xs
xsm
sm
md
lg

“เศรษฐา” แถลงร่วม “มาครง” กระชับสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ทุกมิติ มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกฯ และ ปธน.ฝรั่งเศส ร่วมแถลงข่าว หารือกระชับความสัมพันธ์ในทุกมิติ มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดระหว่างกันต่อจากนี้

วันนี้ (11 มี.ค.) เวลา 13.10 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ณ ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส (Palais de l’Elysée) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายเอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส แถลงข่าวร่วมกัน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้กล่าวโดยสรุปว่า ทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการมุ่งมั่นเพื่อรับมือประเด็นความท้าทายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในสุดท้าย จะทำให้ความสัมพันธ์ทั้งทวิภาคี และพหุภาคีเกิดเป็นสันติภาพ และความมั่นคงในโลก


นายกฯ ขอบคุณการต้อนรับที่สาธารณรัฐฝรั่งเศส นับเป็นการเยือนทวิภาคีอย่างเป็นทางการประเทศแรกในยุโรป นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และยินดีกับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน Paris 2024 ของฝรั่งเศส หวังว่า จะมีโอกาสต้อนรับประธานาธิบดี มาครง ที่ไทยอีกครั้ง ไทยและฝรั่งเศสมีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ จุดยืนและวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศที่คล้ายคลึงกันในหลายประการ โดย นายกฯ ได้กล่าวถึง 4 ประการพื้นฐานสำคัญที่มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันดังนี้

หนึ่ง ไทยและฝรั่งเศส มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนานกว่า 300 ปี โดยปี 2568 จะครบรอบ 340 ปี ของการติดต่อสัมพันธ์ และในปี 2569 ทั้งสองฝ่ายมีแผนจะเฉลิมฉลองการครบรอบ 170 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต

สอง ทั้งสองประเทศให้คุณค่าแก่ค่านิยมสากลในหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยต่างมีเป้าหมายร่วมกันที่จะสร้างความมั่นคงและยั่งยืนแก่ประชาชน มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ในทุกมิติ

สาม มีจุดยืนร่วมในการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง โดยไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ได้มีมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ขณะที่ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปเองก็มียุทธศาสตร์ต่ออินโด-แปซิฟิก ที่เปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กันมากขึ้นระหว่างภูมิภาค ช่วยสร้างสมดุลทางยุทธศาสตร์ท่ามกลางการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ


ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า ความร่วมมือของนานาประเทศ บนพื้นฐานของการเคารพต่อหลักอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรม และกฎบัตรสหประชาชาติ จะช่วยแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ และ

สี่ รัฐบาลไทยและฝรั่งเศส มีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่น ยั่งยืน โดยคำนึงถึงการเปลี่ยนผ่านสีเขียว และดิจิทัล

โดย นายกฯ กล่าวถึงการแถลง 8 วิสัยทัศน์เพื่อจุดพลังศักยภาพประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคใน 8 ด้าน คือ ด้านการท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ เกษตรกรรมและอาหาร การบิน การขนส่งในภูมิภาค การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน และจะได้เชิญชวนฝรั่งเศสร่วมเป็นหุ้นส่วนกับไทย ดังนี้

หุ้นส่วนด้านการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต การบิน และการขนส่งในภูมิภาค ซึ่งไทยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 โดยจะหารือถึงความร่วมมือยานยนต์ พลังงานสะอาด การบินและการขนส่ง รวมถึงเชิญชวนบริษัทชั้นนำด้านการบริหารจัดการท่าเรือของฝรั่งเศส พิจารณาการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย

ทั้งนี้ นายกฯ ยังชื่นชมข้อริเริ่ม Paris Pact for People and the Planet หรือ 4P Initiative ของฝรั่งเศสที่มุ่งขจัดความยากจนไปพร้อมกับการอนุรักษ์โลก และเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำของไทยเช่นกัน

หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน ซึ่งไทยและฝรั่งเศสต่างเป็นคู่ค้าคู่ลงทุนที่สำคัญ นายกฯ เชื่อมั่นว่า หากการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป เสร็จสิ้นได้ภายในปี 2568 มูลค่าการค้าและการลงทุนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยไทยยังได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานด้านเศรษฐกิจของไทย ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอีกด้วย


นายกฯ หวังที่จะร่วมมือกับฝรั่งเศสพัฒนาวัตถุดิบ และเทคนิคการออกแบบผ้าไหมและผ้าไทยร่วมกับสถาบันแฟชั่นชั้นนำของฝรั่งเศส และร่วมมือกับแบรนด์และห้างสรรพสินค้าชั้นนำของฝรั่งเศสในการนำสินค้าแฟชั่นไทยเข้าสู่ตลาดฝรั่งเศส รวมถึงการส่งเสริมภาพยนตร์ไทยในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ด้วย

หุ้นส่วนด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งนายกฯ จะเสนอให้มีการร่วมทุนระหว่างสองฝ่าย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตและศูนย์ซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ของภูมิภาค

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ได้พบหารือกับผู้บริหารบริษัทธุรกิจชั้นนำของฝรั่งเศสกว่า 20 แห่งจากภาคยานยนต์ การบิน พลังงานสะอาด แฟชั่น กีฬา การโรงแรม และการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มโอกาสและลู่ทางด้านธุรกิจของทั้งสองประเทศ โดยประเทศไทยซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวฝรั่งเศสที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลอันดับ 2 ของชาวฝรั่งเศส ในขณะที่ นักท่องเที่ยวไทยกว่า 2 แสนคน ที่ท่องเที่ยวในฝรั่งเศส ถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพมีรายได้สูง นายกฯ ย้ำว่า หวังว่าฝรั่งเศสจะให้การสนับสนุนในเรื่องการยกเว้นวีซ่าเข้าเขตเชงเก้นให้แก่คนไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน พร้อมเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด ยั่งยืน และรอบด้านกับฝรั่งเศส จากนี้ไปอีกหลายทศวรรษ


ในวันเดียวกัน เวลา 11.15 (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส) ณ ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส Palais de l’Elysée นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพบหารือกับบนายเอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกฯ กล่าวว่า ประเทศฝรั่งเศสเป็นการเยือนอย่างเป็นทางการประเทศแรกในยุโรป พร้อมขอให้ฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 หวังว่าฝรั่งเศสจะสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งสถานที่ฝึกซ้อมสำหรับนักกีฬาไทย รวมถึง Thai House ที่ไทยวางแผนจะจัดแสดงมวยไทย แฟชั่น และอาหารไทย โอกาสนี้ นายกฯ ยังได้กล่าวเชิญ ปธน. ฝรั่งเศส เยือนไทยอย่างเป็นทางการเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 340 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างกัน และครบรอบ 170 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2569


นายกฯ ได้ทราบถึงแผนฟื้นฟู France Relance ของฝรั่งเศสที่ต้องการเป็นประเทศแรกในยุโรปที่บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ซึ่งไทยเองก็มีแผนองค์รวมที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2568 เช่นกัน พร้อมขอให้ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปพิจารณาจัด "ช่องทางสีเขียว green lane" สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นมาตรการเตรียมพร้อมในขณะที่การเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรปยังดำเนินอยู่ โดย นายกฯ ยังได้กล่าวเชิญชวนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ฝรั่งเศส โดยเฉพาะ EV และแบตเตอรี่ รวมถึงภาคเอกชนฝรั่งเศสเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสีเขียวของไทย

ด้านการค้าการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่บริษัทไทยขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในฝรั่งเศสจำนวนมาก นายกฯ หวังว่าฝรั่งเศสจะอำนวยความสะดวกต่อการลงทุนของไทยในอนาคต รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าแก่นักธุรกิจไทย และพร้อมเชิญชวนฝรั่งเศสเข้ามาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค โครงการ Landbridge และตาม วิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ที่นายกฯ ได้ประกาศเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาค ยกระดับประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก ใน 8 ภาคส่วน ได้แก่ การท่องเที่ยว สุขภาพและการแพทย์ เกษตรกรรมและอาหาร การบิน โลจิสติกส์ การผลิตยานยนต์ในอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน โดย นายกฯ ได้พบและเชิญชวนบริษัทเอกชนชั้นนำของฝรั่งเศสหลายภาคส่วน จึงหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากปธน. ฝรั่งเศสด้วย


ในด้าน soft power และแฟชั่น ไทยหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะต่อยอดความสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างสถาบันอาชีวศึกษาไทยและ the Duperré School of Applied Arts ในการแลกเปลี่ยนครูและนักเรียนระหว่างกันเพื่อพัฒนาโครงการด้านการออกแบบแฟชั่นและผ้าไหมไทย โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี พร้อมเชิญชวนร้านแฟชั่นและอัญมณีฝรั่งเศสเข้ามาจัดหาวัตถุดิบคุณภาพสูงจากในท้องถิ่นของไทย หวังว่าจะได้เห็นผลงานนักออกแบบชาวไทยที่งาน เช่น Paris Fashion Week
ทั้งนี้ ไทยเชื่อมั่นในเทคโนโลยีการป้องกันประเทศของฝรั่งเศส จากการเป็นพันธมิตรมาอย่างยาวนาน ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินของไทยได้จัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงเฮลิคอปเตอร์สำหรับเฮลิคอปเตอร์แอร์บัสในจังหวัดลพบุรี ไทยหวังที่จะเดินหน้าความร่วมมือนี้ ขอเชิญชวนให้ฝรั่งเศสมาร่วมลงทุนเพื่อเป็นฐานการผลิตระดับภูมิภาค หรือศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาขั้นสูงสำหรับบริษัทป้องกันประเทศชั้นนำของโลก

นอกจากนี้ นายกฯ ขอให้ประธานาธิบดีพิจารณาผลักดัน เรื่องการขอยกเว้นการตรวจลงตราเชงเกนให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยเพื่อเพิ่มการติดต่อระหว่างบุคคลและผู้ประกอบการไทยและฝรั่งเศส เนื่องจากปีหน้า 2568 จะเป็นปีสำคัญที่รัฐบาลเปิดศักราชการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลได้เตรียมการไว้หลายหลายด้านเพื่อรองรับกิจกรรมนี้เช่นการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง ทางด้านท่าเรือและโครงการใหญ่ของรัฐบาลโครงการ Landbridge ซึ่งจะส่งเสริมการเชื่อมต่อเดินทาง
นายกฯ เชื่อมั่นว่าการยกเว้นการตรวจลงตราจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้เอกชนฝรั่งเศสไม่ว่าจะเป็นด้านแฟชั่นซึ่งรัฐบาลได้พูดคุยกับภาคเอกชนให้แลกเปลี่ยนการจัดกิจกรรม Pop up Store ส่งเสริมการขาย กิจกรรมที่เกี่ยวกับอาหาร ซึ่งได้พูดคุยกับบริษัทมิชลิน และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการจัดนิทรรศการระดับโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยกับ Formula และ Art Basel
ส่วนความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ไทยสนับสนุนความพยายามของฝรั่งเศสในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ และยินดีที่ไทยและฝรั่งเศสจะจัดการเจรจาทวิภาคีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และการคุ้มครองพันธุ์พืช















กำลังโหลดความคิดเห็น