xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาล หนุน สถาบันการสร้างชาติฯ และผู้นำระดับโลก รวมพลังรับมือโลกแห่งความเหลื่อมล้ำ เพื่อขับเคลื่อนการสร้างชาติอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (26 มิ.ย.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมาย นายอนันต์ ดนตรี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการสร้างชาติ (ICNB) ครั้งที่ 8 “การสร้างชาติในโลกแห่งความเหลื่อมล้ำ” จัดโดยสถาบันการสร้างชาตินานาชาติ, สถาบันการสร้างชาติประเทศไทย, ประเทศมาเลเซีย, สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา, สถาบันอนาคตเอเชีย (เกาหลี) และ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีตัวแทนกว่า 70 ประเทศ ส่งผู้แทนเป็นผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วม อาทิ ผู้แทนของสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา, ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ฯพณฯ แมกซี โคฟี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสาร ประเทศตรินิแดดและโตเบโก, ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย, ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี, นายกร ทัพพะรังสี, ศ.ดร.ลาลิท โจห์รี อดีตนักวิชาการอาวุโสและผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรการจัดการและความเป็นผู้นำขั้นสูงของ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ, ดร.อาซา ทอร์เคลส์สัน หัวหน้ากองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) สำนักงานผู้แทนกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้, อดีตผู้อำนวยการ UNFPA ประจำประเทศไทย, ผศ.ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์, ศ.ดร.คริสเตียน ดับเบิลยู. แฮร์ปเฟอร์, รองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา และผู้เข้าร่วมกว่า 2,500 คน ทั้งออนไซต์และออนไลน์จาก 70 ประเทศ


โดยการประชุมนานาชาติครั้งนี้ เป็นการรวบรวมนักวิชาการ นักกำหนดนโยบาย และผู้ปฏิบัติงานจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อร่วมกันวิเคราะห์และทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงสาเหตุ รูปแบบ และผลกระทบของความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ที่มีต่อกระบวนการสร้างชาติ จากนั้นจะร่วมกันกำหนดกลยุทธ์และนโยบายนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาแบบครอบคลุมที่จะช่วยรับมือกับความท้าทายด้านความเหลื่อมล้ำในทุกมิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกันแล้ว การประชุมนี้จะยังเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดและกรณีศึกษาจากประเทศต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เข้าร่วมได้นำไปประยุกต์ใช้ในบริบท อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างบูรณาการ โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการนำไปสู่การขับเคลื่อนการเติบโตที่ครอบคลุมทุกกลุ่มในสังคม การลดความยากจน และการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น


นายอนันต์ กล่าวว่า เมื่อมองไปในอนาคต เราเห็นได้ชัดเจนว่า ช่องว่างระหว่างชนชั้นนำกับคนชายขอบจะยังคงขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยี เช่น AI หุ่นยนต์ และบล็อกเชนจะมีศักยภาพในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจสำหรับบางกลุ่ม ในขณะเดียวกัน อาจจะทำให้คนบางกลุ่มถูกละทิ้งได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ทวีความรุนแรงขึ้น และสร้างความเหลื่อมล้ำใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มและความท้าทายเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องประเมินแนวทางการสร้างชาติของเราใหม่ เราจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงของโลกที่มีความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งต้องการยุทธศาสตร์ใหม่ๆ มาใช้ โดยให้ความสำคัญกับความเสมอภาค การไม่แบ่งแยก และความยุติธรรมทางสังคม 

พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการดำเนินนโยบายที่มุ่งส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เราได้จัดทำนโยบายการพัฒนาที่มุ่งเน้นการเติบโตที่เท่าเทียม เห็นได้จากนโยบายต่างๆ ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมา ทั้งเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมครั้งนี้ได้มอบโอกาสอันมีค่าในการแลกเปลี่ยนความรู้ และแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการสร้างประเทศที่ตั้งอยู่บนความเท่าเทียมกัน เพื่อพัฒนาโลกที่มีความอารยะมากขึ้นด้วยกัน


ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ กล่าวว่า การประชุมปีนี้ เน้นสะท้อนให้เห็นภาพความแตกต่างในมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทั้งในระดับชุมชน สังคม ประเทศชาติ จนถึงที่ปรากฏในระดับโลก โดยเฉพาะความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ จนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ความไม่เสมอภาค และความไม่ยุติธรรมในที่สุด

โดย ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ หรือ ความไม่ “เสมอสภาพ” ตั้งแต่ต้นกระบวนการอย่างปัจจัยนำเข้า กลไกทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กระทั่งผลลัพธ์จากการพัฒนาและสร้างชาติ อีกทั้งได้นำเสนอแนวทางการสร้างชาติภายใต้บริบทโลกแห่งความไม่เท่าเทียมว่าควรเริ่มต้นด้วยการทำให้โลกใบนี้เป็นโลกแห่งความร่วมมือพร้อมกัน มากกว่าโลกแห่งการแข่งขัน เนื่องจากโลกแห่งการแข่งขันอย่างเดียวมิได้นำมาซึ่งผลชัยที่ทุกฝ่ายชนะ-ชนะร่วมกัน ทว่านำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำและความเท่าเทียมที่มากขึ้น


พร้อมกันนี้ ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ ยังได้เสนอแนะการสร้างกลไกและนวัตกรรมแห่งสถาปัตยกรรมเพื่อความเท่าเทียม ทั้งการกำหนดนโยบาย กฎระเบียบโลกสำหรับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ กฎระเบียบการลงทุนที่มุ่งเน้นให้คุ้มครองประเทศและประชาชนมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้มีการลงทุนเพื่อสังคมมากขึ้น เพื่อลดความไม่เท่าเทียม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นระเบียบทางการเงิน การป้องกันการผูกขาดทางธุรกิจ การสร้างตาข่ายทางสังคมช่วยเหลือคนจน กลุ่มคนเปราะบาง รวมถึงการสร้างกลุ่มกองทุนเวลาโลก เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

“การลดความไม่เท่าเทียม หรือ การสร้างเสมอสภาพในโลกนี้ต้องอาศัยความรู้อย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศมหาอำนาจและกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน และไม่ทิ้งประเทศหนึ่งประเทศใดไว้ข้างหลัง พร้อมทั้งเชื่อว่า การประชุมนี้เป็นการขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้าเพื่อจะเดินไปด้วยกันให้มีแนวคิดที่ถูกต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง “ผมพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลและภาครัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการลดความไม่เสมอสภาพกันในชาติทุกมิติ และไม่ต้องการที่จะเป็นเวทีเพื่อการพูดเท่านั้น แต่ต้องการที่จะทำให้ประเทศไทยนั้นดีขึ้น หากเราร่วมมือกัน”


กำลังโหลดความคิดเห็น