เมืองไทย 360 องศา
กรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” จากกลุ่มที่เรียกว่า “ทะลุวัง” ป่วนขบวนเสด็จ เมื่อวันก่อน แม้ไม่อาจสรุปได้ว่ามาจากพฤติกรรมเหิมเกริมส่วนตัว หรือว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง วางแผนให้ก็ตาม แต่ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว กลับสร้างผลกระทบตามมาอย่างคาดไม่ถึง ทำให้ความพยายามในเรื่องการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ให้ครอบคลุมความผิดตาม มาตรา 112 เป็นศูนย์ หรือเป็นไปไม่ได้เลย ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบกับพรรคการเมืองบางพรรค ที่เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงถึงกันอีกด้วย
จากกรณีที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์ เกิดปฏิกิริยาโต้กลับจากสังคมอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง หลังจากสร้างความกระทบกระเทือนกับขบวนเสด็จ กลายเป็นว่าสังคมออกมาประณาม วิพากวิจารณ์พฤติกรรมที่เกินเลย ที่ไม่มีใครยอมรับได้ เพราะเมื่อสำรวจอารมณ์ของสังคมที่แสดงออกมาในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา เชื่อว่าจะสร้างแรงกดดันให้กับกลุ่มที่เคลื่อนไหวทั้งทางตรง และทางอ้อม เพื่อหวังบ่อนเซาะและล้มล้างสถาบันฯ จนได้รับบทเรียนที่ไม่เคยมีมาก่อน
ขณะเดียวกัน ยังเชื่อว่าจะส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงพรรคการเมืองบางพรรคโดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่กำลังเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อให้ครอบคลุมผู้ที่กระทำผิดตามมาตรา 112 อีกด้วย
หากแยกกรณีผู้ถูกดำเนินคดีตาม มาตรา 112 ซึ่งหากสำรวจดูจะเห็นว่า ส่วนใหญ่เป็นเด็กๆเยาวชนแทบทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาในระหว่างการดำเนินคดีมักจะได้รับการผ่อนปรน เนื่องจากเห็นว่าเป็นเยาวชน หนุ่มสาว แต่ในระยะหลังกลับมีพฤติกรรมท้าทายกฎหมาย มีการกระทำซ้ำซาก จนทำให้เจ้าหน้าที่เกิดแรงกดดันให้ต้องเข้มงวด โดยเฉพาะหลังจากเกิดกรณี “ป่วนขบวนเสด็จ” ดังกล่าว
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้ออกคำสั่งด่วนที่สุดแจ้งพฤติการณ์ของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กรณีขวางขบวนเสด็จ ในคำสั่งดังกล่าวระบุว่า
โดยพฤติการณ์ดังกล่าวอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงที่สามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างได้ ดังนั้นให้ บช.น. ดำเนินการดังนี้
1.กำกับ ติดตามและเร่งรัดดำเนินการในทุกข้อหาความผิด รวมทั้งให้พิจารณาพฤติการณ์ก่อนการกระทำผิด ขณะกระทำผิดและหลังจากกระทำความผิด ว่ามีการยุยงปลุกปั่นด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนและให้ผู้อื่นล่วงละเมิดกฎหมาย ที่จะเข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ด้วยหรือไม่
2. กำหนดแนวทางในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้งและแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักรความสงบของสังคมเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก
สำหรับมาตรา 116 ในประมวลกฎหมายอาญา หมวดความมั่นคง บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
1.เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย 2. เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ 3. เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
นี่ว่ากันเฉพาะกรณีของ “ตะวัน” กับพวก ซึ่งกำลังถูกดำเนินคดีตามมาเป็นพรวน แน่นอนว่าในช่วงแรกๆ อาจมีความมั่นใจ และคึกคะนอง สำคัญตัวเองว่ากำลังต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ มีความเร่าร้อน แต่ในวันข้างหน้าเมื่อต้องถูกดำเนินคดี ถูกฟ้องเป็นจำเลยหลายคดี มันก็ย่อมเกิดความเครียด และที่สำคัญสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้นมันไม่ใช่เป็นการเรียกร้องของคนส่วนใหญ่ ที่สังเกตได้ก็คือเวลานี้มีแต่คน “ชิ่งหนี” ไม่กล้าแสดงความเห็นใจออกมาในทางเปิดเผย เพราะเกรงจะส่งผลกระทบในทางลบกับพวกเขาไปด้วย
สำหรับในส่วนของพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ที่กำลังเคลื่อนไหวหาเหตุผลเพื่อให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด มาตรา 112 รวมไปด้วย โดยอ้างความปรองดอง ปลดปล่อยความผิดสำหรับคนเห็นต่าง และอ้างว่าเป็นคดีทางการเมือง ต้องให้อภัย เป็นต้น แต่หากมองอีกมุมหนึ่งนอกเหนือจากต้องการรักษามวลชน รักษาแนวร่วมแล้ว ต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกล มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดดังกล่าวหลายคน เป็นทั้งผู้บริหารพรรค และ ส.ส.ของพรรค เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาก็มีแรงต้านจากการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ให้ครอบคลุมความผิด มาตรา 112 หลายพรรคการเมือง แทบจะไม่มีใครสนับสนุน ทำให้เชื่อว่าโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก แต่เมื่อเกิดกรณี “ป่วนขบวนเสด็จ” ของ “ตะวัน” กับพวก มันก็ยิ่งทำให้ความเป็นไปได้แทบเป็นศูนย์ หรือเป็นไปไม่ได้เลย รวมไปถึงจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วิจิฉัยชัดเจน เป็นมติเอกฉันท์ไม่ให้แก้ไข หรือยกเลิก มาตรา 112 ซึ่งการเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลที่ผ่านมา จากการเสนอแก้ไข และยังนำไปเป็นนโยบายพรรคและใช้หาเสียง จนถูกสั่งห้าม และนำไปสู่การร้องเรียนให้ยุบพรรค และตัดสิทธิ์การเมืองตามมาอีก ทำให้เกิดภาพลักษณ์ “พรรคล้มเจ้า” ถูกมองได้ชัดเจนขึ้น
ดังนั้น หากพิจารณาจากปรากฏการณ์จากสังคมที่เกิดขึ้นหลังกรณี “ป่วนขบวนเสด็จ” ที่น้อยครั้งที่จะเกิดขึ้นแบบนี้ เพราะเป็นการรวมพลังที่นานมากแล้วจะได้เห็นแบบนี้ จนกลายเป็นพลังสร้างแรงกดดันกับกลุ่มที่เคลื่อนไหว “ล้มเจ้า” และเชื่อว่ายังส่งผลกระทบในทางลบกับพรรคการเมืองบางพรรค รวมไปถึงกระทบต่อความพยายามที่จะเสนอนิรโทษกรรมความผิด มาตรา 112 ซึ่งก่อนหน้านี้แทบเป็นไปไม่ได้ ยิ่งเมื่อเจอกับแรงบวกที่ว่านี้ทุกอย่างมันก็ “เป็นศูนย์” เลยทีเดียว !!