“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2567 ตอน สแกนระบบเลือก ส.ว.สัญญาณประหลาด จุดเสี่ยงเป็นโมฆะ
การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เพิ่งปิดรับสมัครไปก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายอาจมองว่าการยื่นใบสมัครของ 'สมชาย วงศ์สวัสดิ์' อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นไฮไลต์สำคัญ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการไปเปิดตัวของอดีตนายกฯสมชายนั้นไม่ใช่การสมัครตำแหน่งส.ว. แต่เป็นการสมัครในตำแหน่งประธานวุฒิสภา ซึ่งถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดประธานวุฒิสภาคนต่อไปน่าจะมาจากคนที่เคยเป็นอดีตนายกฯ
นอกเหนือไปจากปรากฏตัวของสมชายแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน คือ การประกาศรายชื่อผู้สมัครส.ว.และการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจพบผู้สมัคร ส.ว.ที่มีลักษณะต้องห้าม เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรค ไม่ไปใช้สิทธิ ถูกจำกัดสิทธิ จำนวนทั้งสิ้น 2,020 คน ชาย 1,112 คน และ หญิง 908 คน ส่งผลให้มีผู้สมัครที่คุณสมบัติผ่านหลังการตรวจสอบผ่านเข้าสู่การเลือกระดับอำเภอ จำนวน 46,206 คน เป็น ชาย 26,727 คน หญิง 19,479 คน
ต้องไม่ลืมว่าตัวเลขที่ออกมาเป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น หมายความว่าเมื่อถึงขั้นตอนการเลือกกันเองและเลือกไขว้กันของผู้กลุ่มอาชีพในระดับอำเภอ และ จังหวัด กระบวนการตรวจสอบก็ยังอยู่ตามกฎหมาย ซึ่งตรงนี้เหมือนจะเป็นระเบิดเวลาที่กำลังจะตามมาที่อาจร้ายแรงถึงขั้นกระทบกระบวนการเลือกส.ว.ทั้งระบบเลยทีเดียว
ปัจจุบันสถานการณ์การเลือกส.ว.ก็ถือว่าอยู่ในภาวะเฝ้าระวังพอสมควร เนื่องจากเริ่มมีการออกมาเปิดเผยถึงขบบวนการบล็อคโหวต การฮั้วและการผลัดกันเกาหลัง โดยมีฝ่ายการเมืองหลากสีอยู่เบื้องหลัง ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่กกต.กำลังจับตามองเช่นกัน โดยคาดว่าเมื่อใกล้วันเลือกระดับอำเภอในวันที่ 9 มิถุนายน มือที่มองไม่เห็นน่าจะออกอาละวาดมากยิ่งขึ้น
กรณีเช่นนี้ถ้าจับไม่ได้ก็แล้วไป แต่ถ้าจับได้ขึ้นมามีประเด็นที่น่าขบคิดกันต่อว่าจะส่งผลต่อกระบวนการเลือกส.ว.ทั้งระบบหรือไม่
ทั้งนี้เป็นเพราะการเลือกส.ว.ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งส.ส.ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเป็นผู้ลงคะแนนหรือโหวตเตอร์ แต่กับการเลือกส.ว.นั้น โหวตเตอร์ คือ ผู้สมัครส.ว.ที่จะทำการเลือกผู้สมัครในกลุ่มวิชาชีพเดียวกันและเลือกข้ามสายกลุ่มอาชีพโยงใยกันตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งในกรณีของการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งส.ส.จะเห็นได้ว่าผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษแยกต่างหากเป็นการเฉพาะตัว และนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่เฉพาะเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาเท่านั้น
ขณะที่ การเลือกส.ว.มีระบบแตกต่างออกไปอย่างที่ได้อธิบายไปในข้างต้น จึงเกิดเป็นประเด็นว่าหากมีโหวตเตอร์หรือผู้ที่ได้รับเลือกเป็นส.ว.กระทำผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. จะมีผลต่อคะแนนเสียงที่โหวตอย่างไร จะต้องมีการออกเสียงกันใหม่หรือไม่ หรือจะเลือกกันเฉพาะอำเภอ และจังหวัดที่มีปัญหา หรือจะร้ายแรงขั้นที่ทำให้การเลือกส.ว.ทั้งประเทศต้องสูญเปล่าหรือไม่
ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการวางบรรทัดฐานมาก่อน แม้ว่าส.ว.ชุดปัจจุบันที่ใกล้หมดวาระการดำรงตำแหน่งจำนวน 50 คนจะมาจากการเลือกกันเองตามกลุ่มอาชีพ แต่ที่สุดแล้วก็ต้องผ่านการกลั่นกรองสุดท้ายจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ทำให้ไม่ปรากฏเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายดังกล่าว
ณ วันนี้ข้อสังเกตดังกล่าวอาจจะยังไม่ได้เป็นปัญหา แต่การที่กกต.เริ่มตรวจพบความบกพร่องของผู้สมัครส.ว.ที่ขาดคุณสมบัติ และในอนาคตมีแนวโน้มที่จะมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาอีกมาก จึงเป็นระเบิดเวลาที่อาจส่งผลให้การเลือกส.ว.ครั้งนี้ต้องสะดุดหยุดลงก็เป็นไปได้
------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android