LGBTQ เฮ! ส.ส.400 เสียง โหวตผ่าน กม.สมรสเท่าเทียม ให้สิทธิเบื้องต้นชาวสีรุ้ง อายุ 18 ปีขึ้นไป หมั้น-สมรสได้ ย้ำจุดเริ่มต้นความเท่าเทียมในสังคม ภาค ปชช.เสนอเพิ่มนิยาม “บุพการีลำดับแรก” แทน “บิดา-มารดา” แต่ กมธ.ตีตก แจงเป็นคำใหม่ หวั่นกระทบการบังคับใช้ กม.อื่น
วันนี้ (27 มี.ค.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เข้าสู่วาระพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่....) พ.ศ…. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาเสร็จแล้ว เป็นการพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3
นายดนุพร ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ชี้แจงว่า ตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 ในมาตรา 4 กล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เราทำเพื่อคนไทยทุกคน มีจำนวนทั้งหมด 68 มาตรา โดยสรุป 3 ข้อ คือ 1. กมธ.เห็นว่า บทบัญญัติของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการใช้ถ้อยคำไม่สอดดคล้องกับบริบทขอองสังคมในปัจจุบัน จึงมีการปรับถ้อยคำให้มีความเหมาะสมเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ 2. กมธ.เห็นว่า เกณฑ์อายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสของบุคคล ควรกำหนดไว้ที่อายุ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้ผู้ที่จะทำการหมั้นหรือสมรส มีอายุพ้นจากความเป็นเด็ก และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศที่มีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับเด็ก รวมทั้งหลักการคุ้มมครองสิทธิเด็กในการป้องกันปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก จากการบังคังให้เด็กแต่งงาน โดยจะไปเชื่อมกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ฉบับอื่นที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่
และ 3. กมธ.ได้เพิ่มบทบัญญัติขึ้นใหม่จำนวน 1 มาตรา เพื่อกำหนดให้คู่สมรสที่ก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายฉบับนี้ มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางกฎหมายตามกฎหมายอื่น ที่ได้กำหนดไว้ให้แก่ “สามี ภรรยา” หรือ “สามี ภรรยาในทันที” ซึ่งจะเป็นการลดภาระให้แแก่หน่วยงานต่างๆ ในการทบทวนและแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ในความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่กฎหมายฉบับใดกำหนดสิทธิหน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี ภรรยา หรือสามี ภรรยาไว้แตกต่างกัน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังคงต้องดำเนินการทบทวนกฎหมายดังกล่าวให้แล้วเสร็จทันในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
นอกจากนี้ กมธ.มีการตั้งข้อสังเกตุเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายในความรับผิดชอบ ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้
“กฎหมายฉบับนี้แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อทุกคนในประเทศไทย เพราะหลังจากที่ได้มีการผ่านวาระ 1 ไปแล้ว เราได้ฟังเสียงรอบด้าน และพิจารณาด้วยความรอบครอบ ยืนยันว่า ชายหญิงทั่วไป เคยได้รับสิทธิอย่างไร จะไม่เสียสิทธิแม้แต่น้อย สิทธิในทางกฎหมายยังเท่าเดิมทุกประการ”
นายดนุพร กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเรียกว่า เป็น LGBT ผู้ชายข้ามเพศ ผู้หญิงข้ามเพศ สิทธิการรักษาพยาบาล การลดหย่อนภาษีต่างๆ การเสียภาษี รวมถึงการลงนามยินยอมให้เข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล คนเหล่านี้เขาไม่เคยได้สิทธิแบบนี้ ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นการคืนสิทธิ และทุกพรรคการเมือง ตอนหาเสียงเลือกตั้ง เราเคยบอก ว่าจะทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่เท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม
“พวกเราเข้าใจอย่างดี ว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ยาที่จะรักษาได้ทุกโรค แต่อย่างน้อยเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการที่จะสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม วันนี้ฝาก ส.ส. ทุกท่านร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เราจะเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเราจะภาคภูมิใจในเวทีโลกที่ประเทศไทยวันนี้เห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำในสังคม เห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเพศ” นายดนุพร กล่าว
จากนั้นเปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น พิจารณาเรียงรายมาตรา โดย กมธ. เสียงข้างน้อย ที่มาจากภาคประชาชน ได้เสนอขอให้บัญญัติเพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” (ที่ทำหน้าที่เสมือนมารดา-บิดา) เพื่อให้เกิดคำกลางๆ ลงในร่างกฎหมายแทนบิดา-มารดา รองรับความสมบูรณ์ของครอบครัวให้คู่สมรสเพศเดียวกัน แต่กรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การกำหนดบุพการีลำดับแรก เป็นคำใหม่ที่ไม่เคยบัญญัติในกฎหมาย และไม่มีการให้คำนิยาม จึงอาจเกิดผลกระทบในการบังคับใช้ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลที่จะกระทบต่อกฎหมายทั้งหมดของประเทศ
ซึ่งที่ประชุมจึงมีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบตามการปรับแก้ของกรรมาธิการ เสียงข้างมาก
จากนั้นที่ประชุมลงมติในวาระ 3 มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 400 เสียง ไม่เห็นชอบ10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3 ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม