xs
xsm
sm
md
lg

'เด็กเล็ก'เผชิญภาวะอ้วนพุ่งขึ้น2 เท่า นักวิชาการชี้การตลาดอาหาร เครื่องดื่ม สื่อ ตัวกระตุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เด็กไทยน่าห่วง นักวิชาการเตือนอิทธิพลการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม สื่อ ทำเด็กเล็กเผชิญภาวะอ้วนพุ่งขึ้นถึง 2เท่า ส่งผลกระทบพัฒนาการล่าช้า เสี่ยงเกิดโรคเพียบ ซ้ำทำถูกบูลลี่

วันนี้(22มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันส่งเสริมบทบาทพ่อแม่เพื่อสังคม เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย องค์การยูนิเซฟ แผนงาน WHO CCS-NCD และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเวที ประชุมเชิงปฏิบัติการฯ " เด็กไทย กินอย่างไร สุขภาพดี รู้เท่ากันการตลาดหวานมันเค็ม "เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงในกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก เกิดความตระหนักถึงสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก และผลกระทบจากการตลาดอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพเด็ก

พญ.วิสารัตน์ ธีระโกเมน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานการเฝ้าระวังโรคอ้วนในเด็กของประเทศไทย พบแนวโน้มเด็กที่มีภาวะอ้วน และเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดย 10 ปีที่ผ่านมา เด็กอายุ 0-5 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.6 เป็น 8.76 เด็กวัยเรียนอายุ 6-14 ปี อ้วนมากขึ้นจากเดิมร้อยละ 8.9 เป็นร้อยละ 13.2 ซึ่งถือว่าเกินเป้าหมายระดับชาติที่กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 11.5 ในปี 2567

“สอดคล้องกับรายงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สำหรับในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า เด็กเล็กมีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน มากกว่า 2 เท่า จากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 10.6 และในเด็กวัยเรียนเกือบเป็น 3 เท่าจากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 15.4 ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องตระหนักมากขึ้น”

พญ.วิสารัตน์ กล่าวอีกว่า จากคาดการณ์ของสหพันธ์โรคอ้วนโลก หรือ WOF ในปี 2573 จะมีเด็กอ้วนทั่วโลกมากถึง 1 ใน 3 โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงถึงร้อยละ 30 ทั้งนี้โรคอ้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา นำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ทั้งโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เด็กที่อ้วนมีแนวโน้มโตไปเป็นผู้ใหญ่แล้วอ้วนมากถึง 5 เท่า ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพและเกิดการสูญเสียก่อนวันอันควร นอกจากนี้พบว่าร้อยละ 31 ของผู้ป่วยเบาหวานเคยเป็นเด็กอ้วน และร้อยละ 22 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเคยเป็นเด็กอ้วน คิดเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี จากค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค และการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ทั้งนี้โรคอ้วนในเด็กส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ แทบทุกระบบ ด้านพัฒนาการล่าช้า มีภาวะทางเดินหายใจอุดกลั้น เสี่ยงโรคหอบหืด เกิดภาวะไขมันพอกตับ หรือนิ่วในถุงน้ำดี และพบว่า เกิดโรคกระดูกและข้อที่จะเสื่อมเร็วกว่าปกติ พบสัญญาณเป็นเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง รวมถึงไขมันในเลือดสูง ส่วนผลกระทบต่อสภาพจิตใจ เด็กที่มีภาวะอ้วนประมาณ ร้อยละ 60 จะถูกรังแกถูกล้อเลียนมากกว่าเด็กทั่วไป ทำให้เด็กมีความเครียดวิตกกังวล รู้สึกด้อย ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่ค่อยเข้าสังคม

สำหรับสาเหตุของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็ก ส่วนแรกเลยคือ กรรมพันธุ์ ต่อมาคือพฤติกรรมการออกกำลังกาย หรือการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ รวมถึงการบริโภคอาหารที่ไม่สมดุล บริโภคอาหารเค็มมาก หวานมาก มีพลังงานมากกว่าที่ร่างกายต้องการ

“สิ่งแวดล้อมส่งผลต่อพฤติกรรม โดยเฉพาะการตลาดอาหารมีผลต่อการที่เด็กเข้าถึงสื่อมากๆ เมื่อพบเห็นการตลาดอาหารที่มีไขมันน้ำตาลโซเดียมสูงจะกระตุ้นให้เด็กบริโภคมากขึ้น ซึ่งจากรายงานการสำรวจยังพบอีกว่า 1 ใน 3 ของเด็กไทยมีพฤติกรรมบริโภคอาหารที่ทำให้เป็นโรคอ้วน ได้แก่ นมรสหวาน ขนมขบเคี้ยว และ 2 ใน 5 ของเด็กไทย บริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ด 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์”

ด้านน.ส.วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า สิทธิของเด็กคือการมีชีวิต การอยู่รอด และการพัฒนาของเด็ก หากมาดูเรื่องการบริโภค พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 23 ระบุว่าต้องเลี้ยงดูเด็กให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ รวมถึงการดูแลสุขภาพจากการบริโภคด้วยเช่นกัน

"แม้ว่าการตลาดอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเด็กดีเพียงใดก็ไม่มีสิทธิ์ทำร้ายเด็กได้ถ้าเขารู้เท่าทัน ฉะนั้น รัฐจะต้องทำหน้าที่ให้เขารู้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ประชาชนพึงต้องรู้ และขอความร่วมมือกับภาคธุรกิจดำเนินการตลาดอย่างสมควร ถ้าประชาชนรู้สึกปลอดภัยบ้านเราก็แทบไม่ต้องออกกฎหมายเลย"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้มีภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ด้านเด็กเยาวชน และครอบครัว พร้อมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชน เข้าร่วมการประชุมแบบ Onsite และ Online รวมทั้งสิ้นประมาณ 250 คน โดยร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มหวานมันเค็ม รวมทั้งร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนมาตรการทางกฎหมายฯ โดยคาดหวังให้เกิดการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของเด็กอย่างยั่งยืน ซึ่งมากกว่าร้อยละ 98 ของผู้เข้าร่วมมีความตระหนักถึงผลกระทบของการตลาดอาหารหวานมันเค็มต่อสุขภาพเด็ก

สำหรับความคืบหน้า ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก (อาหารที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง) ฉบับแก้ไข ซึ่งได้ผ่านการประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว ล่าสุด อยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอเข้ากระบวนการทางกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น