xs
xsm
sm
md
lg

“ประสิทธิ์ชัย” จี้ ทีดีอาร์ไอ แจงการใช้หลักฐานงานวิจัยใส่ร้ายกัญชา ซัดใช้ข้อมูลอคติ ผลวิเคราะห์บิดเบี้ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แกนนำเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย เขียน จม.เปิดผนึกถึงประธานทีดีอาร์ไอ ชี้แจงการใช้หลักฐานข้อมูลในงานวิเคราะห์งานวิจัยกัญชา ชี้ ใช้ฐานข้อมูลที่มาจากอคติ ผลวิเคราะห์จึงบิดเบี้ยว ใส่ร้ายกัญชา ซัด “วิโรจน์ ณ ระนอง” ใช้หลักฐานวิชาการแบบมักง่าย ตัดสินกัญชาว่ารักษาโรคไม่ได้

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2567 ประเด็นงานวิจัยกัญชาของทีดีอาร์ไอ มีรายละเอียดดังนี้

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
คำถามที่อยากถามต่อประธานสถาบัน คือ ทีดีอาร์ไอได้งบประมาณกี่ร้อยล้านในการวิจัยกัญชา เหตุผลที่ต้องถาม เพราะผลวิจัยของพวกคุณแค่รีวิวเอกสารที่กล่าวร้ายกัญชาแล้วนำบทวิเคราะห์เหล่านั้นมาเผยแพร่กับสังคม เพราะเชื่อมั่นว่าด้วยเครดิตของทีดีอาร์ไอ คงไม่มีคนตั้งคำถามกับงานวิจัยชิ้นนี้

พวกคุณได้งบวิจัยเข้ากระเป๋ากันคนละกี่บาทที่ทำงานวิจัยใส่ร้ายกัญชา

ปัญหาผลการวิจัยของพวกคุณอยู่ตรงไหนรู้ไหมครับ
ปัญหาของพวกคุณอยู่ที่การใช้ข้อมูลพื้นฐานที่บิดเบี้ยว ฐานข้อมูลในงานวิจัยกัญชาและการเก็บตัวเลขในประเทศไทย เกิดจากการกระทำของผู้รังเกียจกัญชา สังเกตจากงานวิจัยหลายชิ้นของพวกนักวิชาการที่ทำออกมาล้วนใส่ร้ายกัญชาเพราะใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน

ไม่ว่าเอานักวิชาการอีกกี่คณะไปวิจัยก็ยังได้ผลแบบเดียวกันเพราะพวกคุณใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน และฐานข้อมูลเหล่านั้นเกิดขึ้นจากอคติ

สิ่งที่พวกคุณต้องทำก่อน คือ การตรวจสอบหลักฐานข้อมูลที่พวกคุณใช้ในการวิเคราะห์ เพราะถ้าเอกสารมันบิดเบี้ยวบทวิเคราะห์ของพวกคุณก็บิดเบี้ยว ความมักง่ายในการตรวจสอบหลักฐานการวิเคราะห์จะนำมาสู่ความเข้าใจผิดของสังคมและที่สำคัญรัฐจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปกำหนดนโยบายที่มันผิดเพี้ยนไม่ตรงกับความจริง


ผมอยากรู้ว่าคุณใช้ฐานข้อมูลมือสองหรือว่าเก็บข้อมูลใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วน และวิธีเก็บข้อมูลของคุณทำอย่างไร นักวิชาการของคุณคนหนึ่งชื่อ วิโรจน์ ณ ระนอง ออกบทความเกี่ยวกัญชาระบุว่า

“นอกจากการใช้กัญชาจะเพิ่มความเสี่ยงในการเสพติดกัญชาและอาจกระตุ้นให้เกิดโรคจิตเภทโดยเฉพาะกับเยาวชนแล้ว กัญชายังเป็นพืชที่ดูดโลหะหนักจากดินเข้ามาได้มากกว่าพืชทั่วไปมาก ทำให้กัญชาที่ปลูกกันเอง (รวมทั้งที่ปลูกแบบอินทรีย์) มีความเสี่ยงที่จะปนเปื้อนโลหะหนักในระดับที่อาจเป็นอันตรายได้ ทำให้มาตรการที่ให้ประชาชนปลูกและใช้กัญชาเป็นสมุนไพรอาจกลายเป็นมาตรการที่ก่อพิษภัยด้านสุขภาพในระยะยาว”

นอกจากนี้แล้ว ในบทความยังมีบทวิเคราะห์ว่า การรักษาด้วยกัญชาทำได้ไม่จริง ยกอ้างตัวเลขและบทสัมภาษณ์แต่ก็ยังหักบทสัมภาษณ์ของหมอแผนไทยคนหนึ่งว่าไม่จริง

การที่พวกคุณมีคำตอบอยู่แล้วเพียงแค่หาหลักฐานมาสนับสนุนคำตอบที่คุณอยากได้ก็เท่านั้น เพราะแหล่งทุนมีขอบเขตบางอย่างก่อนที่จะจ่ายเงินให้คุณและแน่นอนคนจ่ายเงินคงเป็นหน่วยงานรัฐที่รังเกียจกัญชา ฉะนั้น งานวิจัยของพวกคุณจึงคาดเดาผลลัพธ์ได้ว่าจะออกมาอย่างไร

ขอความกรุณาชี้แจงการใช้หลักฐานข้อมูลในการวิเคราะห์งานวิจัยชิ้นนี้ด้วยครับ เพราะไม่เช่นนั้น ทีดีอาร์ไอคือส่วนสำคัญที่ซ้ำเติมความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนเรื่องกัญชา

พวกคุณโตมาจากกองเงิน แต่ละคนถูกส่งไปเรียนต่างประเทศ วันๆ อยู่กับทฤษฎีในห้องแอร์ เวลาไม่สบายพวกคุณเข้า รพ.หรู มีระบบประกันจะจ่ายเงินกี่บาทก็ไม่ทุกข์ร้อน การรักษาด้วยสมุนไพรมันเป็นโลกที่พวกคุณรังเกียจ มันต่ำต้อย ไม่มีมาตรฐานและพวกคุณก็ใช้อคติเหล่านี้มาตัดสินความมั่นคงทางยาของประชาชน

ฝากถึง ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ที่เขียนงานวิจัยกล่าวหาว่ากัญชารักษาโรคไม่ได้ อยากจะบอกคุณว่าลงมาสัมผัสชีวิตของประชาชนบ้าง โลกนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทฤษฎีในหัวของคุณและอย่าใช้ความมักง่ายในการใช้หลักฐานทางวิชาการมาตัดสินกัญชา

เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็อยากทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญกัญชา
เพราะมันได้เงิน


กำลังโหลดความคิดเห็น