ส.ส.ปชป. ตำหนิ “เศรษฐา” ความรู้สึกช้า ผ่านไปเกือบ 10 วัน ค่อยขยับ เรียก ผบ.ตร.มาหารือ ลั่น รบ.ต้องตระหนักเรื่องถวายความปลอดภัยด้วยสำนึกและกระตือรือร้น ชี้ ตอกย้ำไม่ควรรวมโทษ 112 ใน กม.นิรโทษกรรม
วันนี้ (14 ก.พ.) นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องการถวายรักษาความปลอดภัย ว่า เนื่องจากตน และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนชัดเจนเรื่องให้ความสำคัญกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การธำรงไว้ซึ่งการบัญญัติการคุ้มครองประมุขของประเทศ เช่น มาตรา 112 และเห็นว่า การถวายความปลอดภัยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์คุกคามขบวนเสด็จฯ กรมสมเด็จพระเทพฯ อันเป็นที่เคารพรักของคนไทยทั้งประเทศ จึงจำเป็นต้องเสนอญัตติดังกล่าว และไม่อาจเพิกเฉยได้ โดยมีวัตถุประสงค์ให้สภามีมติส่งความเห็นให้รัฐบาลพิจารณาและให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมรับไปพิจารณาด้วย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า พฤติกรรมการคุกคามดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่บังควรอย่างยิ่ง ถือว่าเป็นการกระทำเกินกว่าที่คนไทยที่จงรักภักดีทั้งประเทศจะยอมรับได้ เป็นการย่ำยีพระผู้ทรงเป็นหัวใจของประชาชน และการที่ขบวนเสด็จฯ ไม่ปิดถนนยิ่งสะท้อนพระมหากรุณาที่คุณแก่พสกนิกรอย่างชัดแจ้งเหนือคำบรรยายใด แม้จะทรงงานหนักก็ต้องเสด็จให้ทันเวลา แม้สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยคือหัวใจสำคัญของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่การใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร ฐานันดรใด และต้องใช้สิทธิเสรีภาพที่มีอยู่ภายใต้ขอบเขตของตัวบทกฏหมายเช่นอารยะประเทศอื่นทำกันด้วย
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนเห็นว่า ผู้มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัย นอกจากส่วนราชการในพระองค์แล้ว กลไกสำคัญหนึ่งคือรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า และใน พ.ร.บ.การถวายรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ได้ระบุไว้ชัดในมาตรา6 ว่าให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งที่ประกอบด้วยกระทรวง ทบวง กรม มีหน้าที่ในการถวายความปลอดภัยหรือร่วมมือในการถวายความปลอดภัย
“ผมไม่ประสงค์นำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องการเมือง แต่นายกฯในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าผู้สั่งปฏิบัติสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องยอมรับว่าท่านออกมาส่งสัญญาณแสดงท่าทีความรับผิดชอบค่อนข้างช้า เหตุเกิดวันที่ 4 ก.พ. เวลาล่วงเลยมาวันที่ 10 ก.พ. ได้เกิดเหตุปะทะกันขึ้นตรงทางเชื่อมสถานีบีทีเอส.สยาม ถัดมาอีกวันรุ่งขึ้น 11 ก.พ. หลังเกิดเหตุ 7-8 วัน นายกฯถึงส่งสัญญาณเรียก ผบ.ตช. และเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง มาหารือหามาตรการรักษาความปลอดภัยในขบวนเสด็จฯ”
อย่างไรก็ตาม ตนขอเสนอว่า รัฐบาลต้องตระหนักในหน้าที่การถวายความปลอดภัยตามกฏหมายที่กำหนดไว้ให้สมพระเกียรติ ด้วยความสำนึกกระตือรือร้น ให้รัฐบาลยึดหลักนิติธรรมบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ว่ากับฝ่ายใดเพื่อทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ และไม่เป็นการส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมายอีกต่อไปในอนาคต ในฐานะที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากทั้งในสภาและในกรรมาธิการวิสามัญศึกษาตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมความผิดในคดีมาตรา 112 เพราะนอกจากจะเป็นชนวนขัดแย้งรอบใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต ยังเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เพิ่มขึ้นมาอีก และเมื่อเกิดเหตุป่วนขบวนเสด็จยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าไม่สมควรส่งเสริมให้มีการนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 นอกจากนี้รัฐบาลควรจะตั้งหลักพิจารณาร่วมกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องและพิจารณาทุกอย่างอย่างรอบคอบว่าสมควรจะมีการปรับปรุง พ.ร.บ. การรักษาถวายความปลอดภัย หรือไม่ โดยเพิ่มเติมให้มีการกำหนดบทลงโทษเป็นการเฉพาะกับผู้ละเมิดกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากปัจจุบันเมื่อเกิดเหตุต้องมีการนำกฎหมายอื่นมาเทียบเคียงใช้ พร้อมทั้งทบทวนกฎ ระเบียบ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย