ธาตุแท้ BBC ขุดเหตุจลาจลในรัฐคุชราตเมื่อ 21 ปีก่อนและคดีจบไปแล้ว ขึ้นมาทำสารคดีทำลายชื่อเสียงนายกฯ อินเดีย ก่อนการเลือกตั้งจะมีขึ้นปีหน้า หวังสกัดพรรคการเมืองของ “นเรนทรา โมดี” ไม่ให้ได้ชัยชนะ หลังจากที่ได้ชูนโยบายทำอินเดียให้เข้มแข็ง ยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักบนเวทีการเมืองโลก จนอิทธิพลชาติตะวันตกในอินเดียเสื่อมถอยลง
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้เปิดเผยให้เห็นธาตุแท้ของสำนักข่าวบีบีซี ของอังกฤษอีกครั้ง กรณีการเผยแพร่สารคดีเพื่อทำลายชื่อเสียงของนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ก่อนที่การเลือกตั้งจะมีขึ้นในปีหน้า
นายสนธิกล่าวว่า ตนทำข่าวมา 50 ปีรู้เช่นเห็นชาติสื่อทางตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บีบีซี สื่อสัญชาติอังกฤษที่มีวิธีการบ่อนทำลาย สร้างความแตกแยก ทำตัวเป็นหน่วยปฏิบัติการการข่าวเพื่อแทรกแซงและบ่อนทำลายความเชื่อมั่นต่อสถาบัน หรือผู้นำการเมืองในประเทศนั้นจนล้มพังลงไป
ล่าสุด บีบีซี ได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกมาทิ่มแทงผู้นำอินเดียคนปัจจุบัน คือ นายนเรนทรา โมดี ด้วยการเผยแพร่สารคดี 2 ตอน ที่ชื่อว่า "India : The Modi Question" หรือ "อินเดีย : คำถามที่มีถึงนายโมดี" ไปขุดเอาเรื่องเดิม เปิดแผลเก่าของโมดี เมื่อปี 2545 หรือ 21 ปีที่แล้ว
สารคดีของ บีบีซี ที่มุ่งเป้าไปที่ตัวนายโมดี โดยอ้างว่าเป็นการตีแผ่และตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้นำสูงสุดของอินเดีย ในสมัยที่นายโมดี เป็นมุขมนตรีรัฐคุชราต รัฐเล็กๆ ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ขณะที่เกิดจลาจลรุนแรงทางศาสนาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,044 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม 800 คน ชาวฮินดู 244 คน
เหตุจลาจลนี้เกิดขึ้น 1 วันหลังจากรถไฟสายซาบาร์มาตี เอ็กซ์เพรส (SABARMATI EXPRESS) คือรถด่วนสายซาบาร์มาตี ที่พาผู้แสวงบุญชาวฮินดูเดินทางกลับ เกิดเหตุไฟไหม้ ส่งผลให้ชาวฮินดูในรถไฟตายถึง 50 คน กลายเป็นชนวนก่อจลาจลที่รุนแรงของชาวฮินดูทั่วรัฐคุชราต ถือเป็นเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อินเดีย ซึ่งมีประชากรมุสลิมถึง 200 ล้านคน
จากโศกนาฏกรรมเรื่องนี้ มีการส่งเรื่องฟ้องร้องถึงศาลฎีกาอินเดีย ซึ่งแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจสืบสวนสอบสวนและทำรายงานสรุปยาวกว่า 541 หน้า ในปี 2555 ระบุว่า ไม่มีหลักฐานที่จะเอาผิดนายโมดี และเจ้าหน้าที่ระดับสูง 62 คน กรณีที่ละเลย เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์จลาจลในขณะนั้น ทำให้นายโมดี พ้นมลทิน อังกฤษ และอเมริกา ยกเลิกการคว่ำบาตรทางการทูตกับอินเดียในปี 2548 และยกเลิกการห้ามนายโมดี เดินทางด้วย
ทำไม BBC จงใจขุดเรื่องเก่าขึ้นมาเล่นงานในตอนนี้?
คดีดังกล่าวจบไปเรียบร้อยแล้ว แต่ข้อกล่าวหาก็ยังเป็นรอยด่างพร้อยที่ติดตัวนายโมดี มาตลอด แม้จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอินเดียถึง 2 สมัย สมัยละ 5 ปี หลังจากที่พรรคชาตินิยมฮินดู ของโมดี ชนะเลือกตั้งสมัยแรกในปี 2557 และชนะเลือกตั้งสมัยที่สอง ปี 2562 อย่างถล่มทลาย และจะครบวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ภายในเดือนพฤษภาคม 2567
ทำไมอังกฤษออกมาพูดอีก ? ก็เพราะว่าจุดเปลี่ยนผู้นำอินเดียคนใหม่ในปี 2567 หรือปีหน้านี้ ที่เป็นชนวนของสถานการณ์การเมืองที่อ่อนไหวภายในประเทศอินเดีย เป็นเหตุให้สื่ออังกฤษ (บีบีซี) ซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐบาลอังกฤษ เริ่มภารกิจปลุกปั่นกระแสเปิดแผลเก่า โมดี ตั้งแต่ปี 2566
ก็คือปีหน้าจะมีการครบวาระของนายโมดี วาระ 2 ก็ลุยมันตอนนี้เลย เอาเรื่องเก่าซึ่งไม่เป็นเรื่องอะไรแล้วตอนนี้ เพราะจบไปตั้งแต่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและตัดสินว่านายโมดี ไม่ผิด
แต่ก็ยังหาเรื่อง เอาเรื่องเก่าขึ้นมา เผยแพร่สารคดีนายโมดี ชื่อ The Modi Question ออกมา เนื้อหาสำคัญได้อ้างอิงรายงานที่ยังไม่เคยถูกเผยแพร่มาก่อน มาจากกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ซึ่ง บีบีซี ได้ข้อมูลมา
น่าสงสัยมาก มาอ้างว่าได้ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับนายโมดี ระหว่างการจลาจลเนื่องจากศาสนา และรายงานนี้สรุปได้ว่า ตราบใดที่นายโมดี ยังคงอยู่ในอำนาจ การปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้
นั่นก็คือการปูพื้นไว้แล้วว่าปีหน้าเลือกตั้ง อย่าให้นายโมดีกลับมาอีก หรือถ้าเลือกตั้งครั้งที่สาม นายโมดี ไม่ได้ ก็อย่าให้ทีมงานของนายโมดี กลับเข้ามาอีก
สารคดี 2 ตอน ยาว 59 นาทีนี้ อ้างว่า นายโมดี ได้พบผู้บัญชาการตำรวจ ออกคำสั่งให้ตำรวจทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นต่อการจลาจลโจมตีชาวมุสลิม ชี้ว่าการจลาจลเป็นเหตุจูงใจทางการเมืองที่มีเป้าหมายกวาดล้างชาวมุสลิมอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ บีบีซี ยังรายงานบทสัมภาษณ์อดีตนักการทูตอังกฤษ ซึ่งไม่ยอมเปิดเผยตัวตน เป็นส่วนหนึ่งของสารคดีดังกล่าว ตอกลิ่มความขัดแย้งทางศาสนาให้มากขึ้นไป
อินเดียแบนสารคดี BBC อัดตะวันตกแทรกแซงการเมืองภายใน
ในที่สุดแล้ว สำนักนายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้ใช้อำนาจฉุกเฉินภายใต้กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ และนายกันจัน กุปตา (Kanchan Gupta) รัฐมนตรีเทคโนโลยีอินเดีย ได้ออกคำสั่งห้ามเผยแพร่สารคดี "India : The Modi Question" ในยูทูบ และในทวิตเตอร์ แต่กลายเป็นการยุยงให้นักศึกษาอินเดียบางกลุ่มจัดกิจกรรมฉายสารคดี บีบีซี เกิดการประท้วงและถูกควบคุมตัวไป
เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มเยาวชนหนุ่มสาวชาวอินเดียที่เป็นเป้าหมายของ บีบีซี ที่มุ่งหมายปลุกปั่นกระแสขึ้นมา สมคบกับพวก NGO โจมตี กล่าวหารัฐบาลอินเดียของนายโมดี ว่าเป็นผู้นำขวาจัด ใช้อำนาจเกินเหตุ ปิดกั้นสารคดีของ บีบีซี
ทั้งนี้ เคยมีตัวอย่างแล้วในปี 2563 ซึ่งองค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาลของนายโมดี ที่เลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม ทำให้รัฐบาลโมดี เล่นงาน Amnesty ระบุว่า องค์กรนี้ละเมิดกฎเกณฑ์การรับเงินบริจาคจากต่างประเทศ ปิดสำนักงานในอินเดีย หลังจากที่บัญชีธนาคารถูกสั่งระงับ และถูกบุกค้นสำนักงาน
ฝั่งกระทรวงการต่างประเทศอินเดียออกแถลงการณ์ประณามสื่อ บีบีซี ว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านอินเดีย ต้องการสร้างความเสื่อมเสียต่อผู้นำอินเดีย โดยการนำเสนอเรื่องราวที่เต็มไปด้วยอคติ ยังคงจมอยู่กับการนำเสนอเนื้อหาภายใต้ชุดความคิดในยุคการล่าอาณานิคมอย่างโจ่งแจ้ง
อินเดียมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนหนึ่งซึ่งเก่งมาก ฝีปาก ฝีไม้ลายมือในการพูดจาคมกริบ เชือดเฉือนกันได้เต็มที่ ชื่อ นาย เอส. ไจแชนการ์
รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดียคนนี้มีบทบาทเด่นในเวทีโลก ได้พูดถึง บีบีซี ว่า พยายามให้ร้ายนายโมดี ปล่อยข่าวที่น่าตกใจกลัว ยึดแนวคิดหัวโบราณในเรื่องประชาธิปไตย และไม่ให้ความเคารพกับการตัดสินใจแบบประชาธิปไตยของประชาชนชาวอินเดีย
นายไจแชนการ์ เหน็บแนมฝรั่งตะวันตกว่า ยังมีคนบางกลุ่มยังเชื่อว่าคำจำกัดความของตัวเอง ความชอบของตัวเอง และความคิดเห็นของตัวเองจะต้องอยู่เหนือสิ่งอื่นใดในโลกนี้
ไจแชนการ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาของอินเดียไม่ใช่ปัญหาของยุโรป และปัญหาของยุโรปก็ไม่ใช่ปัญหาของอินเดีย
คือพูดง่ายๆ ว่าตัวใครตัวมัน พวกคุณอย่ามายุ่งเรื่องอินเดีย แล้วพวกคุณอย่าเอาเรื่องยูเครน กับ รัสเซีย มาบีบบังคับให้อินเดียต้องทำตามแนวนโยบายของพ่อของคุณ คืออเมริกา และอังกฤษ เพราะอินเดียเป็นประเทศเอกราช คิดเองเป็น
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 สรรพากรอินเดียบุกค้นสำนักงาน บีบีซี ในนิวเดลี และมุมไบ เป็นเวลา 3 วัน หลังจากมีการเผยแพร่สารคดีวิจารณ์นายกฯ โมดี
อินเดียสลัดหนีอิทธิพลตะวันตก
เป็นที่รู้กันว่า บีบีซี เอ็มไพร์ เซอร์วิส หรือบริการสื่อจักรวรรดิ บริติช ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อมาเป็น บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส (BBC WORLD SERVICE) ปัจจุบัน บีบีซีไทย ก็รวมอยู่ในนี้ด้วย ไม่เคยมีความเป็นกลาง เพราะดำเนินการภายใต้ทุนสนับสนุน และควบคุมโดยกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ
ที่ผ่านมา นายนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย เดินหน้าทางนโยบาย STRONGER INDIA ชูอินเดียก่อน ให้อินเดียเข้มแข็ง ยึดเอาผลประโยชน์ของชาติอินเดียเป็นหลักบนเวทีการเมือง การค้าโลก อินเดียมีประชากร 1,300 ล้านคน มีประชากรหนุ่มสาวที่มากที่สุดในโลก กำลังจะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จท่ามกลางวิกฤตโลกที่รุมเร้า คาดกันว่าถ้าจีนแซงอเมริกาในเรื่องเศรษฐกิจแล้ว อเมริกาตกไปอยู่อันดับสอง อีกไม่นาน ต่อไปอินเดียก็จะเตะอเมริกาอันดับสองออก แล้วก็มาหายใจรดต้นคอจีน
อินเดียมีนโยบายที่ชาญฉลาดในการกระจายความเสี่ยง ยึดผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นหลัก ไม่ปล่อยให้ตัวเองกลายเป็นหุ่นเชิดของตะวันตก จะเห็นได้ชัดเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับกรณีสงครามของยูเครน
อินเดียเดินนโยบายต่างประเทศ เอาประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง แล้วปรับเงื่อนไข ผูกมิตรกับมหาอำนาจแบบทวิภาคี และพหุภาคี เจรจากันตัวต่อตัว หรือเจรจารวมกันก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา รัสเซีย จีน เช่น QUAD, BRICS หรือ SCO เป็นต้น นอกจากนี้ อินเดียยังเข้าไปร่วมไตรภาคีกับฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้วย
นายไจแชนการ์ เคยตอบคำถามถึงจุดยืนของอินเดียเมื่อปีที่แล้ว เป็นประโยคทอง เมื่อถูกถามว่าอินเดียจะเลือกข้างอเมริกา หรือข้างจีน เขาบอกว่า
“เราไม่ยอมรับว่าอินเดียต้องเลือกข้างระหว่าง สหรัฐฯ หรือจีน เนื่องจากเราเป็น 1 ใน 5 ของประชากรโลก มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 หรือ 6 ของโลกเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกฝ่ายของเราเอง”
เมื่อกุมภาพันธ์ 2566 มีวิวาทะกันระหว่างนายไจแชนการ์ กับนายจอร์จ โซรอส เป็นข่าวดังไปทั่วโลก
นายจอร์จ โซรอส มีฉายาว่าพ่อมดทางการเงิน เป็นคนอเมริกันเชื้อสายยิว อายุ 92 ปี เกิดที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เมื่อปี 2473 ปัจจุบันเป็นประธานของ Soros Fund Management LLC เป็นที่รู้จักว่าเป็นหนึ่งในกองทุนเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) เก็งกำไรที่ทำลายเศรษฐกิจหลายประเทศมากที่สุด
เป็นตัวการทำร้ายประเทศต่างๆ ทางเศรษฐกิจมากที่สุดในประวัติศาสตร์ วิกฤตเศรษฐกิจไทย หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 สาเหตุส่วนใหญ่ก็มาจากนายโซรอสโจมตีค่าเงินบาท
ความร้ายกาจของโซรอส ทำให้สื่อทางการจีนอย่างโกลบอลไทมส์ ตั้งฉายานายจอร์จ โซรอส ว่า "ผู้ก่อการร้ายทางเศรษฐกิจระดับโลก"
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 นายโซรอส ได้พูดบนเวทีประชุมใหญ่ความมั่นคงที่เมืองมิวนิก ช่วงหนึ่งเขาวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นอินเดีย กับประชาธิปไตย เขาโจมตีนายโมดี ผู้นำอินเดียอย่างรุนแรงว่า อินเดียเคยเป็นประชาธิปไตย แต่นายโมดี ไม่เป็นประชาธิปไตยแม้แต่น้อย เนื่องจากยั่วยุให้เกิดความรุนแรงต่อชาวมุสลิม เป็นการตอกย้ำเนื้อหาของสารคดี บีบีซี
นอกจากนี้ ยังพยายามชี้ว่าอินเดียแม้จะอยู่ในกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือต่อต้านความมั่นคงของ QUAD ที่มีอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น แต่อินเดียก็ยังซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย และทำกำไรในจำนวนมหาศาล
นอกจากนี้ นายโซรอส ยังพูดถึงวิกฤตการณ์อดานี ที่นายอดานี ถูกบริษัทวิจัยการลงทุน ชื่อบริษัท Hindenburg Research เปิดโปงความผิดว่านายอดานี มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับนายโมดี แล้วก็กล่าวโทษนายโมดีว่าให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ทำให้ราคาหุ้นในเครืออดานี กรุ๊ป ร่วงทันที เสียหายหนักประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 4 แสนกว่าล้านบาท ความมั่งคั่งส่วนตัวของนายโกตัม อดานี (Gautam Adani) หายไปทันที 5,500 ล้านดอลลาร์ หรือ 180,000 ล้านบาท
โต้กลับ “โซรอส” หน้าหงาย
คำพูดของนายจอร์จ โซรอส มีเป้าประสงค์จะแทรกแซงอินเดียอย่างชัดเจน ทำให้นายไจแชนการ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย ตอบโต้กลับอย่างแรงผ่านการประชุมที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ว่านายจอร์จ โซรอส และพวก ชอบกระจายข่าวลือ สร้างความหวาดกลัวโดยใช้มุมมองเก่าๆ แบบอาณานิคม ผ่านสายตาของยูโร-แอตแลนติก (EURO-ATLANTIC) ในการนิยาม วิธีคิดและมุมมองต่อประชาธิปไตย แต่นายจอร์จ โซรอส กลับล้มเหลวในการเคารพในการเลือกเส้นทางประชาธิปไตยของประชากร 1,300 ล้านคน ของอินเดีย
ขณะเดียวกัน นาง Smriti Irani รัฐมนตรีกระทรวงสหภาพอินเดีย ร่วมประณามนายจอร์จ โซรอส ด้วยการกล่าวเตือนทุกคนว่า นายโซรอสเป็นอาชญากรทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ ออกมาแสดงเจตนาร้ายที่จะแทรกแซง ทำลายประชาธิปไตยของอินเดีย ซึ่งจะมีการเลือกตั้งทุกๆ 5 ปี ให้คนเลือกรัฐบาล
ส่วนนายไจรัม ราเมศ (Jairam Ramesh) ซึ่งเป็นผู้นำพรรคคองเกรสของอินเดีย กล่าวว่า ไม่ว่ากรณีการฉ้อฉลของอดานี ที่เชื่อมโยงกับนายกฯ จะจุดประกายต้องฟื้นฟูประชาธิปไตยในอินเดียหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสภา พรรคฝ่ายค้าน และกระบวนการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับนายจอร์จ โซรอส ไม่ได้หนักหัวกบาลนายจอร์จ โซรอส
สรุปประเด็นคือ อินเดียบอกจอร์จ โซรอส ว่าอย่าเสือก มันเป็นเรื่องของข้า เอ็งไม่เกี่ยว ไม่ต้องมาอ้างประชาธิปไตยและสังคมเปิดกว้าง โดยแฝงวาระซ่อนเร้นในการปลุกปั่นกระแสการเมืองภายในอินเดีย หนุนการเปลี่ยนรัฐบาลนิวเดลีของนายกฯ โมดี ในการเลือกตั้งอินเดียในปีหน้านั่นเอง
ทั้งนี้ หลังจากที่อินเดียเข้ารับตำแหน่งประธานกลุ่ม G20 ต่อจากอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 นายนเรนทรา โมดี ได้เขียนบทความลงสื่ออังกฤษ เรียกร้องให้ยุติสงคราม ชูคติพจน์ว่า "1 แผ่นดิน 1 ครอบครัว 1 อนาคต"
ตะวันตกสูญเสียอิทธิพลในอินเดีย
5 ปีที่ผ่านมา ดูตัวเลขแล้ว ชัดเจนว่ามหาอำนาจชาติตะวันตกอย่างอเมริกา เสียตลาดอาวุธสงครามในอินเดียให้กับรัสเซีย โดยรัฐบาลอินเดียซื้ออาวุธจากอเมริกาเพียง 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2 แสนล้านบาท แต่อินเดียซื้ออาวุธจากรัสเซีย 13,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 460,000 ล้านบาท ตอนนี้อินเดียยังสั่งซื้ออาวุธเพิ่มอีก 10,000 ล้านดอลลาร์ รวมเป็นงบอาวุธที่ซื้อจากรัสเซียถึง 23,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 810,000 ล้านบาท งบนี้มากกว่าซื้อจากอเมริกาถึง 4 เท่า
อินเดียก็เลยกลายเป็นประเทศที่ซื้ออาวุธรายใหญ่ที่สุดของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ลงนามในข้อตกลงระบบขีปนาวุธต้านอากาศยาน S-400 ที่ล้ำสมัย มูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์ โดยไม่หวั่นคำขู่คว่ำบาตรของมหาอำนาจอเมริกา
ตุลาคม 2565 นายโมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ระบุว่า รัสเซียสนับสนุนให้อินเดียเข้าเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และให้อินเดียเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ขายเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของโลก ยังมีข้อตกลงรัสเซียช่วยด้านรถไฟ ฝึกนักบินอวกาศ สร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในอินเดียอีกด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินเดีย นางนิรมล สีตะรามัน พูดว่า อินเดียอยากเป็นเพื่อนที่ดีกับชาติตะวันตก แต่อินเดียไม่อยากจะอ่อนแอ และจำเป็นต้องรักษาความมั่นคงของชาติ อเมริกาอยากขายอาวุธให้อินเดียมากขึ้น และนี่คือจุดที่อินเดียมีอำนาจต่อรอง
นอกจากนั้นแล้ว อินเดียยังไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียตามชาติตะวันตก กลุ่ม G7 และสหภาพยุโรป ที่กำหนดไว้ที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อตัดรายได้รัสเซีย
ใช้ บีบีซี กำจัด ”โมดี” ก้างขวางคอ
ภาวะการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของอเมริกา และชาติตะวันตก ที่มีต่อรัฐบาลอินเดีย จากการนำของนายนเรนทรา โมดี ที่ไม่เดินตามก้นพวกเขา จึงต้องทำลายสายสัมพันธ์นี้ตามหลักสงครามภูมิรัฐศาสตร์ เพราะอินเดียยืนกรานจะเลือกผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติตัวเองเป็นหลัก
คืออ้างอิงถึงความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์ จะค้าขายหรือซื้ออาวุธหรือพลังงานจากใครก็ตามที่ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดสำหรับอินเดีย ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นอเมริกา รัสเซีย จีน หรือประเทศอื่นๆ
เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่ออินเดียโดยการนำของนายโมดี เป็นก้างขวางคอการครอบงำทางเอเชียใต้ของอเมริกา และตะวันตก เพื่อชูอินเดียขึ้นมาเป็นหนึ่งในการต่อต้านอิทธิพลจีน
ก่อนสิ้นสุดวาระการเลือกตั้งปีหน้า ก็เลยใช้ บีบีซี เครื่องมือในคราบสื่อ ซึ่งไม่ใช่เหตุบังเอิญอย่างแน่นอน จงใจเลย สารคดี บีบีซี เรื่อง "India : The Modi Question" พยายามเปิดแผลเก่าเมื่อ 20 ปีที่แล้วของนายกรัฐมนตรีโมดีในเวลานี้ ชัดยิ่งกว่าชัดว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการโดยมีวาระซ่อนเร้น อันมีเป้าหมายในการปลุกปั่นความขัดแย้งรุนแรงทางศาสนาในอินเดียให้ลุกลาม ที่อาจจะกลายเป็นจลาจลในอินเดียขึ้นมาอีก
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังจริงๆ ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คืออดีตเจ้าอาณานิคมของอินเดีย คือ อังกฤษ กับมหามิตรอย่างสหรัฐฯ นั่นเอง
เตือน “นักการเมืองไทย” ระวังชาติตะวันตกตลบหลัง
เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำไทย และคณะ เข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคและคณะผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์
9 มกราคม 2566 นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค พบนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนและสมาชิกพรรคภูมิใจไทย
1 มีนาคม 2566 เวลา 16.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ คณะเอกอัครราชทูตจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย 16 ประเทศ นำโดยนายเดวิด เดลี ทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ไปพบปะเยี่ยมเยียนที่ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค นายนิพนธ์ บุญญามณี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค และ นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานคณะทำงานด้านต่างประเทศของพรรค ร่วมให้การต้อนรับ
เป็นเรื่องปกติที่เอกอัครราชทูตต่างประเทศต้องติดต่อ มีปฏิสัมพันธ์กับนักการเมืองไทย หรือข้าราชการไทย ยิ่งใกล้เวลาเลือกตั้ง ก็จะเห็นพวกนี้เดินสายมากเป็นพิเศษ เพื่อจะขอทราบข่าวคราวการเมืองเมืองไทยว่าก่อนเลือกตั้งเป็นอย่างไร หลังเลือกตั้งขั้วไหนจะจับกับขั้วไหน
แต่พวกทูตฝรั่ง โดยเฉพาะอยางยิ่งทูตตะวันตก มักมีวาระซ่อนเร้นพกเอาไว้เต็มกระเป๋า ช่วงแรกอาจจะปล่อยหมัดแย็บก่อน แต่พอเวลาเหมาะๆ ค่อยปล่อยหมัดชุด เวลาต้องการสร้างอำนาจต่อรองหรือใครที่กระด้างกระเดื่อง
ยกตัวอย่างกรณีของนายนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เมืองไทยก็เช่นกัน หัวหน้าพรรคทั้งหลายที่มีนายโกเดค ไปเยี่ยม ให้จำเอาไว้ ทูตเหล่านี้ถนัดภาษาการทูต พูดจาไพเราะ ปฏิบัติตนด้วยความนบนอบ แต่ทั้งหมดเป็นสิ่งที่บอกได้เลยว่า มีวาระซ่อนเร้นด้วยกันทั้งสิ้น สุภาษิตจีนโบราณเขาบอกว่า คนพวกนี้ “ซ่อนดาบในรอยยิ้ม”