่ายเงินเยียวยาให้ 5 แสนบาทตามที่ต้องการได้เนื่องจากผิดระเบียบราชการ
นายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ ชี้แจงกรณีที่มีหนุ่มวัย 16 ปี พลัดตกลงไปในบ่อน้ำพุร้อนฝาง ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 3 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งถูกน้ำร้อนลวกบริเวณลำตัว แขนและขา โดยล่าสุดทางครอบครัวร้องขอความเป็นธรรมว่ายังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาได้มอบเงินช่วยเหลือไปแล้ว 20,000 บาท เป็นเงินส่วนตัวของตนเองและหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 66 ได้เข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บพร้อมนำเงินเยียวยาอีก 30,000 บาทไปมอบให้ ซึ่งเป็นเงินสนับสนุนจากผู้บริหารของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่เช่นเดียวกัน แต่ผู้ปกครองไม่ขอรับไว้เพราะเห็นว่าเป็นจำนวนเงินน้อยเกินไป จึงได้อธิบายให้เข้าใจว่าไม่มีระเบียบราชการที่จะสามารถนำเงินส่วนอื่นมาใช้ในการเยียวยากรณีดังกล่าวได้ ผู้ปกครองขอกลับไปคิดว่าต้องการเงินจำนวนเท่าใด แล้วเงียบหายไป จนล่าสุดแจ้งว่าต้องการเงินเยียวยาไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท และปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชน โดยระบุว่าแม้ค่ารักษาจะใช้สิทธิบัตรทอง แต่มีค่าใช่จ่ายอื่น ทั้งเวชภัณฑ์ล้างทำความสะอาดแผล ชุดสำหรับผู้ป่วยแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก รวมทั้งค่าเดินทางที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลอีกสองปี จึงขอให้รับผิดชอบให้เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าชายหนุ่มคนดังกล่าวเข้าไปเที่ยวภายในบ่อน้ำพุร้อนฝาง อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกพร้อมเพื่อน 1 คน นอกเวลาทำการซึ่งปิดด่านเก็บค่าบริการผ่านเข้าแล้ว เจ้าหน้าที่เวรยามกลางคืนที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ต่อเห็นว่าเป็นนักท่องเที่ยวท้องถิ่นและคงใช้เวลาไม่นานเพราะเป็นเวลาใกล้ค่ำ จึงไม่ได้ห้าม ซึ่งนักท่องเที่ยวทั้ง 2 คนเดินเข้าไปโซนลานกางเต็นท์ไออุ่นด้านหลังอาคารสโมสร ที่ต้องเดินผ่านบ่อน้ำร้อนบริเวณจุดเกิดเหตุ แต่ไม่ใช่จุดที่จัดเตรียมไว้ให้นักท่องเที่ยวต้มไข่ จึงทำราวกั้นไว้ให้ทราบว่าเป็นจุดอันตรายมิให้เข้าไปใกล้ ส่วนราวกันตกมีลักษณะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีการปั้นปูนคล้ายไม้หุ้มเหล็กด้านใน แม้จะมีการตรวจสอบความแข็งอย่างสม่ำเสมอ แต่เนื่องจากผู้บาดเจ็บมีน้ำหนักประมาณ 80-90 กิโลกรัม ทิ้งน้ำหนักตัวเพื่อโน้มลงไปเก็บไข่ที่ต้มไว้ ทำให้ราวดังกล่าวหักลงเพราะรองรับน้ำหนักตัวไม่ไหว จึงเห็นว่าเหล็กภายในมีสภาพผุกร่อนเนื่องจากได้รับไอร้อนและกำมะถันตลอดเวลา ทั้งนี้ยืนยันว่าที่ผ่านมาทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ ได้ช่วยเหลือดูแลอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไม่มีระเบียบราชการที่จะสามารถนำเงินส่วนอื่นมาใช้ในการเยียวยาในกรณีที่เป็นอุบัติเหตุ ส่วนกองทุนสวัสดิการที่มีอยู่ เป็นกองทุนช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการปฏิบัติหน้าที่ ไม่สามารถนำมาใช้ในกรณีนี้ได้เพราะจะผิดระเบียบ ทั้งนี้ ในอนาคตข้างหน้ามีแนวทางที่จะรื้อฟื้นโครงการประกันชีวิตนักท่องเที่ยว ตามโครงการเที่ยวอุ่นใจ ประกันภัยคุ้มครอง ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการหารือกันในการประชุมผู้บริหารของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชแล้ว