ส.ส.ก้าวไกล เตือน บอร์ด ธ.ก.ส.อนุมัติใช้เงินแจกผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เสี่ยงผิดกฎหมาย ชี้ขัดวัตถุประสงค์ของธนาคารตาม พ.ร.บ.ธ.ก.ส. ซ้ำซ้อนกับโครงการ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” หากอ้างใช้เพื่อการเกษตร
วันนี้ (9 ก.ค.) นายจุลพงศ์ อยู่เกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล แถลงเตือนคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ถึงการร่วมในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ภายหลังจากที่ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงจนถึงบัดนี้ รัฐบาลยังไม่ได้สอบถามกฤษฎีกาเรื่องเกี่ยวกับการใช้เงิน ธ.ก.ส.ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จึงตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมถึงมีความล่าช้า จากการที่ตนศึกษาข้อกฎหมายโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พ.ศ. 2509 จากการตรวจสอบเจตนารมณ์ของการจัดตั้ง ธ.ก.ส. เจตนารมณ์ของการแก้ไข พ.ร.บ.ธ.ก.ส.ทั้งหมดจำนวน 9 ฉบับ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากการตรวจสอบบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการของสภาในอดีตที่ได้พิจารณาการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ที่ผ่านมาอย่างละเอียด รวมทั้งตรวจสอบรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของ ธ.ก.ส.ย้อนหลังไป 5 ปี ที่มีการบันทึกถึงวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการของ ธ.ก.ส.ทุกครั้ง
นายจุลพงศ์ กล่าวว่า การที่ ธ.ก.ส.จะออกเงินทดรองเพื่อแจกในโครงการดิจิตอลวอลเล็ต จำนวน 170,000 ล้านบาท สำหรับการซื้อขายสินค้าทั่วไปตามที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ นั้นเป็นการขัดกับกฎหมาย คือ พ.ร.บ. ธ.ก.ส. พ.ศ.2509 และฉบับที่แก้ไขต่อมา อย่างแน่นอนโดยยังไม่ต้องไปดูกฎหมายฉบับอื่น ไม่ว่าจะในเรื่องวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง ธ.ก.ส. หรือ วัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการของ ธ.ก.ส.ตามมาตรา 9 ที่มีวัตถุประสงค์อยู่ทั้งหมด 17 ข้อ ไม่ว่าจะเรื่องอำนาจหน้าที่ของตัวธนาคารคือธ.ก.ส.เองตามมาตรา 10 ซึ่งก็ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของวัตถุประสงค์ตามมาตรา 9 และไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ ธ.ก.ส.หรือบอร์ด ธ.ก.ส.ตามมาตรา 18 ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่ไม่ได้ให้อำนาจแก่บอร์ด ธ.ก.ส. ในการลงมติอนุมัติให้ ธ.ก.ส.
การทดลองนำเงินไปใช้แจกโดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อไปกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เงินของ ธ.ก.ส.จะต้องนำเงินไปเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรหรือส่งเสริมอาชีพทางการเกษตร หากรัฐบาลจะอ้างมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาให้ ธ.ก.ส.แจกเงินให้ได้ มาตรา 28 ก็ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการที่หน่วยงานของรัฐจะทำตามที่ได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลนั้น ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่อยู่ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนั้น กรณีนี้ก็คือ ธ.ก.ส.นั่นเอง
“ผมจึงขอเตือนไปถึงบอร์ด ธ.ก.ส.ว่า หากลงมติให้ ธ.ก.ส.แจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยไม่ได้จำกัดการแจกว่าให้ผู้ที่ได้รับการแจกเงิน ต้องนำเงินที่ได้รับจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อไปพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตร หรือเพื่อส่งเสริมอาชีพทางการเกษตรตามวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.แล้วละก็ บอร์ดทุกคนที่ยกมือลงมติเห็นชอบสุมเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย ท่านไม่สามารถอ้างได้ว่าท่านทำตามมติ ครม.เพราะมติ ครม.ไม่ใช่กฎหมาย แต่หากบอร์ด ธ.ก.ส.จะลงมติให้ผู้รับเงินนำเงินที่ได้รับแจกจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไปใช้ได้เฉพาะเพื่อการเกษตรเช่นให้เกษตรกรที่เป็นชาวนาทั่วไป เอาไปซื้อปุ๋ย ก็จะเป็นการซ้ำซ้อนกับโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ที่รัฐบาลจะให้ ธ.ก.ส.ออกทดลองไป ก่อนถึง 3 หมื่นล้านบาท ผมจะขอติดตามดูมติของบอร์ด ธ.ก.ส.ว่าจะออกมในเรื่องนี้ออกมาอย่างไร“ นายจุลพงศ์ กล่าว
เมื่อถามว่า จากการติดตาม มองว่า กรณีต้องการให้ ธ.ก.ส. นำเงินเพื่อใช้แจกโครงการดิจิทัล เป็นไปได้สักทางหรือไม่ นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ต้องออกมติใช้เงินเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซื้อ จอบ เสียม หรือปุ๋ย หรือหากใช้เพื่อผลิตภัณฑ์อื่นๆ เกรงว่า มีปัญหาหากไม่จำกัดการขอบเขตใช้เงิน หากแจกเงินแบบไม่มีเงื่อนไขจะขัดกับกฎหมาย
เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.ธ.ก.ส. จะเป็นทางออกหรือไม่ นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่า รัฐบาลจะไม่เลือกใช้การแก้ไขกฎหมาย เพราะขณะนี้รัฐบาลเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนแล้ว หากเสนอกฎหมายให้รัฐสภาแก้ไข จะไม่ทันการแจกเงินไตรมาสสี่ อย่างแน่นอน แต่หากจะเลือกใช้ การออกพระราชกำหนดเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ธ.ก.ส.นั้น อาจติดเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ใช้เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนหรือมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ
เมื่อถามย้ำว่า การใช้เงิน ธ.ก.ส.เพื่อแจกเงินดิจิทัลนั้น สุดท้ายจะทำไม่ได้เพราะขัดกับกฎหมายใช่หรือไม่ นายจุลพงศ์ กล่าวว่า ใช่ ทั้งนี้ ต้องรอดูแนวทางของกระทรวงการคลัง ว่า จะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวอาจจะมีปัญหามากขึ้น หากประชาชนลงทะเบียนแล้วแจกเงินไม่ได้ จะเป็นปัญหาร้ายแรงกับรัฐบาลมากกว่า