xs
xsm
sm
md
lg

“ธันย์ชนน”ชี้ ปมจับเทศกิจเขตดุสิตเรียกรับส่วย สะท้อน ถึงเวลาปราบส่วยให้สิ้น แนะ กทม.เร่งเดินหน้านโยบายลดทุจริตตามที่เคยหาเสียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(11 ต.ค.)นายธันย์ชนน ศรีอัษฎาวุธกุล ผู้ช่วยรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล และอดีตผู้สมัคร ส.ก.เขตดุสิต พรรคก้าวไกล ให้ความเห็นต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมพนักงานเทศกิจ สำนักงานเขตดุสิตคนหนึ่ง จากกรณีเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง 6,000 บาท แลกกับการไม่ตรวจสอบตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ

โดยนายธันย์ชนน ระบุว่า จากกรณีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าปัญหาส่วยไม่ได้คลี่คลายลงแม้แต่น้อยในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบ้านเมืองและผู้บริหารในระดับท้องถิ่น อย่าง กทม. มาได้ปีกว่าแล้ว แต่ก็ต้องชื่นชมที่มีการตอบรับอย่างรวดเร็วจากเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องทันทีที่ได้รับเบาะแส จนเกิดการจับกุมขึ้นตามที่ปรากฏเป็นข่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นยังคงสะท้อนปัญหาการดำรงอยู่ของส่วย และการแก้ปัญหาในระดับครั้งคราว ที่แม้จะสะท้อนการเอาจริงเอาจังของเจ้าหน้าที่ที่มีมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ระบบ และตนเชื่อว่ายังมีการเรียกรับส่วยดำรงอยู่ทั้งในระดับเล็กน้อยและระดับใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย โดยเฉพาะเมื่อผู้ถูกเรียกรับส่วยเล่นไปตามเกม ยอมจ่ายไปและไม่ได้แจ้งเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเหมือนกรณีนี้

“เจ้าหน้าที่เมื่อทำได้ดีก็ต้องชื่นชม แต่ในระยะยาวจริง ๆ ควรต้องมีการจัดการในเชิงโครงสร้าง ที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกขึ้น และประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบมากขึ้น เจ้าหน้าที่จะไปตามสืบตามเก็บกวาดส่วยให้หมดไปคงเป็นไปได้ยาก แต่ระบบที่ดีก็จะทำให้พวกเขาทำงานได้ง่ายขึ้น” นายธันย์ชนนกล่าว

นายธันย์ชนนกล่าวต่อไป ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ตนนึกย้อนไปถึงนโยบายของทุกพรรคทุกฝ่ายที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. และการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา ว่าด้วยการจัดการปัญหาการทุจริต ซึ่งในปัจจุบันเอง ทั้งผู้บริหารในระดับ กทม. และผู้บริหารประเทศ ต่างก็เคยมีนโยบายดังกล่าวอยู่ ที่เคยได้ให้สัญญากับประชาชนไว้

เช่น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. คนปัจจุบัน มีนโยบาย “โปร่งใส ไม่ส่วย” ซึ่งมีมาตรการสำคัญจำนวนหนึ่ง ได้แก่ การพัฒนาระบบติดตามการดำเนินการและการขอออนุญาต, การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่, และระบบ one stop service เพื่อลดโอกาสการเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่

นายธันย์ชนนกล่าวต่อไปว่า ไม่ว่าที่ผ่านมาจะยังมีอุปสรรคอะไรที่ทำให้ทาง กทม. ยังไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายที่ผู้ว่า กทม. เคยหาเสียงไว้ได้อยู่ก็ตาม ตนไม่ติดข้องใจแต่อย่างไร แต่เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาแล้ว ตนคิดว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้มีการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวอย่างจริงจังเสียที เพราะนี่คือข้อสะท้อนว่ายังมีปัญหาส่วยดำรงอยู่ ซึ่งการสร้างระบบป้องกันขึ้นมา ย่อมดีกว่าการตามไปจับทีละราย ๆ เช่นนี้แน่นอน

นอกจากนี้ กทม. ควรที่จะมีการปรับเอานโยบายของทุกส่วนที่เคยนำเสนอต่อสังคมไว้ โดยเฉพาะนโยบายของพรรคก้าวไกล หรืออดีตผู้สมัครผู้ว่า กทม. ของพรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร มาปรับใช้เพื่อการป้องกันการทุจริตเรียรับผลประโยชน์เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการสร้างรัฐโปร่งใสของพรรคก้าวไกล โดยการเปิดข้อมูลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้งบประมาณ การดำเนินการต่างๆ ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายและระเบียบเพื่อลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เป็นช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต หรือจะเป็นการมีระบบร้องเรียนโดยตรงถึงผู้ว่า กทม. อย่างที่นายวิโรจน์เคยเสนอ เป็นต้น

“เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าปัญหาส่วยยังมีอยู่ และการแก้ปัญหาก็มีความจริงจังขึ้น แต่กุญแจสำคัญที่จะลดการทุจริตได้จริงก็คือการเปิดเผยข้อมูลและการเพิ่มอำนาจประชาชนในการตรวจสอบ ซึ่งพรรคก้าวไกลเน้นย้ำมาโดยตลอด ส่วนนโยบายของท่านชัชชาติว่าด้วยการปราบทุจริตก็ดีหลายตัว ผมคิดว่านี่คือโอกาสที่ดีที่เราจะเริ่มดำเนินการได้แล้ว” นายธันย์ชนน กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น