xs
xsm
sm
md
lg

“ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล” นั่งประธานศาลฎีกาคนที่ 50 ** กัญชากลับที่เดิม“หมอสมศักดิ์”ทำเพื่อใคร? “หนู-อนุทิน”คนดันเสรี วันนี้เอาแต่ปัด ตอกย้ำภูมิใจไทยทำแล้วทิ้ง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล  -สมศักดิ์ เทพสุทิน -อนุทิน ชาญวีรกูล- ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
ข่าวปนคน คนปนข่าว



++ “ชนากานต์ ธีรเวชพลกุล” นั่งประธานศาลฎีกาคนที่ 50

การประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)ครั้งที่ 17/2567 ที่มีขึ้นเมื่อช่วงบ่าย วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ที่ห้องประชุมราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ชั้น 3 อาคารศาลยุติธรรม สนามหลวง มีวาระสำคัญคือ พิจารณาเห็นชอบแต่งตั้ง ประธานศาลฎีกาคนใหม่ เนื่องจาก “นางอโนชา ชีวิตโสภณ” ประธานศาลฎีกาคนที่ 49 จะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายนนี้

โดยที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม พิจารณาและมีมติเห็นชอบ “นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล” ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา คนที่ 50 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

“นางชนากานต์”นับเป็นประธานศาลฎีกาหญิง คนที่ 4 ของประเทศไทย ต่อจาก นางเมทินี ชโลธร, น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม เเละ นางอโนชา ชีวิตโสภณ

ตำแหน่งประธานศาลฎีกา ถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในระบบตุลาการของประเทศไทย โดยมีฐานะเป็นประมุขของฝ่ายตุลาการ ทำหน้าที่คานและดุลอำนาจกับฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งถือเป็น 3 เสาหลักสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

สำหรับประวัติการศึกษาและการทำงานที่สำคัญของนางชนากานต์

จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, ประกาศนียบัตร หลักสูตร ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง รุ่นที่ 22

ในชีวิตการทำงาน ได้สั่งสมประสบการณ์ในวงการยุติธรรมอย่างยาวนาน จนได้รับตำแหน่งสำคัญมากมาย อาทิ
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพิษณุโลก แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพิษณุโลก
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลล้มละลายกลาง
รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9
ผู้พิพากษาศาลฎีกา
ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
ดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา
และขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาคนที่ 50 ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของวงการตุลาการไทย

นับเป็นเครื่องยืนยันถึงความสามารถและความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของ นางชนากานต์ ตลอดจนความทุ่มเทในการทำงาน เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนจนเป็นที่ประจักษ์


++ กัญชากลับที่เดิม“หมอสมศักดิ์”ทำเพื่อใคร? “หนู-อนุทิน”คนดันเสรี วันนี้เอาแต่ปัด ตอกย้ำภูมิใจไทยทำแล้วทิ้ง!

หลังคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข มีมติให้กัญชา กัญชง กลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง ประเมินกันว่า จะมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพืชสมุนไพรชนิดนี้ได้รับผลกระทบจากการกลับไป-กลับมาของนโยบายรัฐบาลราวๆ สองหมื่นล้านบาท
ที่ผ่านมาสถานการณ์ก็แย่อยู่แล้ว เกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ลงทุนปลูกกัญชา ตามนโยบายกัญชาเสรี บางรายลงทุนไปหลายล้านบาท สร้างโรงเรือนไว้ปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ แต่ขาดทุน สุดท้ายต้องเป็นหนี้สิน บางคนสิ้นเนื้อประดาตัว
จากแนวนโยบายที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนมา จากเสรีกลับมาไม่เสรีของ “หมอสมศักดิ์” สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เชื่อได้ว่า สภาพจะยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก

ส่วนเจ้าของนโยบายกัญชาเสรี พรรคภูมิใจไทย “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยใช้นโนบายกัญชาหาเสียงเมื่อปี 2562 อยู่ร่วมผลักดันกฎหมายจากรัฐบาลที่แล้ว และกลับมาร่วมเป็นรัฐบาลชุดนี้ ไม่หือ ไม่อือใดๆ

“อนุทิน” บอกว่า ตอนนี้ถือเป็นนโยบายใหม่ พร้อมให้ความร่วมมือ ใครเป็นรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ก็ต้องยอมรับ และเคารพในนโยบายของคนเหล่านั้น พรรคภูมิใจไทย คงไม่ไปคัดค้าน ไปประท้วงอะไร

เรียกว่า “หมอสมศักดิ์” อยากทำอะไรก็ทำไป ภูมิใจไทยที่เป็นคนชักชวนให้เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชาทางการแพทย์ จะเป็นจะตายก็ช่วยไม่ได้ ขอให้แค่ ภูมิใจไทยอยู่ร่วมรัฐบาลก็พอ

สโลแกนหาเสียงที่ว่า ภูมิใจไทย พรรคที่ “พูดแล้วทำ” มาวันนี้ควรต้องเปลี่ยนเป็น “ทำแล้วทิ้ง” ไปด้วยหรือไม่ ต้องถาม “เสี่ยหนู” เพราะการกระทำของพรรคภูมิใจไทยวันนี้พิสูจน์ชัดเจนว่า “ทำแล้วทิ้ง”

งานนี้ไม่น่าจะจบง่ายๆ เห็นว่า “เครือข่ายกัญชา” ปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่บ่ายวันจันทร์(8ก.ค.) เพื่อคัดค้านส่งกัญชากลับเป็นยาเสพติด พร้อมๆ กับยื่นข้อเรียกร้องถึง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการ ศึกษาใน 4 มิติ เทียบโทษบุหรี่-เหล้า

“ประสิทธิ์ชัย หนูนวล” เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ว่า หากรัฐบาลรับข้อเสนอ ศึกษาวิจัยจนตกผลึกร่วมกันให้นำผลการศึกษามาจัดสถานะกัญชา ว่าควรควบคุมโดยกฎหมายแบบใด โดยหากการศึกษาทั้ง 4 มิติ ปรากฏว่า กัญชาไม่ได้ร้ายแรงกว่าบุหรี่ และแอลกอฮอล์ รวมถึงไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคจิตเวช หรือทำลายสมองเด็ก อย่างที่กระทรวงสาธารณสุข ยุค“หมอสมศักดิ์”กล่าวอ้าง ก็ให้ควบคุมโดยใช้ พ.ร.บ.กัญชา แต่ถ้าหากพบว่าร้ายแรงกว่า ก็ให้นำไปควบคุมโดยกฎหมายยาเสพติดตามเดิม ก็ยินดี

แน่นอนว่า เครือข่ายจะปักหลักชุมนุมไม่ไปไหนจนกว่าจะได้คำตอบจากรัฐบาล โดยยืนยัน ควรตั้งกรรมการร่วมกันศึกษาก่อนจะกำหนดรูปแบบการควบคุม และควรศึกษาข้อเท็จจริงให้สังคมกระจ่างว่าที่ผ่านมาใครโกหกประชาชน!

หลังจากนี้จะเปิดโปงความเกี่ยวข้องของกลุ่มทุน กับคนในรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ทั้ง “สมศักดิ์ เทพสุทิน” และความสัมพันธ์ของนักธุรกิจคนหนึ่ง กับนายใหญ่ของพรรคเพื่อไทย จะแฉให้หมดว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างไร และ เป้าหมายในการควบคุมให้กัญชา กลับไปเป็นยาเสพติดโดยไม่มีเหตุผลในการคุ้มครองประชาชนตามที่อ้างนั้นทำเพื่อใคร?


กำลังโหลดความคิดเห็น