xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกลเผยโอกาสที่เสียไปจากการปัดตกร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพจพรรคก้าวไกล โพสต์“[ โอกาสที่เสียไป จากการปัดตกร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว ]

มติที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครวันนี้ (24 เม.ย.) ไม่เห็นชอบร่างข้อบัญญัติ “พื้นที่สีเขียว” ในวาระ 2-3 ส่งผลให้ร่างถูกปัดตก ความหวังของคนจำนวนมากที่อยากเห็นกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ยังต้องรอคอยต่อไป

โดยฝ่ายที่ไม่เห็นชอบอ้างว่าสภา กทม. ไม่มีอำนาจ ทั้งที่ไม่เป็นความจริง เพราะ กทม. มีอำนาจในการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวเพื่อกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10(1) ประกอบมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ @TopPutthipat ส.ก.เขตยานนาวา พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างฯ กล่าวว่า ร่างข้อบัญญัตินี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดฝุ่น PM2.5 จะทำให้คน กทม. ได้สูดอากาศที่ดีขึ้น จึงไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมร่างไม่ผ่านความเห็นชอบ ทั้งที่คณะกรรมการวิสามัญฯ มีความยินดีที่จะแก้ไขเนื้อหาตามข้อเสนอ

ดังนั้นขอให้ประชาชนจดจำการลงมติครั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้ร่างข้อบัญญัติรถเมล์อนาคตก็ถูกล้มไปจากการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่ากรุงเทพฯ ไม่มีอำนาจออกข้อบัญญัติดังกล่าว มาวันนี้ร่างพื้นที่สีเขียวก็ถูกล้มอีก

[ โอกาสที่เสียไป คือคุณภาพชีวิตประชาชน ]

หัวใจสำคัญของร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดที่สัดส่วน 9 ตร.ม. ต่อประชากร 1 คน แต่ตอนนี้ กทม. ทำได้เพียง 7 ตร.ม. ต่อคนเท่านั้น

หากข้อบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ ผู้ที่จะสร้าง ซ่อมแซม หรือต่อเติมอาคารใหม่ จะต้องมีพื้นที่สีเขียวคิดเป็น 50% ของพื้นที่ว่างนอกอาคารตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดให้พื้นที่บ้านอยู่อาศัย 100 ตารางเมตร ต้องมีพื้นที่ว่าง 30 ตารางเมตร ส่วนตึกแถว สำนักงาน และทาวน์เฮ้าส์ กำหนดให้ 10% ของพื้นที่ต้องเป็นพื้นที่ว่าง

สมมุติบ้านอยู่อาศัย 100 ตารางเมตร มีพื้นที่ว่าง 30 ตารางเมตร จะมีพื้นที่สีเขียว 15 ตารางเมตรนอกอาคาร ส่วนตึกแถว สำนักงาน และทาวน์เฮ้าส์ 100 ตารางเมตร จะมีพื้นที่ว่าง 10 ตารางเมตร ต้องมีพื้นที่สีเขียว 5 ตารางเมตรนอกอาคาร เป็นต้น

แน่นอนว่าการปัดตกร่างข้อบัญญัติฯ ของพรรคก้าวไกล ไม่ได้หมายความว่ากรุงเทพฯ จะหมดโอกาสตลอดไปในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ต้นทุนของการไม่เริ่มต้นในวันนี้ ทำให้เราต้องจ่ายด้วยคุณภาพชีวิตประชาชน

คน กทม. จะยังต้องอยู่ในเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวจำกัดจำเขี่ย
เมืองที่ฝุ่นควันคุกคามทางเดินหายใจ เมืองที่ขาดพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ

แม้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่พรรคก้าวไกลจะไม่หยุดเท่านี้ โปรดติดตามก้าวต่อไปของเราเพื่อสร้างเมืองของคนทุกคน เมืองที่สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจะไม่ถูกละเลย”

ด้านพรรคเพื่อไทย โพสต์โต้

”การปลูกต้นไม้ควรเป็นเรื่องสมัครใจ ไม่สร้างภาระประชาชน •

ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 4) เมื่อ 24 เมษายน 2567 เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมสภาไม่รับร่าง ‘ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยการกำหนดพื้นที่สีเขียวของอาคารเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม’ ที่เสนอโดย สก.ก้าวไกล

ด้วยเสียงข้างมาก 22 เสียง ต่อ 12 เสียง

ภายหลังได้มีการให้ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคมว่า สก.ของพรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยหรือตัดโอกาสการมีพื้นที่สีเขียวของคนกรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่เป็นความจริง

สุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) พรรคเพื่อไทย เขตจอมทอง กล่าวว่า การออกมาให้ข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับสังคม จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1. ร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียวของก้าวไกลไม่สอดคล้องพื้นที่ว่างของคนกรุงฯ

: รายละเอียดของร่างข้อบัญญัติดังกล่าวที่ สก.ก้าวไกล เสนอ มีการกำหนดให้อาคารแต่ละหลัง ต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 50% ของเกณฑ์ขั้นต่ำของพื้นที่ว่างนอกอาคารต้องปลูกต้นไม้

เสียงส่วนใหญ่มองว่า พื้นที่ว่างใน กทม.มีจำกัดอยู่แล้ว หากปลูกต้นไม้ตามร่างข้อบัญญัติที่ สก.ก้าวไกลเสนอ คนกรุงเทพต้องจัดหาพื้นที่ว่างมากขึ้น เพื่อปลูกต้นไม้ตามข้อบัญญัตินี้

2. การปลูกต้นไม้ควรเป็นเรื่องสมัครใจ

: มติ สก. 22 เสียงส่วนใหญ่มองว่า การปลูกต้นไม้ ควรเป็นความสมัครใจของพี่น้องประชาชน บางบ้านไม่ต้องการต้นไม้ เพราะอาจมีความกังวลเรื่องสัตว์ร้ายมีพิษ และยังสร้างภาระในการดูแลรักษา กระทบทั้งเวลาและเงินในกระเป๋า หากบ้านใดต้องการปลูกก็ย่อมทำได้ตามความชอบและความสมัครใจ ไม่จำเป็นต้องมีกฎระเบียบมาบังคับ

3. กทม.เพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุด

: ที่ผ่านมา สภา กทม.ได้มีมติผ่านโครงการสวนสาธารณะ 15 นาที งบประมาณหลายร้อยล้านบาท ตอบโจทย์คนกรุงเทพมหานครเป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของพื้นที่สีเขียวที่สะดวก ปลอดภัย ไม่ต้องใช้จ่ายเงินในการดูแลรักษา และยังมีโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของ กทม.อีกหลายโครงการที่ยังทำอยู่ต่อเนื่อง

4. ร่างข้อบัญญัตินี้ ขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร

: การเสนอร่างข้อบัญญัติดังกล่าว ขัดกันกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่กำหนดในเรื่องของการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยที่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก เช่น ขนาดของพื้นที่หน้าบ้าน ระยะห่างของบ้านกับพื้นที่สาธารณะ เพื่อสะดวกต่อการช่วยเหลือหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ไฟไหม้บ้านเรือนพี่น้องประชาชน หรือเกิดอุบัติเหตุต่อชีวิต และทรัพย์สิน เพื่อให้รถดับเพลิง หรือรถพยาบาล ให้ความช่วยเหลือได้สะดวก

5. ต้องเข้าใจโครงสร้างกฎหมายให้ถูกต้อง

: ทุกจังหวัดในประเทศไทย รวมถึงจังหวัดที่มีการปกครองในรูปแบบพิเศษ (กทม. และ พัทยา ) การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่อาศัย ฯลฯ อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในการควบคุมการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอยู่แล้ว (เป็นกฎหมายหลัก) และกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้อำนาจท้องถิ่น (กทม.) สามารถออกข้อบัญญัติในเรื่องนี้ได้

หาก กทม.เห็นว่า เรื่องนี้มีความจำเป็น สามารถดำเนินการตามกฎหมายที่ให้อำนาจได้ ตามความเห็นกรมโยธาธิการและผังเมือง คือกฎหมายผังเมือง ซึ่งปัจจุบันเรื่องนี้มีกำหนดอยู่ในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับรับฟังความคิดเห็นอยู่แล้ว

“การเคารพเสียงส่วนใหญ่ เป็นเรื่องพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มติสภา กทม.เมื่อวานนี้ เห็นด้วยกับร่างข้อบัญญัติของ สก.ก้าวไกล 12 เสียง ไม่เห็นด้วย 22 เสียง

ไม่ใช่เพียงแต่ สก.ของเพื่อไทยที่ไม่เห็นด้วยเท่านั้น ยังมี สก. ของพรรคอื่นไม่เห็นด้วยกับร่างนี้ เรามองเห็นตรงกันถึง “ความจริงที่ทำได้จริง”

ไม่ใช่การไม่รับมติของเสียงส่วนใหญ่ แล้วออกมาฟ้องประชาชน ให้ข้อมูลที่ไม่รอบคอบ - รอบด้าน เราสนับสนุนพื้นที่สีเขียวอยู่แล้ว มีวิธีหลากหลายที่กำลังทำกันอยู่ ทุกท่านเห็นตรงกัน โดยที่วิธีการต้องไม่ขัดกันในกฏหมาย ก็ขอให้เคารพเสียงส่วนใหญ่ด้วย”