ผู้สมัคร ส.ว.ค้าน กกต.พิจารณาเลื่อนการเลือก ส.ว. อ้าง หากไม่มีเหตุทางกฎหมายรองรับจะเกิดความเสียหายยิ่งกว่า ชี้ สั่งเลื่อน และกำหนดวันใหม่อาจมีไปยื่นฟ้องศาลปกครองอีก
วันนี้ (7 มิ.ย.) กลุ่มผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา นำโดย นายเก่งกาจ คุปต์อัครภิญโญ ยื่นหนังสือถึง ประธาน กกต. เพื่อแสดงเจตจำนงคัดค้านการเลื่อนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 ระดับอำเภอ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ โดยอ้างอิงข้อมูลว่า กกต. จะมีการประชุม ในวันที่ 7 มิ.ย. เพื่อหารือในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย 4 มาตรา ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ปี 2561 อันเกี่ยวข้องกับวิธีการเลือก ส.ว. ทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ว่า ขัดต่อรัฐมาตรา 107 หรือไม่
โดยคาดว่า มีความเป็นไปได้ที่สำนักงาน กกต. จะเสนอให้ กกต. ใช้อำนาจตามมาตรา 35 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ปี 2561 ประกาศเลื่อนการเลือก ส.ว. ระดับอำเภอในวันที่ 9 มิถุนายน นี้ ออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนการวินิจฉัยข้อกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ
โดยในหนังสือคัดค้านได้แนบรายชื่อผู้สมัคร ส.ว. จำนวน 47 คน และแจ้งว่าอาจมีรายชื่อเพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อคัดค้านการเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด และหากการเลื่อนโดยไม่มีเหตุทางกฎหมายรองรับ จะก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งกว่า เพราะผู้สมัคร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนได้เตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการเลือกแล้ว ขณะเดียวกัน งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการได้ถูกจัดสรรไปแล้ว
อีกทั้งการเลื่อนจะทำให้ผู้สมัครบางคนไม่สะดวกหรือไม่ว่างที่จะไปเลือกในวันใหม่ที่จะกำหนด ทำให้เสียสิทธิ และอ้างอิงว่าคำสั่งเลื่อนนี้ รวมถึงคำสั่งกำหนดกำหนดวันใหม่ จะเป็นเหตุให้ถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฏหมายโดยศาลปกครองอีกด้วย
ขณะเดียวกัน นายสนธิญา สวัสดี ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก ส.ว. ก็เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต.สนับสนุนให้ดำเนินการเลือก ส.ว.ตามกำหนดการต่อไป โดยไม่ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
นายสนธิญา กล่าวว่า มาวันนี้เพื่อขอให้ กกต.ดำเนินการเลือก ส.ว.ไปตามกำหนดการเดิม เพราะถ้าย้อนกลับไปในช่วงที่ได้มาซึ่งกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาทั้ง ส.ว. ปี 2561 ผ่านมา 6 ปีแล้ว ทำไมถึงพึ่งมาร้องตอนนี้ สถานการณ์ผ่านเลยมาแล้ว เข้าใจว่าเป็นสิทธิในการร้อง แต่เรื่องนี้ก็เป็นสิทธิของตนและประชาชนเช่นกัน ที่จะทวงถาม หรือสนับสนุนการทำงานของ กกต.
“การยื่นร้องขอให้ศาลพิจารณา เป็นการก่อกวนใช่หรือไม่ คุณกำลังจะทำให้การคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาไม่เกิดขึ้นใช่หรือไม่ ผมจึงขอให้ กกต.พิจารณาเดินหน้าให้เกิดการเลือก ส.ว.ต่อไป ส่วนถ้ามีข้อสงสัยคนหนึ่งคนใดมีการจ้างเพื่อการลงคะแนนให้กับคนใดคนหนึ่ง จะรู้ได้เองเพราะคะแนนจะมีการโชว์ ทั้งนี้ ผมเชื่อมั่นในระบบของ กกต. รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ผ่านการพิจารณาไตร่ตรอง สมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว วันนี้ตนจึงไม่เห็นด้วยกับการยื่นเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในประเด็นกฎหมายดังกล่าว” นายสนธิญา กล่าว