“ชัยธวัช” ยกเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ยะลา ไม่ใช่อาชญากรรม แต่เป็นปมขัดแย้งทางการเมือง มอง “ตะวัน” ถูกปิดปาก เลยเลือกตะโกน แนะ รบ.หยุดกล่าวหา หรือตะเพิดออกนอกประเทศ ย้ำ ต้องจบปัญหานี้ด้วยการนิรโทษกรรม
วันนี้ (14 ก.พ.) นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวอภิปรายญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทบทวนมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จ ว่า ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล มีความเห็นตรงกันว่า การรักษาความปลอดภัยให้กับบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐ องค์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประมุขของรัฐต่างประเทศอผู้นำทางการเมืองอหรือแม้แต่บุคคลสาธารณะที่สำคัญนั้น เป็นเรื่องสำคัญและเป็นหลักปฏิบัติสากล ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในวันที่ 4 ก.พ. 2567 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปอย่างเหมาะสมแล้ว อย่างน้อยก็ในแง่ที่ว่าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนเกินสมควร และเราไม่อยากจะเห็นเหตุการณ์อย่างวันที่ 4 ก.พ. 2567 เกิดขึ้นอีก ตนดีใจ ที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ผู้เสนอญัตตินี้ ยอมรับว่า ตัวเองเกิดความรู้สึกโกรธในแวบแรกที่ได้รับทราบเหตุการณ์ แต่หลังจากนั้น ก็สามารถที่จะสงบสติอารมณ์ได้ นึกถึงพระราชดำรัสที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการประนีประนอม เมื่อสงบสติอารมณ์ได้ จึงคิดหาวิธีที่จะบริหารจัดการ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์บานปลายนำไปสู่การขัดแย้งทางการเมือง
“ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะบริหารจัดการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ให้บานปลายมากกว่านี้ ผมคิดว่า นี่เป็นประเด็นที่เราควรจะถกเถียงอภิปรายกันให้รอบด้าน ผมเองยังยืนยันว่า เวลาที่เราพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการถวายความปลอดภัย เราไม่สามารถที่จะพิจารณาเฉพาะเรื่องกฎหมาย ระเบียบแผนในการถวายความปลอดภัยได้อย่างเดียวเท่านั้น”
นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ตนขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่กระทบการถวายความปลอดภัยอย่างรุนแรงครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นตัวอย่าง โดยเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2520 เคยเกิดเหตุการณ์ลอบทำร้ายในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบรมมาวงศานุวงค์หลายพระองค์ ที่เสด็จไปด้วยระหว่างที่พระราชดำเนินเสด็จไปยังจังหวัดยะลา รุนแรงกว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาสัปดาห์ก่อนหน้านี้หลายเท่า เกิดความปั่นป่วนในขบวนเสด็จ และเกิดการลอบวางระเบิดในที่ประทับของพระองค์ เป็นตัวอย่างว่าเหตุการณ์ในวันนั้น ปฎิเสธไม่ได้ว่าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนั้น
“เหตุการณ์ถวายความปลอดภัยหลายครั้ง เกี่ยวข้องกับการเมือง ปัญหาทางความคิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมเสียดายที่เหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ใช้วิธีการทางการเมืองเหมือนกัน แต่ผิดทางไป กลุ่มฝ่ายขวากลุ่มกระทิงแดงพยายามใช้กรณีที่เกิดขึ้นในการลอบวางพระชนม์ปลุกปั่นกล่าวหาโจมตีว่ารัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งเป็นรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ว่า ไม่มีความจงรักภักดีเพียงพอจนกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหารหลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน”
นายชัยธวัช ย้ำว่า เราทราบกันดีว่า ไม่ใช่ปัญหาการเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยอันเกิดจากเรื่องการก่ออาชญากรรม เพื่อหมายปองทำร้ายพระบรมวงศานุวงศ์ แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งทางความคิด ต้องยอมรับตรงนี้ก่อนถึงจะพิจารณาอย่างรอบด้าน
ตอนนี้คงไม่ใช่วาระที่จะพูดแก้ไขปัญหาทางการเมืองโดยละเอียด อย่างหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากกรณีของตะวัน คือ มันต้องมีปัญหาอะไรอย่างแน่นอนที่รัฐไทย สามารถทำให้คนคนนึงแสดงออกทางการเมืองด้วยการถือกระดาษแผ่นนึง แล้วผลักให้เขาตัดสินใจทำในสิ่งทีไม่คาดคิด
“เราปิดปากเขา สุดท้ายเขาเลยเลือกที่จะตะโกน นี่เป็นบทเรียนอย่างน้อยอย่างหนึ่งที่เราจะพิจารณากันหลังจากนี้ โดยเฉพาะฝ่ายบริหารในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าคนที่กำลังตะโกนก็ควรจะไตร่ตรองว่าวิธีการอะไร ที่จะทำให้คนหันมาเปิดใจฟังพวกเรามากขึ้น การตะโกนยิ่งทำให้ไม่มีใครฟังอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาเช่นกัน” นายชัยธวัช กล่าว
นายชัยธวัช ยังเสนอให้รัฐบาลสร้างกุศโลบายทางการเมือง และหยุดการกล่าวหาอีกฝ่ายว่า หนักแผ่นดิน หรือนิ้วไหนร้ายก็ตัดนิ้วนั้น หรือไล่ให้ไปอยู่ประเทศอื่น หรือนำความจงรักภักดีมาแบ่งแยกประชาชน เพราะสุดท้าย ต่อให้ใช้กำลัง หรือการใช้อาวุธก็ไม่ใช่ทางออก ดังนั้น จึงควรจบปัญหาที่เกิดขึ้นทางการเมืองนี้ ด้วยการนิรโทษกรรม และหวังว่า รัฐบาล และ ส.ส.จะมีสติ และระงับความโกรธ เช่นเดียวกับที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เปิดเผยว่า ตนเองรู้สึกโกรธ แต่สามารถจัดการอารมณ์กับตนเอง ไม่ให้บานปลายจนเกิดการปะทะขัดแย้ง