วันนี้ (16 พ.ค.) นายธันย์ชนน ศรีอัษฎาวุธกุล ผู้ช่วยรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล และอดีตผู้สมัคร ส.ก.เขตดุสิต พรรคก้าวไกล ได้แสดงความเห็นต่อแนวทางของกรุงเทพมหานคร ในการรับมือสภาวะโลกร้อนผ่านการจัดการเมือง ว่า ปัจจุบันเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธได้แล้วว่าฤดูร้อนที่ผ่านมา มีความร้อนกว่าปกติ และเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี จากการกระทำและกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาเมืองและอุตสาหกรรม และในเวลาแบบนี้เองที่หลายเมืองในโลกเริ่มมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเพื่อให้การเติบโตของเมืองเป็นไปโดยตอบสนองสภาวะที่เกิดขึ้นนี้
หนึ่งในตัวแบบที่น่าสนใจ คือ สิงคโปร์ ที่มีการลงมือทำอย่างจริงจัง ถึงขั้นมีการวิจัยอย่างเป็นระบบว่าจะทำอย่างไรให้กิจกรรมของเมืองส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อนให้น้อยที่สุด และทำให้เมืองเย็นลง โดยมีวิธีการต่างๆ มากมายถึง 86 วิธี ในการปรับเปลี่ยนเมืองให้เย็นลงได้ แยกเป็นประเภทได้ตั้งแต่การสร้างพื้นที่สีเขียวจากต้นไม้ การปรับเลขาคณิตของเมือง การใช้น้ำลดความร้อน การใช้วัสดุพื้นผิวที่เหมาะสม การสร้างร่มเงา ระบบคมนาคม และการใช้พลังงาน
นายธันย์ชนน กล่าวต่อไปว่า สิงคโปร์ได้ใช้วิธีการเหล่านี้ไปลงมือปฏิบัติจริง เป็น Cooling Singapore Project มีการออกกฎหมายและระเบียบต่างๆ มารองรับหรือบังคับใช้กับประชาชนและนักพัฒนาเมือง ให้ต่อจากนี้ต้องทำโครงสร้างอาคารให้เป็นไปตามแบบเฉพาะ ต้องมีพื้นที่สวนหรือพื้นที่สีเขียว มีการปลูกต้นไม้ทั่วเมือง นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างระบบให้ความเย็นอาคารด้วยน้ำ มีระบบ DCS (District Cooling System) การทำระบบความเย็นในเมือง แนวทางการก่อสร้างอาคารรับลมเพื่อแก้ปัญหาความร้อน และมาตรการอื่นๆ เต็มไปหมด
“สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและเจตนารมณ์ของผู้บริหารเมือง ว่า แน่วแน่แล้วที่จะรับมือกับสภาวะโลกร้อนและการลดความร้อนของเมือง อะไรที่เป็นอุปสรรคต้องปรับ อะไรที่ไม่มีกฎหมายรองรับต้องสร้างขึ้นมา” นายธันย์ชนน กล่าว
.
นายธันย์ชนน กล่าวต่อไปว่า เมื่อหันกลับมาดูที่ประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สภา กทม. เพิ่งจะคว่ำร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียวไป และก่อนหน้านั้น ก็คว่ำร่างข้อบัญญัติรถเมล์อนาคต ทั้งสองร่างที่เสนอโดย ส.ก.พรรคก้าวไกล โดยเอาความคลุมเครือทางกฎหมายมาอ้าง ทั้งที่สามารถให้ร่างดังกล่าวผ่านได้ และหากมีผู้โต้แย้งมาทีหลังก็ให้นำไปสู่การตีความโดยหน่วยงานที่มีอำนาจเหนือกว่าได้
ซึ่งไปแพ้ตรงนั้นยังดีกว่าการแพ้เพราะคนที่อ้างเป็นตัวแทนของคนกรุงเทพฯ ที่หาเสียงเรื่องสิ่งแวดล้อมกันทุกฝ่ายทุกพรรค พอถึงเวลาต้องทำจริงกลับยกมือไม่ให้ผ่าน มันแสดงให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วเสียงส่วนใหญ่ทำได้แต่อ้างไปวันๆ พอถึงเวลาก็ไร้เจตจำนงในการปฏิบัติจริงๆ
นายธันย์ชนน ยังกล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกรุงเทพมหานครเอง ในฐานะฝ่ายบริหาร แม้จะไม่มีกฎระเบียบอะไรมารองรับในมาตรการส่วนใหญ่อย่างที่สิงคโปร์ทำได้ แต่ด้วยอำนาจเท่าที่มีอยู่ของผู้ว่า กทม. ก็ยังนับว่าพอมีอะไรที่ทำได้อยู่บ้าง ซึ่งตนอยากให้ผู้ว่าฯ กทม. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น แม้การแก้ปัญหาโลกร้อนไม่อาจจะทำให้สำเร็จขึ้นได้ใน 5-10 ปี หรือโดย กทม. แค่เมืองเดียว แต่ในฐานะเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ตนอยากให้ กทม. เริ่มเรียนรู้และปรับหานโยบายและเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อให้คนในเมืองหลวงอยู่ร่วมและมีส่วนร่วมในการบรรเทากับวิกฤตนี้ได้
นายธันย์ชนน กล่าวต่อไปว่า มาตรการทางการบริหารเท่าที่มีอยู่อย่างจำกัดภายใต้กฎหมายและระเบียบที่มีอยู่ก็นับว่าเพียงพอที่จะทำอะไรได้บ้าง อย่างเช่น การปรับตัวให้หน่วยงานในสังกัด กทม. เปลี่ยนมาใช้พลังงาน ev เพื่อลดพลังงานฟอสซิล การรณรงค์ให้ปลูกต้นไม้มากขึ้น พร้อมกันนั้น ก็เรียนรู้ที่จะเรียนรู้ วิจัย หรือจะไปครูพักลักจำวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้เมืองเย็นขึ้นจากตัวแบบอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วก็ยังได้ครับ เรียนรู้สะสมสกิลให้มากที่สุด ทำให้เป็นนิสัย ก็จะสามารถช่วยให้โลกเย็นลงได้อย่างยั่งยืน
“วันนี้ยังไม่ช้าเกินไปที่จะทำ แต่ถ้าไม่ทำวันนี้ ถึงวันหนึ่งขึ้นมามันอาจจะสายเกินไป ผมอยากให้ กทม. แสดงเจตจำนงออกมา ลงมือทำเท่าที่จะทำได้เพื่อให้โลกวันนี้น่าอยู่ และส่งต่อไปให้คนรุ่นหลังได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปอีกนานๆ” นายธันย์ชนน กล่าว