xs
xsm
sm
md
lg

มทภ.4 ร่วมประชุมเสริมสร้างความเข้าใจกับคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม 8 ชาติ ยันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มทภ.4 ร่วมประชุมเสริมสร้างความเข้าใจกับคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม 8 ชาติ ยันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับหลักกฎหมายสากล

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ที่ อาคาร TK PARK ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ร่วมประชุมเสริมสร้างความเข้าใจกับคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม (The Organization of Islamic Cooperation) ในกิจกรรมเสริมความเข้าใจและสานสัมพันธ์คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม ประจำปี 2567 ประกอบไปด้วยเอกอัครราชทูตและผู้แทนต่างประเทศประจำประเทศไทยทั้ง 8 ประเทศ ได้แก่บรูไน, อียิปต์, อิหร่าน, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, ไนจีเรีย, อินโดนีเซีย และอุซเบกิสถาน ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), อธิบดีกรมการปกครอง, อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ผู้ว่าราชการทั้ง 4 จังหวัดภาคใต้ ปัตตานี  ยะลา, นราธิวาส และสงขลา ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการร่วมกิจกรรมฯ หลังให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติไปแล้วเมื่อเย็นวานนี้

พลโท ศานติ ศกุนตนาค เปิดเผยถึงภารกิจงานด้านความมั่นคงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ที่มีภารกิจหลักสำคัญในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ ซึ่งปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาซับซ้อนเชื่อมโยงหลายมิติ พื้นฐานเกิดจากความต้องการมีตัวตนและการดำรงอยู่ของอัตลักษณ์ ภายใต้ความแตกต่างของสังคมและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มผู้เห็นต่างบางกลุ่มได้ฉวยโอกาสนำความแตกต่างเรื่องศาสนามาเป็นเงื่อนไขและนำหลักศาสนามาบิดเบือน ปลุกเร้าในการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรง ซึ่งแท้จริงแล้วปัญหาของพื้นที่ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งทางศาสนา ดังที่สำนักจุฬาราชมนตรีได้เคยวินิจฉัยไว้ว่า พื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่ “ดินแดนดารุลฮัรบี” คือ ไม่ใช่ดินแดนแห่งสงคราม ตามที่คนบางกลุ่มกล่าวอ้าง ย้ำเหตุการณ์สะเทือนใจที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่นับถือศาสนาอิสลามถูกสังหารเสียชีวิต 3 เหตุการณ์ คือ หนึ่งในนั้นเป็นสุภาพสตรี คือ อาสาสมัครทหารพรานหญิง นูรีชัน พรหมศรี ถูกลอบยิงเสียชีวิตขณะช่วยครอบครัวขายอาหารที่ตลาดนัดดุชงญอ จังหวัดนราธิวาส ,เหตุการณ์ที่สอง อาสาสมัคร รุสลี ดาเส็ง ถูกลอบยิงเสียชีวิตภายในกุโบร์ ขณะอ่านคัมภีร์ หรือดุอาร์ ให้กับบิดาที่เสียชีวิต ที่จังหวัดยะลา และเหตุการณ์ที่สาม นายหมู่ใหญ่ มะดาโอ๊ะ วายีเกา เจ้าหน้าที่สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ชุดคุ้มครองตำบลบาเจาะ ถูกลอบยิงเสียชีวิตขณะเดินทางกลับจากการประกอบศาสนกิจ (ละหมาด) ที่จังหวัดยะลา เช่นกัน

ส่วนข้อเท็จจริงที่ต้องการสื่อสารไปยังนานาชาติ คือ ดินแดนแห่งนี้ ทุกคนมีสิทธิ มีเสรีภาพการดำรงชีวิตประจำวันภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย รวมถึงการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและเผยแพร่ศาสนาได้เป็นปกติ ไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ ที่จะนำไปกล่าวอ้างได้ว่าเป็นความขัดแย้งทางศาสนาแม้แต่น้อย ยืนยันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายสากลปัจจุบัน เรามีแนวทางในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครประจำพื้นที่ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนภายใต้การพึ่งพาตนเอง รวมทั้งสนับสนุนการสร้างสภาวะแวดล้อม ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้เอื้อต่องานด้านการพัฒนารองรับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

สำหรับการต้อนรับคณะทูตจาก 8 ประเทศ สู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ถือว่าเป็นโอกาสในการแนะนำแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สวยงามของไทย เพื่อเยี่ยมชมเมืองงามที่หลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตประชาชน ของดีชายแดนใต้ ตลอดจนได้รับทราบการดำเนินงานนโยบายรัฐบาลของเจ้าหน้าที่ หน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่ พร้อมประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อเท็จจริงเชิงบวกเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนใต้แก่คณะทูต เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศ นำไปสู่การพัฒนาและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ในนามรัฐบาล โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มุ่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภายใต้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่พี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือทุกศาสนาและสนับสนุน ส่งเสริมวัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงการแต่งกาย ซึ่งเป็นอัตลักษณ์อันงดงาม ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างเท่าเทียม และที่ผ่านมา ชาวมุสลิมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างผู้คนทุกเชื้อชาติและศาสนา


























กำลังโหลดความคิดเห็น