xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาเก่าแก้ไม่ได้ ปัญหาใหม่ประดังมา ทิศทาง “ไฟใต้” จะเดินไปทางไหนและจบได้อย่างไร?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก

2 สัปดาห์ผ่านไปแบบไม่มีอะไรคืบหน้า สำหรับเหตุการณ์กองกำลังบีอาร์เอ็นถล่มสถานีตำรวจน้ำ วางระเบิดหน้าร้านสะดวกซื้อและเสาไฟฟ้าที่ ต.ตาบา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส โดยเฉพาะจับมือใครดมไม่ได้ และเปิดเผยไม่ได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดปฏิบัติการครั้งนี้

ถ้าถามไปที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็จะได้คำตอบว่าเป็นเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” เพราะมีการจับกุมผู้ค้าบุหรี่เถื่อน น้ำมันเถื่อนและยาเสพติด ทำให้นายทุนเสียประโยชน์และตอบโต้ด้วยการให้กองกำลังโจมตีสถานีตำรวจน้ำ

ถ้าเป็นจริงตามอ้าง ควรต้องถามกลับไปอีกครั้งว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ต้องการให้บ้านเมืองสงบ โดยเฉพาะถ้าต้องการ “สร้างภาพ” ให้รัฐบาลเห็นว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าทำงานได้ผล นับจากนี้ไปก็ปล่อยให้ “นายทุนเถื่อน” ทำธุรกิจเถื่อนอย่างเสรี ไม่ต้องมีการขัดขวางหรือจับกุมใดๆ เลย

เพราะเมื่อมีการกวาดล้างหรือจับกุมสินค้าเถื่อนต่างๆ เมื่อไหร่มีการตอบโต้ทันที อันจะทำให้หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่เสียรังวัดและถูกตำหนิได้

อย่างไรก็ตาม เชื่อขนมกินได้เลยว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเองไม่มีวันปราบปราม “ภัยแทรกซ้อน” ได้สำเร็จ เนื่องจากปราบปรามต่อเนื่องมาแล้วกว่า 18 ปีของไฟใต้ระลอกใหม่ ทว่าในวันนี้ “ภัยแทรกซ้อน” กลับดูเหมือนมีแต่จะโตวันโตคืนเสียมากกว่า

แต่ถ้าฟังจาก “แกนนำบีอาร์เอ็น” น่าจะได้คำตอบว่า การโจมตีโรงพักตำรวจน้ำตากใบและวางระเบิดในครั้งนั้นเป็นไปตาม “วงรอบ” ที่จะต้องมีปฏิบัติการเกิดขึ้น ซึ่งไม่มีอะไรที่เป็นพิเศษ เพรากองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นมีแผนก่อเหตุตามวงรอบอยู่แล้ว

ขณะที่ “ส่วนหัวบีอาร์เอ็น” ในรัฐกลันตันที่มาเลเซียก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบหรือปฏิเสธใดๆ ซึ่งการสร้างความคลุมเครือแบบนี้ถือเป็นหนึ่งในยุทธวิธีที่ใช้มาตลอด เพราะความหวาดกลัวของประชาชนได้ไปทำลายความน่าเชื่อถือของอำนาจรัฐที่ป้องกันเหตุไม่ได้ แถมไม่มีอะไรคืบหน้ายิ่งชี้ชัดว่าอำนาจรัฐอ่อนแอ

ด้านคณะพูดคุยสันติสุข ที่มีหัวหน้าชื่อ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ก็ปิดปากเงียบ ทั้งที่ควรมีข้อมูลชัดเจนอยู่ในมือ เพราะต่อสายพูดคุยกันแกนนำบีอาร์เอ็นได้ตลอด หรืออย่างน้อยก็บอกประชาชนได้ว่า หลังสัญญาหยุดยิง 40 วันช่วงรอมฎอนสิ้นสุด สถานการณ์ไฟใต้จะกลับสู่ “โหมดความรุนแรง” เหมือนเดิมเพื่อที่จะได้ตั้งรับกันก่อน

จากปัญหาภัยแทรกซ้อนมาสู่ประเด็นความขัดแย้งใน “โรงเรียนอนุบาลปัตตานี” ที่ศาลปกครองยะลาตัดสินให้เด็กนักเรียนหญิงมุสลิม “คลุมฮิญาบ” มาเรียนได้ แต่คณะกรรมการโรงเรียนกลับยังไม่ยินยอม โดยอ้างว่าโรงเรียนตั้งอยู่ในเขตธรณีสงฆ์ที่มีกฎกติกาของเจ้าของสถานที่ระบุไว้ และถือปฏิบัติกันมาแล้ว 50 ปี

เวลานี้กระบวนการทางศาลยังไม่สิ้นสุด เพราะคณะกรรมการโรงเรียนได้ยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองกลางแล้ว แถมกระบวนการ “ต่อสู้ระหว่างคนต่างศาสนิก” ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง มีการปลุกระดมจากฝ่ายสุดโต่งเพื่อขยายความขัดแย้งให้กว้างขวาง ถือเป็นการสร้าง “ความเกลียดชัง” อันจะนำไปสู่ “ความรุนแรง” ได้ตลอดเวลา

นับเป็นความพยายามจุดไฟ “สงครามศาสนา” ให้ปะทุก็ว่าได้ ซึ่งเข้าทางองค์กรชาติตะวันตกที่เข้ามาปฏิบัติการแล้วหลายปีในพื้นที่ โดยส่งตัวแทนพบปะพูดคุยกับชาวชายแดนใต้แบบมักจะมีการถามนำตลอดว่า ไฟใต้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางศาสนาใช่หรือไม่

ถึงวันนี้ปัญหาในโรงเรียนอนุบาลปัตตานียังไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบแก้ปัญหาโดยตรง นอกจากรอคำตัดสินจากศาลปกครองกลาง และแน่นอนไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาอย่างไร เชื่อว่าจะมีฝ่ายไม่ยอมรับเกิดขึ้นตามมาอีก แล้วสุดท้ายจะกลายเป็น “บาดแผลลึก” ฝังในหัวใจผู้คนในพื้นที่ไปตราบนานเท่านาน

อีกประเด็นคือกรณี นายวิชาญ ชัยเศรษฐสัมพันธ์ สมัยเป็นนายอำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส มีผู้ร้องเรียนไปยังกรมการปกครองว่าเป็นปรปักษ์กับคนมุสลิม จึงมีการสั่งย้ายไปประจำโรงเรียนนายอำเภอ หลังสอบสวนให้มานั่งตำแหน่งนายอำเภอสุไหงปาดี จ.นราธิวาส แต่ยังมีการต่อต้านไม่ให้เข้าพื้นที่ สุดท้ายต้องชะลอคำสั่งไว้ก่อนนั้น

เรื่องนี้สำคัญต่อ “อำนาจรัฐ” ในชายแดนใต้แน่นอน เพราะถ้าผลการสอบสวนชี้ว่าไม่มีความผิด ย่อมมีสิทธิกลับเข้ามารับราชการในพื้นที่ อันเป็นการคืนความเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกร้องเรียน โดยต้องไม่หวั่นไหวไปกับคนบางกลุ่มที่อาจมีความขัดแย้งเป็นการส่วนตัวกับผู้ที่ถูกร้องเรียน

การสั่งชะลอคำสั่งให้กลับไปเป็นนายอำเภอสุไหงปาดี นั่นเท่ากับยอมให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายหรือไม่ แล้วอย่างนี้อำนาจรัฐในชายแดนใต้จะถูกสั่นไหวหรือเปล่า จากนี้ไปบ้านเมืองจะอยู่กันอย่างไร เรื่องนี้กรมการปกครองต้องคิดให้มาก อย่าคิดแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้พ้นๆ ไปเท่านั้น

จำได้ว่าเมื่อครั้งมีคำสั่งให้นายธีระ มินทราศักดิ์ จากผู้ว่าฯ ปัตตานีไปเป็นผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช ชาวไทยพุทธกลุ่มหนึ่งออกมาคัดค้านไม่ต้องการให้ “มุสลิม” ได้นั่งเป็นผู้ว่าฯ “เมืองพระ” แต่กรมการปกครองก็ไม่ได้ชะลอคำสั่งดังกล่าว และอยู่ในตำแหน่งได้จนเกษียณ

และเมื่อไม่นานมานี้มีการโยกย้ายนายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าฯ น่าน มาเป็นผู้ว่าฯ ปัตตานี คนปัตตานีกลุ่มหนึ่งคัดค้านไม่ต้องการ “ผู้ว่าฯ ปีเดียว” หรือ “ผู้ว่าฯ รอเกษียณ” แต่ก็ไม่ชะลอคำสั่งเช่นกัน ดังนั้นกรมการปกครองต้องยึดบรรทัดฐานเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ข้าราชการ โดยเฉพาะในพื้นที่พิเศษอย่างชายแดนใต้

วันนี้หยิบยกปัญหามาให้พิจารณาแค่ 3 ประเด็นก็เพื่อบอกว่า กว่า 18 ปีไฟใต้ระลอกใหม่นอกจากปัญหาเดิมๆ มากมายยังแก้ไม่ตกแล้ว ยังมีปัญหาใหม่ๆ ทับถมเข้ามาแบบไม่หยุดหย่อน จึงขอตั้งคำถามสั้นๆ กับทุกผู้เกี่ยวข้องว่า ต่อไปนี้ทิศทางการดับไฟใต้จะเดินไปทางไหน แล้วจะทำให้มอบดับได้อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น