“นักวิชาการ” ยกเคสอเมริกา แนะ แจกเงินบาท แทน “เงินดิจิทัล” โอนเข้าบช.ให้คนจนนำมาล้างหนี้ จะเพิ่มกำลังซื้อ “กรณ์” กางกฎหมายอธิบายชัดเจน รัฐบาลกู้ ธกส. มาแจกไม่ได้ ระบุ ขัดวัตถุประสงค์ ตาม พ.ร.บ.ธกส. หมวด 2 มาตรา 9
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้(12 เม.ย.67) นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึง โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่า
“เงินดิจิทัลควรให้คนจนนำมาล้างหนี้ทั้งในและนอกระบบได้
ในอเมริกา เคยมีการแจกเงินในยุคไบเดน 2 ครั้งๆละ 2000 เหรียญ เขาโอนเข้าบัญชีหรือส่งเช็คเงินสดมาที่บ้านเลย แล้วจะนำไปใช้จ่ายอย่างไรเป็นเรื่องของเรา
รัฐบาลเศรษฐาประกาศเดินหน้านโยบายแจกเงิน ดิจิทัลคนละ 10000 บาท
การแก้ไขนโยบายให้นำเงินดิจิทัลมาล้างหนี้ได้ จะช่วยคนจนมากกว่าการให้คนจนนำไปจับจ่ายในสิ่งที่อาจจะไม่ต้องการ แต่ต้องใช้เงินให้หมดตามเงื่อนไข ซึ่งช่วยนายทุนมากกว่าช่วยคนจน
การให้คนจนสามารถนำเงินดิจิทัลมาล้างหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของคนจนให้มีมากขึ้น โดยแทนที่จะต้องนำเงินที่มีไปจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 5-10 ต่อเดือนก็จะมีเงินส่วนนี้เหลือ เพราะล้างหนี้เงินต้นไปได้บางส่วนแล้ว
นอกจากนี้ ถึงอย่างไร รัฐก็ใช้เงินภาษีของประชาชนจากงบประมาณที่ต้องนำมาใช้คืน ที่กู้จาก ธกส. และการดึงงบประมาณปี 67 175,000 ล้าน และ 152,700 ล้าน ในปี 68 มาใช้ ซึ่งเป็นการคืนกลับให้ประชาชน”
ขณะเดียวกัน นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะอดีตประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่รัฐบาลมีแผนกู้เงิน ธ.ก.ส. ว่า
“พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาตำหนิแผนการกู้จาก ธกส.เพื่อมาแจกเงินดิจิทัล บอกว่าซํ้ารอย ‘จำนำข้าว’ ในการสร้างหนี้สะสมมหาศาล จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่ได้ชำระคืนให้ ธกส.
เพื่อไทย สวนกลับทันทีว่า ก็ทีพวกคุณแจกเงินโครงการประกันรายได้ คุณก็ใช้เงิน ธกส. วันนี้ใช้เงินคืนหรือยัง??
อันนี้ถูกทั้งคู่!
แต่ผมว่าไม่ตรงประเด็น เพราะจะผิดจะถูกอย่างไร ทั้งจำนำข้าว และประกันรายได้ ล้วนเป็นเรื่องโครงการที่ตรงกับภารกิจตามกฎหมายของ ธกส.(ถึงแม้จะมีปัญหาอื่นตามมา)
ตาม พรบ.ธกส. นั้น ในหมวด 2 มาตรา 9 ได้ระบุวัตถุประสงค์ของ ธกส. ไว้ถึง 17 ข้อ
ทั้ง จำนำและประกันรายได้ เข้าเกณฑ์ตั้งแต่ข้อที่ 1 คือ ‘การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร..สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม’ และนี่น่าจะเป็นวัตถุประสงค์หลัก โดยที่ก็ยังมีวัตถุประสงค์อื่นๆ อีก 16 ข้อ ว่า ธกส. ทำอะไรได้บ้าง โดยที่ทุกข้อโยงกับการส่งเสริมเกษตรกรในบริบทการทำอาชีพเกษตรกรรม
ที่อ่านแล้วยังไม่ชัดว่ามีข้อไหนเปิดให้ ธกส. ปล่อยกู้ให้รัฐบาลนำมาแจกประชาชนได้ (แม้บางคนมีอาชีพเป็นเกษตรกรก็ตาม) เพราะวัตถุประสงค์การแจกเงินดิจิทัลประกาศไว้ชัดว่า “เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ” และ “เพื่อการบริโภค” ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการ ‘ส่งเสริมการเกษตร’
ก่อนหน้านี้ผมก็เคยคิดว่า รัฐบาลอาจใช้ ธกส.เพื่อการนี้ได้ แต่ว่า ตั้งแต่ปี 2561 มี พรบ.วินัยทางการคลัง ยํ้าประเด็นชัดเจนในมาตรา 28 ว่า รัฐบาลใช้เงินของรัฐวิสาหกิจโดยขัดหรือไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ไม่ได้
ทำให้ผมกลับไปอ่านกฎหมายจัดตั้ง ธกส.อีกรอบ และผมว่าเรื่องนี้ต้องดูให้ดี ประเด็นนี้ตรงกับที่แบงก์ชาติได้ออกมาเตือน (ผมได้อ่านกฎหมายของธนาคารออมสินด้วย หากจะไปทางนั้นก็ต้องออกพันธบัตร ซึ่งต้องมี พรก. หรือ พรบ.กู้เงินรองรับ..ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้อีก)
ในเมื่อรัฐบาลตั้งใจเดินหน้าโครงการนี้ ทางออกหนึ่งคือรัฐบาลตัดค่าใช่จ่ายอื่นๆ ในงบปี 2568 เพื่อเจียดมาแจกเงินดิจิทัล หรือรอแจกงวดที่สอง ด้วยการใช้งบปี 2569
ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นของผมผู้ที่รัก ผูกพัน และอยากเห็น ธกส. มีกำลังเพียงพอในการทำหน้าที่ดูแลเกษตรกรได้ตามวัตถุประสงค์การจัดตั้ง”